จากกรณีการอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีที่ผ่านมา ช่วงหนึ่งนาย ชัยมงคล ไชยรบ สส.สกลนคร และรองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กล่าวอภิปรายถึงประเด็นปัญหาเขตแดนไทยกับกัมพูชาที่มีต้นเหตุมาจาก MOU 2544 โดยระบุว่า นายกฯ กำลังจะเอาทรัพยากรที่อยู่ใต้น้ำไปให้กับทางกัมพูชา เพราะคนในครอบครัวนายกฯ สนิทสนมกับทางกัมพูชานั้น
ล่าสุดวันที่ 27 มี.ค. 68 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แหล่งข่าวใกล้ชิดพรรคพลังประชารัฐ ระบุว่า การที่พรรคพลังประชารัฐอภิปรายเรื่องดังกล่าว ไม่ต่างอะไรกับการอภิปรายหัวหน้าพรรคตัวเอง เพราะเมื่อปี 2564 พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นประธานคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิค (Joint Technical Committee: JTC) ซึ่งประเด็นนี้เคยมีสื่อหลายสำนักนำไปเผยแพร่แล้วว่า การประชุมคณะกรรมการ JTC ไทย-กัมพูชา ที่มี พล.อ.ประวิตร เป็นประธานได้ดำเนินการเรื่อยๆ และต่อเนื่อง โดยได้พิจารณาร่างกรอบการเจรจากับฝ่ายกัมพูชา ในการพัฒนาพื้นที่ที่ไทยและกัมพูชาอ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกัน (Overlapping Claims Area-OCA) และการแต่งตั้งคณะทำงานไทย-กัมพูชา ว่าด้วยการแบ่งเขตทางทะเล (ฝ่ายไทย) และคณะทำงานไทย-กัมพูชา เกี่ยวกับระบอบพัฒนาร่วม (ฝ่ายไทย)ไปแล้ว
โดยร่างกรอบที่ฝ่ายเลขานุการกระทรวงการต่างประเทศเสนอให้ JTC พิจารณา ในครั้งนั้น มีวัตถุประสงค์หลัก 3 ประการ คือ
1. แก้ปัญหาการอ้างสิทธิทับซ้อนในไหล่ทวีปไทย–กัมพูชา ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 26,000 ตร.กม.
2. ดำเนินการตาม MOU 2544 ให้เกิด “ข้อตกลงแบ่งเขตทางทะเล” และ “ข้อตกลงพัฒนาร่วมทรัพยากรปิโตรเลียม” ใต้เส้นละติจูด 11 องศาเหนือ
3. ใช้กลไกคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิคไทย–กัมพูชา (JTC) ที่เคยตกลงกันไว้แล้วเป็นกรอบการเจรจา
“องค์ประกอบของคณะกรรมการ JTC ประกอบไปด้วย พล.อ.ประวิตร ที่เป็นประธาน และผู้แทนจากกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงพลังงาน รวมถึงตัวแทนจากภาคส่วนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งการเจรจากับทางกัมพูชาของ พล.อ.ประวิตร เกือบจะบรรลุข้อตกลงทุกอย่างไปแล้ว ตั้งแต่ปี 2564 แต่ผลประโยชน์มหาศาลอย่าง ก๊าซธรรมชาติใต้ทะเล จึงเป็นปมใหญ่ที่ทำให้กลุ่มทุนพลังงานในสมัยนั้นเกิดความขัดแย้งขึ้น MOU44 จึงคงค้างไว้เช่นนั้น จนมาถึงรัฐบาลชุดปัจจุบัน” แหล่งข่าวคนเดิม ระบุ
แหล่งข่าวยังตั้งข้อสังเกตว่า บทบาทของ สส.พรรคพลังประชารัฐ ในเวทีการเมืองต่อเรื่องนี้ได้แสดงจุดยืนคัดค้าน MOU 2544 อย่างหนัก และระบุว่ารัฐบาลอาจทำให้ประเทศไทยเสียดินแดน ทั้งที่หัวหน้าพรรคของตัวเองเคยเดินหน้าในฐานะประธาน JTC อย่างเต็มตัว และรับรู้ร่างกรอบเจรจาฉบับนี้โดยละเอียด ทั้งหมดนี้สะท้อนว่า พล.อ.ประวิตร ไม่ได้แค่รับรู้เรื่อง MOU2544 แต่เคยใช้มันเป็นเครื่องมือในการเจรจากับกัมพูชาด้วยตัวเอง ก่อนจะกลับลำมาโจมตีรัฐบาลในวันนี้ว่าอาจทำให้ไทยเสียดินแดนจาก MOU ฉบับเดียวกัน
Advertisement