วันที่ 11 มกราคม 2568 ที่อาคารอนาคตใหม่ พรรคประชาชนจัดกิจกรรมวันเด็ก “เมื่อทุกคนเลือกห้องเรียนเองได้” เน้นการให้ความสำคัญแก่เด็กหรือผู้เรียนในการร่วมออกแบบการเรียนรู้ โดยบรรยากาศที่อาคารอนาคตใหม่เป็นไปอย่างคึกคัก เด็ก ผู้ปกครอง และประชาชนเดินทางมาร่วมกิจกรรมตั้งแต่เช้า
สำหรับกิจกรรมแรกคือการแถลงข่าวสรุปร่าง พ.ร.บ. การศึกษา ฉบับพรรคประชาชน พร้อมเปิดตัว e-book โดยเปิดให้เด็กและประชาชนที่มาร่วมงานสามารถชมเบื้องหลังการแถลงข่าวได้ ผู้แถลงคือพริษฐ์ วัชรสินธุ โฆษกพรรคประชาชน และ ปารมี ไวจงเจริญ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน
พริษฐ์ กล่าวว่า ในวันเด็กทุกๆปี “คำขวัญวันเด็ก” เป็นสิ่งที่สังคมมักให้ความสนใจ แม้เป็นธรรมเนียมที่เราคุ้นชินกันมายาวนานกว่า 60 ปี ตนและพรรคประชาชนมองว่าในฐานะคนทำงานการเมือง สิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับเด็กและเยาวชนในประเทศเรา อาจไม่ใช่ “คำขวัญ” ที่เป็นการสรุปสิ่งที่ผู้ใหญ่ในสังคมคาดหวังจากพวกเขา แต่คือ “คำสัญญา” ว่าพวกเราจะทำให้อนาคตพวกเขาดีขึ้นได้อย่างไร
ย้อนไปเมื่อวันเด็กปีที่แล้ว (13 ม.ค. 2567) คำสัญญาหนึ่งที่เราได้แถลงต่อสาธารณะ คือการผลักดันร่าง พ.ร.บ. ไม่ตีเด็ก (นำโดย สส.ณัฐวุฒิ บัวประทุม และ สส.ภัสริน รามวงศ์) เพื่อทำให้บ้าน สถานศึกษา และทุกพื้นที่ในสังคม เป็นพื้นที่ปลอดภัยที่เด็กทุกคนสามารถเติบโตขึ้นมาได้โดยไม่ถูกลงโทษในลักษณะที่เป็นการใช้ความรุนแรงต่อร่างกายหรือจิตใจเด็ก ผ่านไปไม่ถึง 1 ปี ภูมิใจที่พรรคประชาชนและฝ่ายต่างๆ ในรัฐสภาร่วมกันผลักดันให้กฎหมายดังกล่าวผ่านความเห็นชอบของทั้งสองสภาได้โดยสำเร็จ
ด้านปารมีกล่าวเสริมว่า ในฐานะตัวแทนพรรคประชาชนและตัวแทน กมธ.ร่างกฎหมายไม่ตีเด็ก ต้องขอบคุณทุกฝ่ายที่ร่วมกันผลักดัน นี่เป็นหมุดหมายว่าต่อไปนี้ครอบครัวไทยจะเลี้ยงลูกเชิงบวก ยุติความรุนแรงในครอบครัวที่เคยสร้างบาดแผลในจิตใจ ทุกพื้นที่ในสังคมไทยต้องปลอดภัยสำหรับเด็กทุกคน
จากนั้นพริษฐ์กล่าวว่า ในวันเด็กปีนี้ (11 ม.ค. 2568) เราจึงใช้โอกาสเปิดตัวร่าง พ.ร.บ. การศึกษาของพรรคประชาชน ที่เราจะยื่นเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎร และหวังจะผลักดันร่วมกับพรรคการเมืองอื่นๆ เพื่อหวังให้สภาผู้แทนราษฎรอย่างน้อยได้ลงมติรับหลักการร่างดังกล่าว ก่อนจะถึงวันเด็กในปีหน้า
ตนเชื่อว่าพวกเราเห็นตรงกัน ว่าท่ามกลางปัญหาต่างๆของการศึกษาไทย ทั้งเรื่องคุณภาพ ความเหลื่อมล้ำ ความสุขผู้เรียน และภาระงานครู และความท้าทายใหม่ๆ ที่เข้ามา เราจะปล่อยให้การศึกษาไทยไปต่อแบบเดิมไม่ได้ แม้หลายปัญหาถูกแก้ไขได้โดยไม่ต้องรอการแก้ไขกฎหมาย แม้กฎหมายฉบับเดียวไม่สามารถแก้ปัญหาการศึกษาได้ทั้งหมด แต่การผลักดัน พ.ร.บ.การศึกษา ฉบับใหม่ จะเป็นกระดุมเม็ดแรกที่สำคัญ ในการสร้างบทสนทนาและวางรากฐานสำหรับระบบการศึกษาที่เราอยากเห็น
