สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน หรือ สตง. เป็นส่วนราชการที่เป็นหน่วยงานอิสระ มีฐานะเป็นนิติบุคคล อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของผู้ว่าการฯ โดยมีอำนาจหน้าที่ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 27 ของ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. 2561 ได้แก่ วางนโยบายการตรวจเงินแผ่นดิน กําหนดหลักเกณฑ์มาตรฐานเกี่ยวกับการตรวจเงินแผ่นดิน กํากับการตรวจเงินแผ่นดินให้สอดคล้องกับวินัยการเงินการคลังของรัฐ นอกจากนี้ยังมีหน้าที่ให้คําปรึกษา แนะนํา หรือเสนอแนะเกี่ยวกับการใช้จ่ายเงินแผ่นดินให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐ รวมทั้งการให้คําแนะนําแก่หน่วยงานของรัฐในการแก้ไขข้อบกพร่องเกี่ยวกับการใช้จ่ายเงินแผ่นดิน
นอกจากนี้ สตง. ยังสามารถสั่งลงโทษทางปกครอง กรณีมีการกระทําผิดกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐ และมีหน้าที่และอํานาจอื่นตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้หรือกฎหมายอื่นประกอบกัน
แล้วใครมีหน้าที่ตรวจสอบ สตง. ?
คณะกรรมการกำกับการตรวจสอบ ตามมาตรา 73 มีประธานวุฒิสภา เป็นประธานกรรมการ ร่วมด้วยประธานองค์กรอิสระทุกองค์กร ยกเว้นประธานกรรมการ สตง. และให้อธิบดีกรมบัญชีกลาง เป็นกรรมการและเลขานุการในคณะตรวจสอบ
หน้าที่ตรวจสอบทำอย่างไร ?
กำกับดูแลการตรวจสอบการทำงานของ สตง. ดูแลให้ สตง. ทำงานอย่าง "อิสระ" ให้กรมบัญชีกลาง โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการกํากับการตรวจสอบ แต่งตั้งคณะผู้ตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่ในกรมบัญชีกลางขึ้นคณะหนึ่งตามจํานวนที่เพียงพอต่อการปฏิบัติหน้าที่ ทําหน้าที่ในการตรวจสอบสํานักงาน โดยให้คณะผู้ตรวจสอบ มีหน้าที่และอํานาจเช่นเดียวกับที่ผู้ว่าการมีหน้าที่และอํานาจในการตรวจเงินแผ่นดินของหน่วยรับตรวจ
Advertisement