จากเหตุการณ์ตึกที่ทำการของสำนักงานคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินถล่ม ระหว่างเกิดแผ่นดินไหว เมื่อวันที่ 28 มี.ค. ที่ผ่านมา
ทำให้หลายคนจับตาบริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์เทน ประเทศไทย ซึ่งจดทะเบียนร่วมค้ากับ บริษัทอิตาเลียนไทย ดีเวล็อบเมนท์จำกัด (มหาชน) ประมูลรับเหมาก่อสร้างบริษัทแห่งนี้
โดยตั้งข้อสังเกตถึงข้อพิรุธหลายประการ ประการแรกคือเรื่องโครงสร้างหุ้น ที่มีชาวไทยถือหุ้น 51 % ขณะที่มีชาวจีนถือหุ้น49% ขณะที่คนไทยมีสามคนที่ถือหุ้นคือนายโสภณ มีชัย ถือหุ้น 40.80% นายประจวบ ศิริเขต ถือหุ้น 10.20% นายมนัส ศรีอนันต์ ถือหุ้นเพียง 3 หุ้น
ซึ่งมีการตั้งข้อสังเกตว่าทั้งสามอาจเป็นนอมินี ถือหุ้นแทนต่างชาติ เพราะจากลักษณะแล้วทั้งสามคนไม่น่ามีความเชี่ยวชาญหรือสามารถเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทที่รับประมูลงานรัฐในระดับนี้ได้ อีกทั้งยังเป็นกรรมการในอีกหลายบริษัทสลับกันไปมา
ขณะที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ รมว.พาณิชย์ ก็ยอมรับว่ามีความผิดปกติในกรณีนี้ เพราะจากการตรวจสอบพบว่าผู้ถือหุ้น 10 % ของบริษัท ยังไม่มีบ้านเป็นของตัวเอง แต่กลับมีรถยนต์ใช้งาน ซึ่งถือเป็นเรื่องผิดปกติ เนื่องจาก 10 % ของทุนจดทะเบียน 1,000 ล้านบาท เท่ากับ 100 ล้านบาท
ดังนั้นผู้ที่ถือหุ้นระดับนี้ควรมีฐานะที่มั่นคง กระทรวงพาณิชย์จึงได้รวบรวมข้อมูลและส่งให้กรมสอบสวนคดีพิเศษตรวจสอบเพิ่มเติม หากพบว่ามีการกระทำผิดจะดำเนินการทางกฎหมายทั้งทางแพ่งและอาญา
นอกจากนี้ยังพบว่าในปี 2566 บริษัทรายงานผลขาดทุนสุทธิ 199.66 ล้านบาท โดยมีรายได้ 206.25 ล้านบาท แต่มีค่าใช้จ่ายสูงถึง 354.95 ล้านบาท การขาดทุนอย่างต่อเนื่องนี้ ทำให้เกิดคำถามว่าบริษัทที่มีสถานะการเงินไม่แข็งแกร่งเช่นนี้ สามารถรับงานก่อสร้างมูลค่าหลายพันล้านบาทจากภาครัฐได้อย่างไร รวมไปถึงที่ตั้งสำนักงานที่ดูไม่น่าเชื่อถือ
และที่ผ่านมาบริษัทแห่งนี้ได้งานประมูลจากภาครัฐเป็นจำนวนมากอย่างน่าสงสัยเช่น การก่อสร้างตึกสำนักงาน สตง. มูลค่า 2,130 ล้านบาท โครงการรถไฟความเร็วสูง ระยะที่ 3 โครงการก่อสร้างตึกการเคหะดินแดง 8 ตึก
นอกจากนี้ยังมีคำถามถึงกลยุทธ์การตั้งบริษัทร่วมทุนว่าบริษัทแห่งนี้ อาจใช้วิธีร่วมมือกับบริษัทในไทย "ซื้อซองประมูล" แต่ไม่ยื่นประมูลเอง และให้พันธมิตรไทยเป็นคนเดินเรื่องเพื่อให้ได้งาน ซึ่งเป็นวิธีหลบเลี่ยงข้อจำกัดหรือเพิ่มโอกาสในการชนะประมูล
Advertisement