วันที่ 16 พฤศจิกายน 2567 เวลา 09.00 น. ตามเวลาท้องถิ่นของกรุงลิมา ซึ่งช้ากว่าไทย 12 ชั่วโมง ณ ลิมา คอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ สาธารณรัฐเปรู นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เข้าร่วมการประชุม APEC Economic Leaders’ Retreat โดยมี นางดินา เอร์ซิเลีย โบลัวร์เต เซการ์รา ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐเปรู เป็นประธาน
พร้อมเปิดเผยภายหลังการประชุมนัดสุดท้ายก่อนพิธีปิดการประชุมเอเปค ครั้งที่ 31 อย่างเป็นทางการ ว่า ขอบคุณประธานาธิบดีเปรูและประชาชนชาวเปรูในการต้อนรับอย่างอบอุ่นตลอดการเดินทางมากรุงลิมา อีกทั้ง ขอขอบคุณในงานเลี้ยงอาหารค่ำต่อผู้นำเอเปคเมื่อคืนที่ผ่านมา ที่เจ้าภาพเปรูได้เลี้ยงรับรองด้วยอาหารที่ผสมผสานกับวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ของเปรูออกมาได้อย่างยอดเยี่ยม และขอขอบคุณกรรมการผู้จัดการของกองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือ IMF ที่นำเสนอข้อมูลเชิงลึกให้กับสมาชิกเอเปคทราบถึงแนวโน้มเศรษฐกิจในปัจจุบัน
โดยย้ำว่า “ โลกกำลังเผชิญกับความไม่แน่นอนเพิ่มมากขึ้น ประเทศไทยในฐานะผู้ส่งเสริมสันติภาพและความมั่งคั่งร่วมกัน เชื่อว่าเอเปค เป็นเวทีที่สำคัญในการสร้างการมีส่วนร่วมเพื่อปลดล็อกศักยภาพทางเศรษฐกิจที่มีอย่างมากระหว่างสมาชิกเอเปคด้วยกัน และมั่นใจว่าด้วยการทำงานร่วมกันของสมาชิกจะสามารถสร้างเวทีการแข่งขันที่เท่าเทียมกันและมีปัจจัยใหม่ๆในการส่งเสริมการค้าและการลงทุนที่จะเป็นประโยชน์กับประชาชนทุกประเทศ โดยมีประชาชนและโลกเป็นศูนย์กลางที่จะได้รับประโยชน์ร่วมกัน”
ก่อนกล่าวถึงแนวคิดในการสร้างความร่วมมือและก้าวไปสู่เป้าหมายนี้ร่วมกันของประเทศสมาชิกเอเปค ว่า 1.เราจะ “สร้างโอกาสสำหรับทุกคน ” โดยสมาชิกเอเปคจะทำงานร่วมกันโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังเพื่อบริหารจัดการกับเศรษฐกิจ“ในระบบ”ที่สมาชิกสามารถตกลงร่วมกันได้ ขณะเดียวกันประเทศไทยก็เข้าใจถึงความท้าทายในการบริหารการ“ทำงานนอกระบบ ”เนื่องจากในประเทศไทยยังพบว่ายังมีแรงงานและธุรกิจขนาดเล็กมากกว่าครึ่งยังอยู่ในการทำงาน “นอกระบบ ”
รัฐบาลไทยจึงได้ดำเนินการแก้ใขเพื่อสนับสนุนให้เกิดการทำงาน “ในระบบ” ให้เติบโตในทุกมิติ ด้วยการนำเทคโนโลยีดิจิทัล นวัตกรรม รวมถึง AI มาใช้เป็นกลไกสำคัญของไทย ไม่ว่าจะเป็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ผ่านระบบการเงินดิจิทัลให้กลุ่มเปราะบางของไทยให้มีโอกาศทัดเทียมกันในการดำรงชีวิต โดยมีเป้าหมายในการขจัดความยากจน นอกจากนี้ ประเทศไทยกำลังพิจารณานำ “Negative Income Tax” ซึ่งเป็นระบบฐานข้อมูลที่จะช่วยให้คนที่อยู่ในประเทศไทย ทั้งที่เสียภาษีและไม่ถึงเกณฑ์ต้องเสียภาษี มาอยู่ในระบบฐานข้อมูลเพื่อจะจัดสรรประโยชน์จากรัฐที่เป็นธรรมมากที่สุด
