Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
“บอร์ดคดีพิเศษ”รับคดีมลพิษโรงงานแคดเมียม ฉะเชิงเทรา เป็นคดีพิเศษ

“บอร์ดคดีพิเศษ”รับคดีมลพิษโรงงานแคดเมียม ฉะเชิงเทรา เป็นคดีพิเศษ

13 ม.ค. 68
19:35 น.
|
97
แชร์

“ภูมิธรรม” เผย “บอร์ดคดีพิเศษ” รับคดีมลพิษของเสียจากโรงงานประกอบสารแคดเมียม ทิ้งลงแม่น้ำ จ.ฉะเชิงเทรา ไว้เป็นคดีพิเศษ

เมื่อเวลา 17.30 น. วันที่ 13 ม.ค. ที่ ห้องประชุม 10-01 ชั้น 10 อาคารกระทรวงยุติธรรม ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมของคณะกรรมการคดีพิเศษ ครั้งที่ 1/2568 นำโดย นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม และมีคณะกรรมการ ประกอบด้วย พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม รองประธานกรรมการ นางพงษ์สวาท นีละโยธิน ปลัดกระทรวงยุติธรรม พร้อมด้วยปลัดกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงพาณิชย์ อัยการสูงสุด ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เจ้ากรมพระธรรมนูญ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย นายกสภาทนายความ และผู้ทรงคุณวุฒิ ที่คณะรัฐมนตรีแต่งตั้งอีก 9 ราย ร่วมเป็นคณะกรรมการ และมี พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เป็นกรรมการและเลขานุการในการประชุม ซึ่งมีวาระการรายงานผลการดำเนินคดีสำคัญ และการพิจารณารับคดีอาญาอื่นเป็นคดีพิเศษ

โดย นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า วันนี้มีการประชุมคดีพิเศษ ซึ่ง ครม. ได้รับการเสนอแนะให้เป็นคดีพิเศษ และมีการแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิอีก 9 ราย ทดแทนคณะกรรมการที่หมดวาระ โดยในการประชุมได้มีการพูดถึงกรรมการต่าง ๆ ด้านเศรษฐศาสตร์ ด้านการเงินการธนาคาร ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ด้านกฎหมาย ด้านการสอบสวนคดีอาญา ด้านการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และด้านการปราบปรามผู้มีอิทธิพล รวม 9 ราย โดยวันนี้ได้มีการแจ้งรายงานความคืบหน้าในคดีที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้ดำเนินการไปก่อนหน้านี้

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้มีการพิจารณามีมติให้รับคดีความไว้เป็นคดีพิเศษ ในกรณีที่ประชาชนไม่สามารถใช้น้ำในอ่างเก็บน้ำแหลมเขา ต.เขาหินซ้อน อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา เนื่องจากมีการปรนเปื้อนของเสียอุตสาหกรรม โดยที่ประชุมมีมติให้รับเป็นคดีพิเศษ และมีข้อสังเกตให้คณะกรรมการที่มีความรู้ในเรื่องเกี่ยวกับมลพิษได้ร่วมสอบสวนด้วย เพื่อดำเนินการต่อไป

ทั้งนี้ที่ประชุมยังได้มีการติดตามความคืบหน้าในคดีที่อยู่ในความสนใจของประชาชนและสร้างความเสียหายกระทบต่อวงกว้างทางเศรษฐกิจระดับประเทศ ได้แก่ 1.คดีบริษัท ดิไอคอนกรุ๊ป จำกัด 2.คดีบริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (STARK) 3.คดีบริษัท มอร์ รีเทิร์น จำกัด (มหาชน) 4.กรณีการลักลอบนำเข้าสินค้าประเภทซากสัตว์โดยมิชอบด้วยกฎหมาย 5.กรณี บริษัท ป.พัฒนารุ่งโรจน์ก่อสร้าง จำกัด และบริษัท ป.รวีกนก ก่อสร้าง จำกัด ซึ่งเป็นของกำนันนกที่เป็นการร่วมกันเสนอราคาฮั้วประมูลโครงการของรัฐ ซึ่งคณะกรรมการคดีพิเศษ จะได้มีการประชุมกัน 2 เดือนครั้งเพื่อติดตามในคดีที่เราเป็นห่วง เพราะมันเป็นคดีที่ซับซ้อน ละเอียด และมีเรื่องที่ต้องพิจารณา ทำงานแข่งกับเวลา และบางทีไม่ได้ติดกับดีเอสไอ แต่มันก็มีที่ต้องเกี่ยวข้องกับงานด้านต่างประเทศ จึงต้องมีการประสานงานกัน ยืนยันว่าดีเอสไอทำงานเต็มที่

