ที่ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) ต.แจนแลน อ.กุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์ นางพานธิวา ผิวอุดม ครูผู้ช่วย กศน.อ.กุฉินารายณ์ นางดรุณี โกมาร ครู กศน.ต.แจนแลน และบุคลากร เจ้าหน้าที่ จัดอบรมกลุ่มแม่บ้าน และสาธิตในการแปรรูปผ้าขาวม้าและผ้าลายแพรวา เป็น “ร่มผ้าขาวม้า และร่มผ้าแพรวากาฬสินธุ์” สำหรับกันแดด กันฝน โดยมีนางเกสร เพิ่มขึ้น ประธานกลุ่มร่มผ้าขาวม้าแจนแลน และสมาชิกกลุ่มทั้งผู้สูงอายุ วัยทำงาน เยาวชน ร่วมเข้ารับการอบรม โดยทุกคนที่เข้าร่วมอบรม ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคติดเชื้อโควิด-19 อย่างเคร่งครัด
นางพานธิวา ผิวอุดม ครูผู้ช่วย กศน.อ.กุฉินารายณ์ กล่าวว่า ภารกิจของ กศน.ที่นอกจากจะให้ความรู้ทางวิชาการแก่นักเรียน กศน. ที่ต้องการความเจริญก้าวหน้าและมั่นคงในชีวิตแล้ว สิ่งที่ดำเนินการภารกิจควบคู่กัน คือการมีส่วนร่วมกับชุมชน โดยเฉพาะการส่งเสริมอาชีพที่หลากหลาย สอดคล้องกับความต้องการของชุมชน อย่างเช่น การอบรมกลุ่มแม่บ้านและนักเรียน กศน.แปรรูปผ้าขาวม้าเป็นร่มกันฝนกันแดด โดยใช้ผ้าขาวม้าที่ทอจากผ้าฝ้าย ผ้าไหม และฝ้ายประดิษฐ์ มาตัดเย็บ ให้เข้ารูปกับร่มสำเร็จรูป ที่ซื้อจากท้องตลาดทั่วไป ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มมูลค่า และเป็นทางเลือกใหม่ให้กับผู้บริโภค เป็นผลิตภัณฑ์ร่ม ภายใต้ชื่อ “ร่มผ้าขาวม้า ร่มผ้าแพรวากาฬสินธุ์” โดยดำเนินการมาประมาณ 1 ปี ได้รับการตอบรับดีมาก
นางพานธิวากล่าวอีกว่า จากผลตอบรับทั้งในส่วนของแม่บ้าน นักเรียน กศน.ที่เข้าร่วมโครงการ สามารถสร้างงาน สร้างรายได้ แก้ไขปัญหาการว่างงาน โดยเฉพาะในช่วงได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โรคติดเชื้อโควิด-19 ทั้งนี้ สำหรับผลิตภัณฑ์ร่มผ้าขาวม้าและร่มผ้าแพรวากาฬสินธุ์ เดิมจำหน่ายในชุมชน ต่อมาได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น จึงเปิดช่องทางขายออนไลน์ อย่างไรก็ตาม จากการส่งเสริมของ กศน.กุฉินารายณ์และกศน.ต.แจนแลน ที่สร้างงาน สร้างอาชีพดังกล่าว ล่าสุด ผลิตภัณฑ์ร่มผ้าขาวม้าและผ้าแพรวา งานแฮนด์เมดของแม่บ้าน และนักเรียน กศน. ได้รับรางวัล Onie Brand กศน.จากกระทรวงศึกษาธิการ เป็นการการันตีคุณภาพและเป็นผลิตภัณฑ์ตัวใหม่ ที่สร้างอาชีพ รายได้อย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน โดยในอนาคตจะมีการพัฒนายกระดับสู่สินค้าพรีเมี่ยมต่อไป
ด้านนางเกสร เพิ่มขึ้น อายุ 53 ปี อยู่บ้านเลขที่ 248 หมู่ 3 บ้านแจนแลน ประธานกลุ่มร่มผ้าขาวม้าแจนแลน กล่าวว่าเดิมทีในเขต ต.แจนแลน อ.กุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์ มีการทอผ้าโดยใช้ภูมิปัญญา ที่ได้รับการถ่ายทอดจากบรรพบุรุษ ทั้งทอผ้าฝ้าย ผ้าไหม ด้วยลวดลายและสีสันต่างๆ เพื่อนำมาตัดเย็บเป็นผ้าถุง เสื้อผ้า หรือเป็นผ้าขาวม้าสำหรับผู้ชายพกติดตัว หรือเพื่อประโยชน์ใช้สอยอื่นๆ นอกจากนี้ยังแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ผ้าม่าน ผ้าปูโต๊ะ หรือผ้าประดับใช้สอยในครัวเรือน ในงานพิธี ทั้งเป็นของฝากญาติพี่น้อง และจำหน่ายในชุมชน ผืนละ 30-40 บาท ต่อมาเนื่องจากมีการผลิตออกมามาก ผลิตภัณฑ์ผ้าผืนหรือที่ตัดเย็บเป็นผ้าขาวม้า จึงเหลือตกค้างจำนวนมาก
นางเกสรกล่าวอีกว่า หลังจากได้เข้ามาสมัครเป็นนักเรียน กศน.ต.แจนแลน และได้รับการอบรมด้านการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากผ้า โดย กศน.ให้การสนับสนุนอย่างจริงจัง ทั้งองค์ความรู้ ขั้นตอนการผลิต และช่องทางการตลาด จึงได้จัดตั้งกลุ่มร่มผ้าขาวม้าแจนแลนขึ้นมา มีสมาชิกกลุ่ม 15 ครัวเรือน โดยจัดซื้อร่มที่จำหน่ายตามท้องตลาดมา เพื่อต่อยอดและสร้างมูลค่าเป็นร่มผ้าขาวม้า โดยทำ 2 ขนาด 16 นิ้ว จำหน่ายในราคา 150 บาท กับขนาด 24 นิ้ว จำหน่ายในราคา 250 บาท เริ่มจากนำผ้าขาวม้ามาตัดเย็บ เข้ารูปกับร่มสำเร็จรูป เย็บให้สนิทด้วยมือ ก็จะได้ “ร่มผ้าขาวม้า” และ “ร่มแพรวากาฬสินธุ์” เหมาะสำหรับเป็นของฝาก ของที่ระลึก นำไปใช้ก็สวย สะดุดตา สามารถสร้างอาชีพและรายได้อย่างยั่งยืน ปัจจุบันมีออร์เดอร์เดือนละประมาณ 1,000 คัน รายได้เข้ากลุ่มเดือนละ 1 แสนบาท หรือเฉลี่ยประมาณเดือนละ 1 หมื่นบาทต่อคนทีเดียว
Advertisement