สำหรับความร่วมมือของสมาชิกเอเปค นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ควรเพิ่มความเชื่อมโยงทางกายภาพและโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลในภูมิภาค เพราะนอกจากจะส่งเสริมการค้าและการลงทุนระหว่างกันแล้ว ยังสามารถส่งเสริมการติดต่อสื่อสารระหว่างประชาชนด้วยกันได้โดยง่าย โดยเฉพาะกลุ่ม “Digital Nomad”หรือกลุ่มคนที่มีธุรกิจค้าขายผ่านออนไลน์ นอกจากนี้ เอเปค ควรจัดทำสิทธิพิเศษเป็นบัตรเดินทางสำหรับนักธุรกิจเอเปค APEC Business Travel Card (ABTC) ในประเทศสมาชิกเพื่อสนับสนุนให้เกิดการเดินทางค้าขายระหว่างกันมากขึ้นอีกด้วย ”
2.ประเทศไทยมีแนวคิดส่งเสริมการบูรณาการทางเศรษฐกิจในภูมิภาค โดยมีเป้าหมายที่จะทำให้เขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก (FTAAP) เป็นรูปธรรม เพื่อส่งเสริมความยั่งยืนทางการค้า ดังนั้นการเตรียมพร้อมสำหรับ FTAAP จะเสริมสร้างขีดความสามารถในประเทศสมาชิกได้ โดยจะส่งเสริมการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย รวมถึง MSMEs และกลุ่มบุคคลทุกเพศทุกวัย ขณะเดียวกันประเทศไทยเชื่อว่าการสร้างสิ่งใหม่ๆและพัฒนาในโลกการเงินที่เรียกว่า “สร้างสถาปัตยกรรมทางการเงิน” ที่สมดุลและยืดหยุ่นมากขึ้นจะช่วยให้เศรษฐกิจได้รับการปกป้อง มีเสถียรภาพ ตลอดจนเพิ่มโอกาสทางการค้าและการลงทุนได้อีกด้วย
3.เอเปคต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วนในการเข้าสู่เศรษฐกิจสีเขียวตามเป้าหมายที่เคยประชุมร่วมกันที่กรุงเทพฯ หรือ “ BCG ” ซึ่งประเทศไทยตั้งเป้าหมายที่ชัดเจนในการเพิ่มสัดส่วนพลังงานสะอาดและพลังงานหมุนเวียน โดยวางแผนการเพิ่มพลังงานสะอาด 20 กิกะวัตต์ภายใน 20 ปีข้างหน้า เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ภายในปี 2065 โอกาสนี้ ประเทศไทยจึงขอให้เอเปคเป็นผู้นำในการกำหนดเป้าหมายที่สำคัญในการเปลี่ยน ไปสู่ BCG รวมทั้งสนับสนุนให้มีการหารือเกี่ยวกับการพัฒนาตลาดและการค้าเครดิตคาร์บอนร่วมกัน ซึ่งไทยเชื่อมั่นว่าเอเปคสามารถเป็นผู้นำในการ "สร้างอนาคตที่ยั่งยืน" ร่วมกันได้
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรี ยังกล่าวทิ้งท้ายด้วยว่า “แม้จะยังมีสิ่งที่ต้องทำอีกมากในเอเปค แต่เชื่อว่าการประชุมในครั้งนี้จะทำให้เอเปคใกล้บรรลุผล ในการทำงานร่วมกันและใกล้ชิดประชาชนทุกประเทศมากขึ้น และขอแสดงความยินดีกับเปรู ในความสำเร็จในการจัดการประชุมและประเทศไทยจะเฝ้ารอความคืบหน้าต่างๆในการประชุม อีกครั้งในโอกาสที่ประเทศเกาหลีใต้จะเป็นเจ้าภาพประชุม ในครั้งต่อไป“
ทั้งนี้ สำหรับการประชุมเอเปค 2024 ที่ประชุมได้รับรองเอกสารผลลัพธ์ 3 ฉบับ ได้แก่ (1) ปฏิญญาผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค (2) ถ้อยแถลงอิชมา ว่าด้วยมุมมองใหม่ในการขับเคลื่อนเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก และ (3) แผนงานลิมา เพื่อส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจในระบบและเศรษฐกิจโลกของเอเปค ซึ่งถือว่า เป็นการเสร็จสิ้นการประชุมอย่างเป็นทางการ
Advertisement