จากกรณีที่นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในสมัยรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งถูกจำคุกในคดีร่วมกันทุจริตโครงการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) หรือที่รู้จักกันในชื่อ “โครงการรับจำนำข้าว” เมื่อปี 2558 โดยศาลได้ตัดสินจำคุก 48 ปี แต่หลังติดคุกไปราว 7 ปี กลับได้รับการพักโทษและปล่อยตัวชั่วคราวจากทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ เมื่อวันที่ 2 ธันวาคมที่ผ่านมา
นอกจากนี้ ยังพบว่า มีผู้ต้องขังในคดีเดียวกันนี้ถูกปล่อยตัวอีกหลายราย ทั้ง นายภูมิ สาระผล อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่ศาลตัดสินจำคุก 36 ปี แต่หลังจำคุกไปราว 7 ปี ได้รับการพักโทษและปล่อยตัว ตั้งแต่เดือนกันยายนที่ผ่านมา รวมถึงนายอภิชาติ จันทร์สกุลพร หรือ “เสี่ยเปี๋ยง” นักธุรกิจค้าข้าวรายใหญ่ ที่ศาลตัดสินจำคุก 48 ปี แต่หลังจำคุกไปราว 7 ปี ได้รับการพักโทษและปล่อยตัว ตั้งแต่เดือนตุลาคมที่ผ่านมา ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมเป็นวงกว้าง รวมถึงมีการตั้งข้อสังเกตว่า นี่อาจจะเป็นการปูทางให้นางสาวยิ่งลักษณ์ ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ต้องหาคดีรับจำนำข้าว ได้เดินทางกลับไทย หลังหลบหนีไปต่างประเทศนาน 7 ปี
ล่าสุด นายสมบูรณ์ ม่วงกล่ำ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม พร้อมทีมผู้บริหารกรมราชทัณฑ์ ได้ร่วมกันแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน โดยมีนายวัชระ เพชรทอง อดีต สส.พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งได้ยื่นร้องเรียนให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ออกมาชี้แจงข้อเท็จจริงด้วยตัวเองแทนการออกเอกสาร ได้เดินทางมาร่วมฟังการแถลงข่าวครั้งนี้ด้วย
ที่ปรึกษา รมว.ยุติธรรม กล่าวว่า หลักการบริหารโทษของกรมราชทัณฑ์หลังจากที่ศาลได้พิพากษาแล้วนั้น ไม่ได้อยู่เหนืออำนาจกฎหมาย หรืออยู่เหนืออำนาจศาล แต่ทุกอย่างดำเนินการตามระเบียบขั้นตอนที่กำหนดไว้อย่างชัดเจน ซึ่งการพักโทษมี 2 กรณี คือ พักโทษกรณีปกติ และพักโทษกรณีพิเศษ รวมเฉลี่ยแต่ละปีมีการพักโทษให้ผู้ต้องขังมากกว่า 20,000 ราย แต่ไม่ได้เปิดเผยต่อสาธารณะ เนื่องจากจะขัดต่อหลักศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ แต่ในกรณีบุคลที่มีชื่อเสียงนั้น ทางสื่อมวลชนได้มีการนำเสนอข่าว ทำให้การพักโทษของบุคคลที่มีชื่อเสียงปรากฏต่อสาธารณะ