เพื่อพลิกโฉมการศึกษาและพาไทยเท่าทันโลก พวกเราพรรคประชาชนจึงขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนทุกคนมาร่วมกันผลักดัน พ.ร.บ. การศึกษา ฉบับพรรคประชาชน ที่เราหวังว่าจะตอบโจทย์ผู้เรียน และยึดประโยชน์และอนาคตของผู้เรียนอยู่ในทุกมาตรา หากทำสำเร็จ พวกเราจะมีระบบการศึกษาที่ตอบโจทย์ผู้เรียนในอย่างน้อย 5 ด้านสำคัญ
(1) สิทธิและสวัสดิการด้านการศึกษา ที่ตอบโจทย์ผู้เรียน- ผู้เรียน จะได้รับสิทธิและสวัสดิการขั้นพื้นฐาน ที่ครอบคลุมและถูกรับประกันอย่างรัดกุมกว่าที่เคยเป็นมา (เช่น เรียนฟรีจนอย่างน้อยจบการศึกษาขั้นพื้นฐาน ใช้บริการแหล่งเรียนรู้ของรัฐได้ฟรี การเรียนการสอนที่มีคุณภาพ อุปกรณ์การเรียนที่ครบถ้วน การส่งเสริมสุขภาพที่ดีทั้งกายและใจ สถานศึกษาที่เป็นพื้นที่ปลอดภัย สิ่งอำนวยความสะดวกด้านการเดินทาง)- ผู้ปกครองและผู้ดูแล จะได้รับสิทธิในการเข้าถึงแหล่งเรียนรู้และช่องทางพัฒนาทักษะในการส่งเสริมพัฒนาการและการเรียนรู้ของลูก รวมถึงข้อมูล สถิติ สารสนเทศ ที่จำเป็นหรือเป็นประโยชน์ต่อการร่วมวางแผน-ติดตามการเรียนรู้ของลูก.(2) บุคลากรทางการศึกษา ที่ตอบโจทย์ผู้เรียน- ครู จะมีเวลา-แรงจูงใจ-สมรรถนะ-สวัสดิภาพที่มั่นคง ในจัดการเรียนการสอนที่มีคุณภาพ (เช่น การกำหนดมาตรฐานเพื่อลดภาระงานครูที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเรียนการสอน ระบบการประเมินครูที่เชื่อมโยงกับผลสัมฤทธิ์ผู้เรียน การเข้าถึงการพัฒนาสมรรถนะของครูอย่างสม่ำเสมอโดยเน้นการใช้สถานศึกษาเป็นฐาน การมีส่วนร่วมของครูในการสรรหาและประเมินการทำงานหน้าที่ของผู้บริหาร)- บุคลากรทางการศึกษา จะมีครอบคลุมได้หลากหลายตำแหน่ง ซึ่งสอดคล้องกับความท้าทายในกาจัดการเรียนรู้ในยุคใหม่ (เช่น นักจิตวิทยา นักการภารโรง นักธุรการ นักการเงิน นักพัสดุ นักโภชนาการ นักเทคโนโลยีการศึกษา).(3) การเรียนการสอน ที่ตอบโจทย์ผู้เรียน- หลักสูตร จะมี 3 ระดับ (กรอบหลักสูตรระดับประเทศ กรอบหลักสูตรระดับพื้นที่ หลักสูตรสถานศึกษา) เพื่อให้มีความยืดหยุ่นในการรองรับความหลากหลายของผู้เรียน โดยจะมีการทบทวนกรอบหลักสูตรระดับชาติอย่างสม่ำเสมอทุกๆ 5 ปี เพื่อให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง- ระบบการประเมิน จะต้องมีความเชื่อมโยงกันทั้งระบบ มีการคำนึงถึงความความพึงพอใจของนักเรียน ผู้ปกครอง ผู้ปฏิบัติงานในสถานศึกษา