"เทศบาล" ถือเป็นรูปแบบการปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบหนึ่งในปัจจุบันของไทย เป็นการกระจายอำนาจแก่ท้องถิ่น ดำเนินการปกครองตนเองตามระบอบประชาธิปไตย เกิดขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) เริ่มจากการจัดตั้งสุขาภิบาลกรุงเทพฯ ร.ศ.116 (พ.ศ. 2440) โดยมีพระราชกำหนดสุขาภิบาลกรุงเทพฯ ร.ศ. 116 ในส่วนภูมิภาค มีการตราพระราชบัญญัติจัดการสุขาภิบาลท่าฉลอม ร.ศ. 124 (พ.ศ. 2448) ขึ้น มีวิวัฒนาการเรื่อยมา จนถึงปี พ.ศ. 2475 ได้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ได้มีการกระจายอำนาจการปกครองที่สมบูรณ์แบบยิ่งขึ้น
โดยมีการจัดตั้งเทศบาลขึ้นในปี พ.ศ. 2476 นอกจากนี้ ยังได้ตราพระราชบัญญัติจัดระเบียบเทศบาล พ.ศ. 2476 ยกฐานะสุขาภิบาลขึ้นเป็นเทศบาลหลายแห่ง ต่อมาได้มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงยกเลิกกฎหมายเกี่ยวกับเทศบาลหลายครั้ง จนในที่สุดได้มีการตราพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496 ขึ้นที่ใช้อยู่ตราบจนปัจจุบัน นับแต่นั้นได้มีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายให้เหมาะสมกับยุคสมัยรวมแล้วเป็นฉบับที่ 14 ฉบับ พ.ศ. 2562 ปัจจุบันเทศบาลทั่วประเทศมีจำนวนประมาณ 2,000 กว่าแห่ง
ประเภทของเทศบาล ?
เทศบาลในประเทศไทยมีทั้งหมด 3 ประเภท อันได้แก่ เทศบาลนคร เทศบาลเมือง และเทศบาลตำบล ซึ่งแต่ละประเภทมีลักษณะและ องค์ประกอบที่แตกต่างกันออกไป
1. เทศบาลนคร มีราษฎรตั้งแต่ 50,000 คนขึ้นไป ทั้งมีรายได้พอควรแก่การที่จะปฏิบัติหน้าที่ของเทศบาลนคร มีสมาชิกสภาเทศบาลได้ 24 คน มีรองนายกเทศมนตรีได้ไม่เกิน 4 คน
2. เทศบาลเมือง ท้องถิ่นอันเป็นที่ตั้งศาลากลางจังหวัดหรือท้องถิ่นชุมนุมชนที่มีราษฎรตั้งแต่ 10,000 คนขึ้นไป ทั้งมีรายได้พอควรแก่การที่จะปฏิบัติหน้าที่ของเทศบาลเมือง มีสมาชิกสภาเทศบาลได้ 18 คน และมีรองนายกเทศมนตรีได้ ไม่เกิน 3 คน
3. เทศบาลตำบล มีสมาชิกสภาเทศบาลได้ 12 คน มีรองนายกเทศมนตรีได้ไม่เกิน 2 คน
สำหรับเงินเดือนประจำตำแหน่งของผู้บริหารของเทศบาล ได้ถูกกำหนดในระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยเงินเดือน ค่าตอบแทน และประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นของนายกเทศมนตรี รองนายกเทศมนตรี ประธานสภาเทศบาล รองประธานสภาเทศบาล สมาชิกสภาเทศบาล เลขานุการนายกเทศมนตรี ที่ปรึกษานายกเทศมนตรี และการจ่ายค่าเบี้ยประชุมกรรมการสภาเทศบาล พ.ศ. 2554
อัตราเงินเดือนและค่าตอบแทนผู้บริหารเทศบาล ?
เงินเดือน ค่าตอบแทนเงินประจำตำแหน่ง เงินพิเศษ ที่ผู้บริหารและสมาชิกสภาเทศบาลได้รับในแต่ละเดือน แต่ละเทศบาลจะถูกกำหนดไม่เหมือนกัน ทั้งนี้ จะยึดจากรายได้ของเทศบาลเป็นที่ตั้ง รายได้ของเทศบาล หมายถึง รายได้จริงของปีงบประมาณที่ผ่านมา ไม่รวมเงินกู้ เงินสะสม และเงินอุดหนุนทุกประเภท ซึ่งจะใช้เป็นฐานในการคิดอัตราเงินเดือนและเงินค่าตอบแทนในการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี ซึ่งเทศบาลแต่ละแห่งจะต้องมีงบประมาณพัฒนาในปีถัด ๆ ไป ไม่น้อยกว่าปีงบประมาณที่ผ่านมา
เงินเดือนนายกเทศมนตรี หากรายได้เทศบาลไม่เกิน 1 ล้านบาท ได้เงินเดือนรวมค่าตอบแทนพิเศษที่ 14,280 บาท และหากเทศบาลนั้นมีรายได้เกิน 300 ล้านบาท นายกเทศมนตรี ได้เงินเดือนรวมค่าตอบแทนพิเศษที่ 75,530 บาท (ตามตารางข้างล่าง)
เงินเดือนรองนายกเทศมนตรี หากรายได้เทศบาลไม่เกิน 1 ล้านบาท ได้เงินเดือนรวมค่าตอบแทนพิเศษที่ 8,670 บาท และหากเทศบาลนั้นมีรายได้เกิน 300 ล้านบาท นายกเทศมนตรี ได้เงินเดือนรวมค่าตอบแทนพิเศษที่ 45,540 บาท (ตามตารางข้างบน)
เงินเดือนของประธานสภา 5,520 - 30,540 บาท, เงินเดือนรองประธานสภา 4,530 - 24,990 บาท, สมาชิกสภาเทศบาล 3,520 -19,440 บาท, เลขานุการนายกเทศมนตรี 5,820 - 19,440 บาท, ที่ปรึกษานายกเทศมนตรี 2,520 - 13,880 บาท (ตามตารางข้างบน)
Advertisement