ที่ปรึกษา รมว.ยุติธรรม ยังบอกอีกว่า การพักโทษนั้น ไม่ใช่การพ้นโทษ ผู้ได้รับการพักโทษยังคงอยู่ระหว่างการต้องโทษ แต่กฎหมายต้องการให้ผู้ถูกคุมขังมีโอกาสใช้ชีวิต เพื่อปรับตัวเข้าสู่ในสังคม โดยมีคณะกรรมการเป็นผู้พิจารณา รวมถึงกำหนดเงื่อนไขต่าง ๆ ในการพักโทษ เช่น ต้องมารายงานตัวต่อกรมควบคุมประพฤติ เป็นต้น แต่หากผู้ได้รับการพักโทษไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไข ก็จะต้องกลับสู่สถานที่คุมขัง ซึ่งในแต่ละปีมีผู้ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไข จนต้องกลับสู่สถานที่คุมขังเฉลี่ย 5%
โดยในส่วนของนายบุญทรงนั้น ได้รับการพักโทษกรณีปกติ หลังได้รับการอภัยโทษรวม 4 ครั้ง ซึ่งครั้งสุดท้ายเหลือโทษจำคุก 10 ปี 8 เดือน แต่นายบุญทรง ได้จำคุกมาแล้วเป็นเวลา 7 ปี 3 เดือน 10 วัน หรือรับโทษมาแล้ว 2 ใน 3 ทำให้เข้าเกณฑ์ได้รับการพักโทษ
ที่ปรึกษา รมว.ยุติธรรม บอกอีกว่า การได้รับอภัยโทษนั้น ไม่ใช่อำนาจของกรมราชทัณฑ์หรือกระทรวงยุติธรรม เป็นพระราชอำนาจเฉพาะ โดยนักโทษสามารถยื่นคำร้องขอพระราขทานอภัยโทษผ่านรัฐมนตนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมได้ตามขั้นตอน ก่อนจะนำเสนอนายกรัฐมนตรี เพื่อให้ทูลเกล้าฯ ซึ่งเป็นพระราชอำนาจเฉพาะที่ไม่อาจก้าวล่วงได้
ส่วนกรณีที่มีการตั้งข้อสังเกตว่า ผู้ต้องหาคดีรับจำนำข้าวได้รับการปล่อยตัวออกจากเรือนจำในสมัยรัฐบาลเพื่อไทยนั้น ที่ปรึกษา รมว. ยุติธรรม บอกว่า เป็นเรื่องช่วงเวลาที่เข้าเงื่อนไขการพักโทษพอดี ไม่ใช่เป็นเพราะรัฐบาลชุดนี้ อย่างกรณี ของนายบุญทรงที่รับโทษมาแล้ว 2 ใน 3 ก็มาครบในสมัยรัฐบาลนี้พอดี
ด้านนายสมบูรณ์ ศิลา ผู้บัญชาการเรือนจำกลางคลองเปรม บอกว่า ในส่วนกรณีของเสี่ยเปี๋ยงนั้น จัดเป็นผู้ป่วยกลุ่ม 608 หรือมีอาการเจ็บป่วย 8 โรคร้ายแรง ได้แก่ โรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย โรคความดันโลหิตสูง โรคหยุดหายใจขณะนอนหลับชนิดรุนแรง โรคต่อมลูกหมากโต โรคดูกสันหลังทับเส้นประสาท โรคฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำ โรคเบาหวาน และโรคหลอดเลือดสมองตีบ ซึ่งแพทย์วินิจฉัยว่า โรคเหล่านี้ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อและเสียชีวิตสูง ซึ่งเข้าเกณฑ์ได้รับพักโทษเป็นกรณีพิเศษ อีกทั้งยังรับโทษมาแล้ว 1 ใน 3 หลังได้รับอภัยโทษมา 4 ครั้ง เหลือโทษ 21 ปี 11 เดือน 38 วัน จึงมีการนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของอนุกรรมการเรือนจำ ซึ่งที่ประชุมมีมติ 8 ต่อ 0 เห็นว่า เสี่ยเปี๋ยง ควรได้รับการพักโทษเป็นกรณีพิเศษจากการเจ็บป่วยร้ายแรง โดยเฉพาะโรคไตวายเรื้อรังเป็นระยะสุดท้าย ที่เสี่ยเปี๋ยง มีอาการผิดปกติมาตั้งแต่ปี 2565 จนแพทย์โรงพยาบาลราชทัณฑ์ มีความเห็นว่าควรย้ายเสี่ยเปี๋ยงไปรักษาในโรงพยาบาลที่มีศักยภาพมากกว่า นั้นคือ โรงพยาบาลรามาธิบดี แต่เสี่ยเปี๋ยงยั งมีอาการติดเชื้อเป็นระยะ จนแพทย์โรงพยาบาลรามาธิบดีเห็นว่าเสี่ยเปี๋ยงควรได้รับการปลูกถ่ายไต ซึ่งเข้าเกณฑ์การพักโทษชัดเจน ก่อนจะส่งต่อให้คณะอนุกรรมการของกรมราชทัณฑ์ ซึ่งมีทั้งหมด 19 คน เป็นบุคคลทั้งจากกรมราชทัณฑ์ ตำรวจ ศาล และกรมควบคุมความประพฤติ เป็นผู้พิจารณาต่อไป