และชุมชนรอบข้างสถานศึกษา ไม่สร้างภาระต่อครูและบุคลากรทางการศึกษาเกินความจำเป็น และไม่กระทบต่อกิจกรรมการเรียนรู้ของผู้เรียน- เทคโนโลยีด้านการศึกษา (เช่น แพลตฟอร์มการเรียนรู้ สื่อการเรียนการสอน เครื่องมือสำหรับครูและห้องเรียน) จะต้องได้รับการส่งเสริมทั้งด้านการผลิต การพัฒนา และการยกระดับทักษะบุคลากรในการใช้งาน โดยมีมาตรฐานการจัดเก็บ แลกเปลี่ยน และใช้ประโยชน์จากข้อมูลด้านการศึกษา อย่างเป็นระบบ
(4) สถานศึกษา ที่ตอบโจทย์ผู้เรียน- สถานศึกษา จะมีอิสระและอำนาจมากขึ้น ในการจัดการศึกษา (เช่น อำนาจด้าน “วิชาการ” ในการออกแบบหลักสูตรสถานศึกษาของตนเอง อำนาจด้าน “งบประมาณ” ในการได้รับเงินอุดหนุนแบบวงเงินรวม (block grant) ที่ไม่กำหนดวัตถุประสงค์ อำนาจด้าน “บุคลากร” ในการร่วมสรรหาและบรรจุบุคลากรของตนเอง)- คณะกรรมการสถานศึกษา จะทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ด้วยตัวแทนของภาคส่วนต่างๆที่หลากหลายขึ้น อำนาจหน้าที่ที่กว้างขวางขึ้น และการสนับสนุนที่เพิ่มขึ้นเรื่องค่าตอบแทน ทรัพยากร และองค์ความรู้- สถานศึกษาหลากหลายรูปแบบ จะได้รับการปลดล็อก โดยเฉพาะการศึกษานอกระบบโรงเรียน (เช่น บ้านเรียน ศูนย์การเรียน) ที่จะสามารถจัดได้สำหรับนักเรียนทุกประเภท โดยที่รัฐจะต้องคำนึงถึงความเสมอภาคในการอุดหนุนผู้เรียนในสถานศึกษาทุกสังกัดและทุกรูปแบบ
(5) กระทรวงศึกษาธิการ ที่ตอบโจทย์ผู้เรียน- โครงสร้างกระทรวง จะมีการออกแบบใหม่ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วยกระบวนการการที่ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วม ซึ่งจะเกิดขึ้นภายใน 2 ปี หลัง พ.ร.บ. การศึกษา บังคับใช้- โครงสร้างกระทรวง (ส่วนกลาง) จะมุ่งสู่การทำงานอย่างเป็นเอกภาพ & เน้นบทบาทในการกำหนดมาตรฐานสำหรับสถานศึกษา (regulator) มากกว่าการการดำเนินงานภายในสถานศึกษา (operator) (เช่น มาตรฐานทางวิชาการ เกณฑ์ในการบริหารงานบุคคล สูตรในการจัดสรรงบประมาณระหว่างสถานศึกษาที่เป็นธรรม)- โครงสร้างกระทรวง (ในพื้นที่) จะจะมุ่งสู่การทำงานอย่างไม่ซ้ำซ้อน & เน้นบทบาทเรื่องการอำนวยความสะดวกและสนับสนุนสถานศึกษา (facilitate) มากกว่าเรื่องการสั่งการและบังคับบัญชาสถานศึกษา (command & control)- องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จะเข้ามามีบทบาทได้มากขึ้นในภารกิจด้านการศึกษาและการเรียนรู้ รวมถึงได้รับการปลดล็อกให้สามารถสนับสนุนงบประมาณและทรัพยากรให้กับผู้เรียนหรือสถานศึกษาทุกสังกัดทุกแห่งในท้องถิ่นของตนเอง หรือเพื่อประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่นของตนเองได้.
