ศิริกัญญา ทำนาย ดิจิทัล วอลเล็ต จากพายุหมุนทางเศรษฐกิจ กลายเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำ ไม่แปลกใจ แบ่งจ่ายสองงวด
วันที่ 10 ก.ย. 67 ที่รัฐสภา น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชนให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่นาย ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์ว่า โครงการ เติมเงิน 10,000 บาทผ่าน ดิจิทัล วอลเล็ต จะถูกแบ่งจ่ายเป็นสองรอบว่า
ตนคาดหวังว่าสิ่งที่นายภูมิธรรมพูดจะไม่ใช่เรื่องจริง เพราะยังรอคอยความชัดเจนจากผู้ที่มีอำนาจโดยตรง หากเฟส 2 ที่แจกอีก 30 ล้านคนแบ่งจ่าย 2 งวด อาจทำให้โครงการไม่เป็นไปตามที่เคยหาเสียงไว้
ส่วนการแบ่งจ่ายนั้น เป็นเรื่องที่ไม่น่าแปลกใจ จนงบประมาณปี 68 ผ่านทั้งสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภาไปแล้ว รัฐบาลยังไม่สามารถหาแหล่งที่มางบประมาณที่จะแจกประชาชน 30 ล้านคนได้ เท่าที่มีอยู่ตอนนี้ 187,700 ล้านบาท เพียงพอแจกเพียง 19 ล้านคน ยังเป็นปัญหาที่เราจะสอบถามรัฐบาลว่าทำไงต่อ แต่ก็ตรงกับที่นายภูมิธรรมออกมาพูดพอดีว่าจะมีการแบ่งจ่าย2 งวดซึ่งเป็นไปตามคาดการณ์ว่าเม็ดเงินไม่พอ จึงต้องมีการแบ่งจ่าย
แต่ก็ยังมีเงื่อนไขอีกว่า ระบบการชำระเงินจะเสร็จทันหรือไม่ ปัญหาคือ 5,000 บาทแรกที่จ่ายจะเป็นเงินสด หรือกลไลอื่นที่ไม่ใช่ ดิจิทัล วอลเล็ต เราจะเรียกโครงการนี้ว่าโครงการ ดิจิทัล วอลเล็ต ด้อีกหรือไม่ ส่วนอีก 5,000 งวดที่ 2 จะแจกเมื่อไหร่ เมื่องบประมาณปี 2568 ไม่น่าเพียงพอ อาจมีความจำเป็นที่จะต้องเลื่อนไปจ่าย ในปีงบประมาณ 2569 หรืออีก 1 ปีต่อจากนี้ เรื่องเหล่านี้ยิ่งออกมาพูด ยิ่งสร้างความไม่ชัดเจน ทำให้ประชาชนเกิดความสับสน ความกังวลมากขึ้นว่าตกลงจะได้เงินหรือไม่
น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า สิ่งที่น่ากังวลไม่แพ้กันคือ ผลกระทบทางเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้น จากเดิมที่จะเป็นพายุหมุนกระแทกๆ ตอนนี้พายุได้ลดกำลังลงเหลือเพียงแค่หย่อมความกดอากาศต่ำ ซึ่งอาจไม่เกิดเท่าที่เคยโฆษณาเอาไว้ แล้วจะมีมาตรการใดเข้ามาเสริม ที่ทำให้เศรษฐกิจโตได้ตามเป้าหมาย
เมื่อถามว่า ความไม่แน่นอนของโครงการจะส่งผลกระทบอย่างไรบ้าง น.ส. ศิริกัญญา กล่าวว่า แน่นอนว่าความไม่แน่นอน ไม่ชัดเจน เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา สับขาหลอก ชักเข้าชักออกตลอดเวลา ทำให้ความเชื่อมั่นของประชาชนลดลง เราเพิ่งมีข่าวดีเรื่องหุ้นที่ถีบตัวสูงขึ้น แต่ประชาชนรากหญ้าที่รอคอยความหวังจากสัญญาที่ให้ไว้ตอนเลือกตั้ง ว่าจะมีเงินหมื่นเข้ากระเป๋าให้เร็วที่สุด อีกทั้งค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท เงินเดือนจบปริญญาตรี 25,000 บาท คำสัญญาเหล่านั้นค่อยๆจางหายไป สิ่งเหล่านี้สร้างผลกระทบต่อความเชื่อมั่นรัฐบาล เมื่อประชาขนไม่เชื่อแล้ว จะส่งผลกระทบต่อความกล้าในการจับจ่ายใช้สอย รวมถึงการลงทุน