ทั้งนี้ การพิจารณาให้ผู้ต้องขังได้รับการพักโทษเป็นกรณีพิเศษในชุดของเสี่ยเปี๋ยง มีผู้ต้องขังอีก 2 รายที่เข้าสู่การพิจารณาเช่นกัน คือ เป็นโรคมะเร็ง 1 ราย และตาบอด 1 ราย แต่คณะอนุกรามการของกรมราชทัณฑ์ เห็นชอบให้พักโทษเฉพาะโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย กับโรคมะเร็งเท่านั้น เพราะผู้ต้องขังที่ตาบอดกระทำผิดที่ขัดต่อศีลธรรมของสังคม ซึ่งนี่สะท้อนให้เห็นถึงอิสระของคณะกรรมการแต่ละชุด
ด้านนายแพทย์วัฒน์ชัย มิ่งบรรเจิดสุข ผู้อำนวยการทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ให้ข้อมูล ว่า ปัจจุบันโรงพยาบาลราชทัณฑ์มีผู้ป่วยที่ได้รับการฟอกไตอยู่ 120 ราย แต่เป็นผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง 15 ราย ซึ่งหากได้รับโทษครบ 1 ใน 3 ก็มีโอกาสได้รับการพิจารณาพักโทษเช่นกัน
ทั้งนี้ ช่วงท้ายของการแถลงข่าว นายวัชระ ได้ลุกขึ้นถามคำถามทีมผู้บริหารกรมราชทัณฑ์ ถึงกรณีการพักโทษนายบุญทรง และเสี่ยเปี๋ยง ซึ่งเป็นนักโทษคดีทุจริตสร้างความเสียหายให้แก่รัฐกว่า 9 แสนล้านบาท ได้ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่รัฐตามคำพิพากษาศาลแล้วหรือไม่ รวมถึงการตรวจสอบกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีที่ถูกจำคุก ก่อนจะที่เข้ารักษาอาการเจ็บป่วยที่ชั้น 14 ของโรงพยาบาลตำรวจนั้น ได้มีการส่งเอกสาร โดยเฉพาะเวชระเบียนให้แก่ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. ครบถ้วแล้วหรือไม่ ซึ่งทางที่ปรึกษา รมว. ยุติธรรม ได้ชี้แจงว่า การส่งมอบเวชระเบียนนั้น เป็นสิทธิ์ของคนไข้ที่จะให้หรือไม่ก็ได้ หากไม่ให้ก็ไม่มีใครมีสิทธิ์นำเวชระเบียบที่เป็นความลับในการรักษาไปมอบให้ ป.ป.ช. เพราะมีความผิดตามกฎหมาย พร้อมย้ำว่า กรมราชทัณฑ์ไม่สามารถส่งเวชระเบียนให้ ป.ป.ช. ได้ เพราะคนไข้ไม่อนุญาต และยืนยันว่า การดำเนินการพักโทษนั้น ดำเนินการอย่างถูกต้องตามระเบียบและกฎหมาย ไม่ได้ใช้ดุลยพินิจส่วนตัว
ส่วนการชดใช้ค่าเสียหายให้แก่รัฐนั้น ทางผู้บัญชาการเรือนจำคลองเปรม บอกว่า ได้มีการนำเสนอในคณะอนุกรรมการพักโทษให้พิจารณา แต่ชดใช้แล้วหรือไม่นั้น ไม่มีใครเห็นข้อมูล เพราะเป็นอำนาจหน้าที่ของ ป.ป.ง. ในการอายัดและยึดทรัพย์สินให้เป็นจองแผ่นดิน ซึ่งดำเนินการไปแล้วส่วนหนึ่ง แต่คงเหลืออีกเท่าไรนั้น ไม่ทราบ และขณะนี้ยังคงมีผู้ต้องขังในคดีจำนำข้าวอีด 2 รายที่เป็นข้าราชการระดับสูง และยังอยู่ระหว่างการได้รับโทษต้องขัง เนื่องจากต้องโทษจำคุกสูงและไม่ได้มีอาการเจ็บป่วย
Advertisement