พริษฐ์กล่าวว่า แม้ต่างพรรคการเมืองต่างมีร่าง พ.ร.บ. การศึกษา ของตนเอง ซึ่งอาจมีเนื้อหาทั้งส่วนที่เหมือนและแตกต่างกันออกไปบ้าง แต่เราหวังว่าการผลักดัน พ.ร.บ. การศึกษา ฉบับใหม่ จะเป็นภารกิจที่ทุกพรรคพร้อมทำงานและผลักดันร่วมกันต่อไปในสภาผู้แทนราษฎร เพื่อประโยชน์สูงสุดต่อชีวิตความเป็นอยู่และอนาคตของเด็กทุกคน
อ่านสรุปรายละเอียดของ ร่าง พ.ร.บ. การศึกษา ฉบับพรรคประชาชน ในรูปแบบ e-book ที่เราจัดทำขึ้นมาสำหรับวันเด็กปีนี้ ได้ที่: https://peoplesparty.or.th/future-education-2025/ .ร่างฉบับเต็มที่ยื่นเข้าสู่สภาฯ จะเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบความถูกต้องโดยสำนักงานฯ สภาผู้แทนราษฎร เมื่อตรวจสอบเรียบร้อยแล้ว (ไม่เกิน 1-2 สัปดาห์) ร่างจะถูกเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ของสภาผู้แทนราษฎร และผ่านเว็บไซต์ของพรรคประชาชน: https://promise.peoplesparty.or.th/
จากนั้นช่วงบ่ายยังมีวงเสวนาหัวข้อ “รีวิวห้องเรียนไทย Gen ไหนก็ทุกข์ทุกรุ่น” แลกเปลี่ยนประสบการณ์และมุมมองด้านการศึกษาผ่านคนในช่วงวัยที่แตกต่างกัน ร่วมพูดคุยโดย สุรวาท ทองบุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน, วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร รองหัวหน้าพรรคประชาชน, ศุภโชติ ไชยสัจ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน, ‘ชมพู’ บุญรักษา สาแสง ดำเนินรายการโดย กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ
นอกจากนี้วันเด็กพรรคประชาชนยังมีบูธกิจกรรมที่หลากหลายจาก สส. และเครือข่ายของพรรค จัดขึ้นเพื่อตอบโจทย์ความสนใจที่แตกต่างกันของเด็กแต่ละคน ไม่ว่าจะเป็น บูธมูลนิธิคณะก้าวหน้า มีกิจกรรมเช่น Book talk, Informal classroom ห้องเรียนที่ไม่เหมือนใคร, บูธ Human library พูดคุยแลกเปลี่ยนกับ สส. พรรคประชาชน, บูธ AI Buddy for help สร้างภาพ เคารพงานศิลป์, บูธก้าวใจ เปลี่ยนอารมณ์ให้เป็นเครื่องดื่ม Sol bar, บูธก้าวกรีน และ บูธยุวชนปฏิวัติ โดยทีมประกันสังคมก้าวหน้า
Advertisement