ยุติธรรมเดินหน้าแก้กฎกระทรวง เล็งให้ผู้ต้องหาคดีไม่ถึงที่สุดอยู่บ้านแทนเรือนจำ สวมกำไลEM แก้ปัญหาคุกแน่น มีโอกาสหาทนายแก้ต่าง
วันที่ 28 พ.ค. 67 ที่ทำเนียบรัฐบาล พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม กล่าวถึงกรณีที่มีการเรียกร้องจากหลายกลุ่มที่เคลื่อนไหวทางการเมืองแนวทางการแก้ไขกฎหมายให้ผู้ต้องหาที่ยังไม่ได้มีการพิพากษาเด็ดขาดไม่ต้องถูกจำขัง เพื่อแก้ไขปัญหาเรือนจำแออัดว่า
ขณะนี้กระทรวงยุติธรรมก็มีการพิจารณาว่าส่วนไหนการปฏิบัติยังขัดอยู่กับกฎหมาย ซึ่งเรื่องใหญ่ที่อยากจะแก้ คือคดีที่ยังไม่ได้รับการพิจารณา ศาลยังไม่ตัดสิน ยังไม่ถึงที่สุด หรือตัดสินเด็ดขาด ต้องปฏิบัติไม่เหมือนกัน ต้องมีการแยกดูแลในเรือนจำ
ขณะนี้สภาพเรือนจำของประเทศไทยมีความแออัดมาก ขนาดของเรือนจำควรจะบรรจุคนได้ 180,000 คน แต่ขณะนี้มีอยู่ 280,000 คน และมีผู้ต้องหาที่อยู่ ระหว่างการพิจารณาคดี 50,000 กว่าคน ซึ่งดูเหมือนว่าจะเป็นการปฏิบัติขัดต่อรัฐธรรมนูญ เนื่องจากกำหนดให้ปฏิบัติต่างกัน โดยกระทรวงยุติธรรมอยู่ระหว่างดำเนินการแก้ไขกฎกระทรวง มาตรา 89/1 อยากให้ศาลเป็นผู้ไต่สวนว่าคดีในระหว่างการพิจารณา อาจจะไม่ต้องส่งตัวมาที่เรือนจำ อาจจะให้อยู่ที่บ้านและใส่กำไล EM
ขณะที่ปัจจุบันพยายามจะแยกเรือนจำ ระหว่างผู้ต้องขังที่ศาลตัดสิน และผู้ที่คดียังไม่สิ้นสุด เพราะอย่างน้อยคดีที่อยู่ระหว่างการพิจารณาระหว่างไปศาลควรจะให้แต่งกายธรรมดา ไม่เช่นนั้นจะเป็นมุมมองว่าคนที่ได้ประกันตัวไปใส่สูทในคดีเดียวกัน แต่อีกคนไม่ได้ประกันตัวต้องใส่ชุดลูกวัว จะดูแตกต่าง และที่สำคัญเมื่อแยกผู้ต้องหาแล้วจะทำให้ มีโอกาสเตรียมต่อสู้คดี ถ้าอยู่ข้างนอกจะได้เปรียบสามารถหาทนายได้ ซึ่งกระทรวงยุติธรรมพยายามจะแก้ไข โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการทยอยดำเนินการ ซึ่งปีนี้อยากจะทำให้แล้วเสร็จทั่วประเทศ
ขณะเดียวกัน พ.ต.อ.ทวี ยังกล่าวถึงการดูแลผู้ต้องขัง หลังกรณี น.ส.เนติพร หรือ บุ้ง ทะลุวัง เสียชีวิตขณะคุมขังว่า การเสียชีวิตในเรือนจำมีมาก เรื่องการเจ็บป่วย เราไม่อยากให้เกิดขึ้นอยู่แล้ว โดยเฉพาะคดีที่ยังไม่ได้รับการตัดสิน หลักการควรได้รับการประกันตัว
Advertisement