นายภูมิธรรม เผยว่า เรื่องที่คณะกรรมการได้มีมติให้ดีเอสไอรับเป็นคดีพิเศษ คือ เรื่องปัญหาการปล่อยน้ำเสียจากโรงงาน เนื่องจากได้รับเรื่องร้องเรียนโดยกรมมลพิษได้เป็นผู้รวบรวมความคิดเห็นต่าง ๆ และร้องเรียนมาว่าชาวบ้านในพื้นที่ดังกล่าวได้สะท้อนขึ้นมาว่ามีอาการผิดปกติตามร่างกายและคิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่เราควรดูแล และช่วยแก้ไขให้เขาไม่ต้องเผชิญปัญหานี้ ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่ามันมีเทคนิควิทยาในเรื่องความรู้ของการดูดซับน้ำในดิน จึงได้มีผู้เชี่ยวชาญเข้าไปตรวจสอบดูและพบว่ามีหลักฐานเพียงพอว่าน้ำเสียดังกล่าวน่าจะมีความเกี่ยวข้องกับบริษัทที่ปล่อยน้ำเสีย จึงอาจจะเกินเลยจากที่ตำรวจระดับท้องถิ่นจะพิจารณาเรื่องนี้ได้ จึงต้องเสนอให้รับเป็นคดีพิเศษ เราจึงรับไว้เพราะมันเป็นเรื่องซับซ้อน และต้องใช้ความเชี่ยวชาญ ทั้งนี้ บริษัทที่ถูกร้องว่าเป็นผู้ปล่อยน้ำเสีย คือ บริษัทที่ประกอบการเกี่ยวกับสารแคดเมียม ส่วนจะเป็นบริษัทเดียวกับที่ตำรวจเคยทำสำนวนหรือไม่ ยังไม่แน่ชัด แต่เข้าใจว่าเป็นลักษณะคล้าย ๆ เกิดขึ้นในบริเวณนี้เหมือนกัน จึงต้องให้ดีเอสไอไปตรวจสอบรายละเอียดเพิ่มเติมเพื่อรายงานต่อสาธารณะต่อไป

ขณะที่ พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เปิดเผยถึงกรณีพนักงานอัยการคดีพิเศษ สั่งไม่ฟ้อง น.ส.พีชญา วัฒนามนตรี หรือมิน และนายยุรนันท์ ภมรมนตรี หรือแซม สองนักแสดงชื่อดัง ซึ่งตกเป็นผู้ต้องหาในคดีดิไอคอนฯ โดยอธิบดีดีเอสไอมีหน้าที่ต้องทำความเห็นแย้งหรือความเห็นพ้อง ว่า คดีนี้เราได้มีการสั่งฟ้องผู้ต้องหาทั้งหมด 18 ราย แต่พนักงานอัยการได้มีคำสั่งไม่ฟ้องสองรายดังกล่าว ขณะนี้อยู่ระหว่างกระบวนการที่พนักงานอัยการจะเสนอเรื่องกลับมาที่ดีเอสไอเพื่อทำความเห็นว่าจะเห็นแย้งหรือไม่อย่างไร หากดีเอสไอทำความเห็นแย้ง จะต้องส่งไปยังอัยการสูงสุดเพื่อชี้ขาดแทน อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังรอสำนวนสอบสวนและความเห็นของพนักงานอัยการคดีพิเศษอยู่ หากได้รับมาแล้วจึงจะต้องตั้งคณะทำงานกลั่นกรองความเห็นเสนอแก่ตนเอง แต่จะทำเพื่อความรอบคอบ และเบื้องต้นดีเอสไอมีกรอบพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน

พ.ต.ต.ยุทธนา เผยด้วยว่า หากได้รับเรื่องเสนอกลับจากอัยการคดีพิเศษเมื่อใด ตนจะได้มอบหมายให้กองบริหารคดีพิเศษ นำคดีเทียบเคียงอื่น ๆ หรือคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีใกล้เคียง มาร่วมพิจารณาเพื่อเป็นการดูให้รอบคอบก่อนที่ตนจะพิจารณาว่าจะเห็นแย้งหรือเห็นพ้องต่อคำสั่งไม่ฟ้องของพนักงานอัยการคดีพิเศษ ทั้งนี้ จากที่ตนเองได้ทำสำนวนมา จะพิจารณาว่าเห็นแย้งหรือเห็นพ้อง มันอยู่ที่ข้อเท็จจริงและพยานหลักฐาน ก็ต้องดูว่ากรณีที่พนักงานอัยการคดีพิเศษสั่งไม่ฟ้องมีเหตุผลอย่างไรบ้าง เพราะหลังจากที่เราสอบสวนและมีความเห็นสั่งฟ้องไปก็มีพยานหลักฐานส่วนหนึ่งแล้ว แต่พนักงานอัยการได้มีคำสั่งให้สอบสวนเพิ่มเติม เราก็ต้องดูผลการสอบสวนเพิ่มเติมนั้น ว่าสามารถมาหักล้างพยานหลักฐานที่เราได้รวบรวมไปหรือไม่ ตอนนี้ยังไม่สามารถตอบได้ในชั้นนี้ว่าจะมีความเห็นแย้งหรือเห็นพ้องกับคำสั่งไม่ฟ้องของอัยการ

Advertisement

แชร์
“บอร์ดคดีพิเศษ”รับคดีมลพิษโรงงานแคดเมียม ฉะเชิงเทรา เป็นคดีพิเศษ