น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า รายละเอียดที่นายภูมิธรรมระบุ ไม่มีเขียนไว้ในคำแถลงนโยบาย มีแต่เพียงบอกว่าจะดำเนินโครงการ ดิจิทัล วอลเล็ต เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลให้กับประชาชน ความต่างคือคำว่า 10,000 บาทหายไป คงต้องมีการพูดเรื่องนี้ในสภา รีบบอกมาว่าจะยังจ่าย 10,000 บาทอยู่ อย่าทำให้ประชาชนใจเสีย ซึ่งความชัดเจนค่อยๆ ปรากฎขึ้น เมื่อนายภูมิธรรมออกมายอมรับว่าอาจจะแบ่งจ่าย ครั้งละ 5,000 บาท เราต้องมาประเมินใหม่ทั้งหมดว่าโครงการนี้จะเดินหน้ารูปแบบใด แหล่งที่มาของเงินจะหาได้ครบเมื่อไหร่ รวมไปถึงผลกระทบต่อเศรษฐกิจจะกระตุ้นได้มากน้อยแค่ไหน ต้องมาพูดคุยกันใหม่หมด
เมื่อถามว่า การเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา จะทำให้เกิดการรั่วไหลของเงินและการทุจริตหรือไม่ น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า ความสับสนกลับไปกลับมา ไม่ได้มาจากเจตนาที่ต้องการให้เกิดการคอร์รัปชัน แต่การที่ไม่คิดอย่างรอบคอบไปจนจบ ก็อาจจะทำให้เกิดช่องโหว่กับตัวระบบได้ เป็นเรื่องของความกังวล ท้ายที่สุดระบบการชำระเงินถูกเร่งรัดให้เกิดขึ้น อาจจะถูกโจมตีได้จากผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญทางด้านดิจิทัล
ส่วนความเสี่ยงทางด้านกฎหมาย น่าจะค่อยๆ คลายไปทีละเปราะแล้ว ยังเหลืออยู่เพียงไม่กี่เรื่อง และไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตาย แต่ความเสี่ยงที่เหลืออยู่คือการที่ทำโครงการนี้ไม่สำเร็จไปตลอดรอดฝั่ง
เราเองคัดค้านมาโดยตลอดว่าไม่เห็นด้วยกับรูปแบบนี้ แต่ตอนนี้มาถึงจุดที่ลงทุนลงแรง ทั้งทรัพยากรและงบประมาณต่างๆ ที่ถูกออกแบบสำหรับที่จะใช้โครงการนี้ค่อนข้างมากแล้ว เรียกได้ว่าอยู่ในจุดที่ “กลับตัวก็ไม่ได้ ให้เดินต่อไปก็คงไม่ถึง” ใจจริงยังช่วยคิดอยู่ว่ามีทางออกอะไรได้อีก สำหรับโครงการนี้ที่สามารถเดินหน้าต่อได้โดยไม่ผิดกฎหมาย และไม่ผิดสัญญาประชาชนในเวลาเดียวกัน หากโครงการนี้ไปไม่ตลอดรอดฝั่งแล้ว ก็เป็นเรื่องของรัฐบาลที่จะทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น หากไม่มีโครงการนี้ก็จะต้องเรียกร้องให้รัฐบาลสร้างมาตรการอื่นออกมา เพื่อช่วยเหลือประชาชนในระยะสั้น และกระตุ้นเศรษฐกิจให้กลับมาดีกว่าเดิม
Advertisement