จากกรณีที่ องค์การค้าของสำนักงานส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) เปิดการประกวดราคาจ้างพิมพ์หนังสือแบบเรียน ปีการศึกษา 2568 จำนวน 145 รายการ วงเงินงบประมาณ 1,060 ล้านบาท ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) เมื่อวันที่ 28 ม.ค.68 แต่เมื่อถึงเวลาปิดรับข้อเสนอราคาปรากฎว่า มีเอกชนผู้เสนอราคาเพียง 1 ราย และต่อมา นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รมช.ศึกษาธิการ ระบุว่า พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศึกษาธิการ ได้สั่งการให้ยกเลิกประกวดราคาฯครั้งนี้ เพื่อความโปร่งใสนั้น
วันที่ 5 ก.พ. 68 นาย นัทธพลพงศ์ จิวัจฉรานุกูล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท รุ่งศิลป์การพิมพ์ (1977) จำกัด (โรงพิมพ์รุ่งศิลป์) เปิดเผยว่า โรงพิมพ์รุ่งศิลป์เป็นหนึ่งในบริษัทที่ประสงค์เข้าร่วมการประกวดราคาฯ แต่ไม่สามารถกรอกรายละเอียดทำรายการในระบบ e-bidding ของ กรมบัญชีกลาง ที่แยกเป็น 145 รายการตามจำนวนแบบเรียนได้ทันเวลาเช่นเดียวกับอีกหลายๆ บริษัท ซึ่งหากองค์การค้าของ สกสค.จะประกาศประกวดราคาฯครั้งใหม่ บริษัทฯก็มีความพร้อมในการเข้าแข่งขัน อย่างไรก็ตามเท่าที่ติดตามข่าวมาตั้งแต่ รมช.ศึกษาธิการ ระบุว่าจะมีการยกเลิกการประกวดราคาฯ ตั้งแต่เมื่อวันที่ 29 ม.ค.68 ก็ยังไม่มีการประกาศยกเลิกในระบบ กรมบัญชีกลาง แต่อย่างไร ซึ่งคงต้องรอความชัดเจนจาก รมว.ศึกษาธิการ ในฐานะประธานคณะกรรมการ สกสค.อีกครั้ง
“โรงพิมพ์รุ่งศิลป์ เห็นด้วยที่จะมีการยกเลิกการประกวดราคาฯ เพื่อเปิดประกวดราคาฯ ครั้งใหม่ ไม่เฉพาะกรณีที่มีเอกชนเสนอราคาทันเพียงรายเดียว จนไม่เกิดการแข่งขัน และถูกมองว่าไม่โปร่งใสเท่านั้น ยังมีในส่วนของทีโออาร์ (รายละเอียดขอบเขตงาน) ที่เราได้มีข้อสังเกตไปถึง รมว.ศึกษาธิการ ในฐานะประธานคณะกรรมการ สกสค. ในหลายประเด็น แต่ไม่ได้รับการแก้ไข และรวบรัดเปิดประมูล จึงได้ไปยื่นฟ้องต่อ ศาลปกครองกลาง เพื่อขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเพิกถอนประกาศ และทีโออาร์ ซึ่งศาลก็ได้ประทับรับฟ้องเป็นคดีดำที่ 27/2568 แล้ว” นายนัทธพลพงศ์ กล่าว
นายนัทธพลพงศ์ กล่าวอีกว่า เชื่อว่าสุดท้ายคงต้องมีการยกเลิกการประกวดราคาฯ ก็อยากเรียกร้องผู้เกี่ยวข้องให้ใช้โอกาสนี้ปรับปรุงทีโออาร์ให้เกิดการแข่งขันอย่างเป็นธรรม อาทิ การกำหนดคุณสมบัติของผู้ยื่นข้อเสนอ และหลักฐานที่ใช้ในการเสนอราคา รวมทั้งการกำหนดคุณสมบัติเครื่องพิมพ์ และกระดาษ เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ค้ารายใหม่ๆ สามารถเข้าร่วมการเสนอราคา ซึ่งยิ่งเกิดการแข่งขันมากเท่าไร ทั้งกระทรวงศึกษาธิการ และองค์การค้าของ สกสค.ก็จะได้ประโยชน์ และโดยเฉพาะผู้บริโภค ทั้งเด็กนักเรียน และผู้ปกครอง ที่จะได้แบบเรียนที่มีคุณภาพ และราคาถูกลง
“หากมีการประกาศประกวดราคาฯครั้งใหม่ ถือเป็นโอกาสดีที่จะปรับปรุงแก้ไขทีโออาร์ให้เกิดการแข่งขันอย่างเป็นธรรม แต่หากยังประกวดราคาฯ ตามทีโออาร์ฉบับเดิมก็คงมีปัญหาความไม่โปร่งใสเหมือนปีที่ผ่านๆมา” นายนัทธพลพงศ์ กล่าว
Advertisement