เมื่อวันที่ 20 ก.พ. 2568 สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เผยแพร่เอกสารข่าว ระบุว่า ศาลฎีกาพิพากษาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) จังหวัดบึงกาฬ เขตเลือกตั้งที่ 2 ใหม่ ตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้งได้มีคำสั่งให้ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาเพื่อสั่งให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง (ใบดำ) หรือเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง (ใบแดง) ของนายสุวรรณา กุมภิโร ผู้สมัครรับเลือกตั้ง สส.บึงกาฬ เขตเลือกตั้งที่ 2 จากพรรคภูมิใจไทย และสั่งให้มีการเลือกตั้ง สส.บึงกาฬ เขตเลือกตั้งที่ 2 ใหม่ แทนตำแหน่งที่ว่าง ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 มาตรา 138 และสั่งให้นายสุวรรณา กุมภิโร รับผิดค่าใช้จ่ายสำหรับการเลือกตั้งครั้งที่เป็นเหตุให้ศาลฎีกามีคำสั่งเช่นว่านั้น ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 มาตรา 139 นั้น โดยกล่าวหาว่ามีพฤติการณ์ให้ทรัพย์สินแก่วัด และจัดงานรื่นเริง
และให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดบึงกาฬเขตเลือกตั้งที่ 2 ใหม่ แทนผู้คัดค้าน และให้ผู้คัดค้านชำระค่าใช้จ่ายสำหรับการเลือกตั้งสมาชิกสกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดบึงกาฬ เขตเลือกตั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 14 พ.ค. 2566 ครั้งที่เป็นเหตุให้ศาลฎีกามีคำสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่เป็นเงิน 9,852,954.13 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับถัดจากวันยื่นคำร้อง (ยื่นคำร้องวันที่ 27 สิงหาคม 2567) เป็นต้นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จ ทั้งนี้หากกระทรวงการคลังปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ย โดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกาเมื่อใดก็ให้ปรับเปลี่ยนไปตามนั้น บวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละ 2 ต่อปีแต่ต้องไม่เกินร้อยละ 5 ต่อปี ตามคำขอ
ขณะนี้ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ได้มีหนังสือเสนอร่างพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดบึงกาฬ เขตเลือกตั้งที่ 2 ถึงเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพื่อนำกราบเรียนนายกรัฐมนตรีเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผลการเลือกตั้ง 14 พ.ค. 2566 ในพื้นที่ จ.บึงกาฬ เขต 2 นายสุวรรณา กุมภิโร ผู้สมัครจากพรรคภูมิใจไทย เป็นผู้ชนะการเลือกตั้งไปด้วยคะแนน 26,541 เสียง โดยมีนายไตรรงค์ ติธรรม จากพรรคเพื่อไทย ตามมาเป็นลำดับ 2 ที่ 18,713 เสียง ส่วนนายสำรวย ศรีทิน จากพรรคก้าวไกล (ขณะนั้น) ได้ไป 16,568 เสียง
ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ตามมาตรา 105 บัญญัติว่า เมื่อตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรว่างลงเพราะเหตุอื่นใด นอกจากถึงคราวออกตามอายุของสภาผู้แทนราษฎร หรือเมื่อมีการยุบสภาผู้แทนราษฎร ให้ดำเนินการ ดังต่อไปนี้
(1) ในกรณีที่เป็นตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งให้ดำเนินการตราพระราชกฤษฎีกาเพื่อจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรขึ้นแทนตำแหน่งที่ว่างเว้นแต่อายุของสภาผู้แทนราษฎรจะเหลืออยู่ไม่ถึง 180 วัน และให้นำความในมาตรา 102 มาใช้บังคับโดยอนุโลม
มาตรา 102 เมื่ออายุของสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลง พระมหากษัตริย์จะได้ทรงตราพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่ เป็นการเลือกตั้งทั่วไปภายใน 45 วันนับแต่วันที่สภาผู้แทนราษฎรสิ้นอายุ
Advertisement