วานนี้ (14 กุมภาพันธ์ 2565) นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในช่วงนี้มีกระแสการกินปลาหมึกช็อต คือการนำปลาหมึกสดตัวเล็กที่ยังไม่ตายมาจุ่มน้ำจิ้มซีฟู้ดในแก้วช็อต ซึ่งการกินดังกล่าวอาจเสี่ยงได้รับเชื้ออหิวาต์เทียม หรือ Vibrio
parahaemolyticus เป็นเชื้อแบคทีเรียที่พบได้ตามโคลนตมในทะเลหรือตามชายฝั่ง เมื่อกินสัตว์ทะเลที่ปนเปื้อนเชื้อเข้าไป จะทำให้เกิดอาการปวดท้อง ท้องเสีย มีอาการอาหารเป็นพิษ หากรุนแรงมากๆ อาจส่งผลให้เกิดกระเพาะอาหารและลำไส้อักเสบ
นอกจากเชื้อแบคทีเรียดังกล่าวแล้ว ปลาหมึกหรือสัตว์ทะเลอื่นๆ เช่น กุ้ง หอย อาจมีพยาธิอาศัยอยู่ ไม่ว่าจะเป็นพยาธิตัวกลม ในกลุ่มพยาธิอะนิซาคิส (Anisakis spp.) หรือพยาธิตัวตืดในกลุ่มพยาธิตืดปลา (Diphyllobothrium) หากพยาธิเข้าไปในร่างกายจะมีอาการปวดท้อง แน่นท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ท้องอืด คล้ายกับอาการของโรคกระเพาะอาหาร บางรายอาจมีอาการท้องเสีย หรือถ้ามีแผลในกระเพาะขนาดใหญ่จะทำให้ถ่ายอุจจาระเป็นเลือด และโดยเฉพาะพยาธิอะนิซาคิส ที่มักพบในผู้ป่วยทั่วโลก ประมาณ 20,000 รายต่อปี พบมากในพื้นที่ที่มีการกินปลาทะเลดิบ เช่น ญี่ปุ่น จีน เกาหลี และประเทศทางยุโรปเหนือ
สำหรับประเทศไทยเคยมีรายงานผู้ป่วยโรคนี้เช่นกัน แต่มีจำนวนผู้ป่วยไม่มาก ด้วยกระบวนการนำเข้าผลิตภัณฑ์ปลาทะเลที่มีการแช่แข็งจึงทำให้พยาธิตาย แต่การกินปลาหมึกสดๆ ที่ยังไม่ตาย ก็ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการได้รับพยาธิอะนิซาคิสที่ได้เช่นกัน
นายแพทย์โอภาส กล่าวต่อไปว่า สำหรับการป้องกันแบคทีเรียและพยาธิ ขอให้ประชาชนยึดหลัก “สุก ร้อน สะอาด” กินอาหารที่ปรุงสุกใหม่ หลีกเลี่ยงการกินอาหารสุกๆ ดิบๆ หากทำอาหารกินเอง ให้เลือกซื้อวัตถุดิบที่สดจากร้านที่ได้มาตรฐาน ก่อนปรุงประกอบอาหาร ต้องล้างมือให้สะอาดและนำวัตถุดิบมาล้างเพื่อลดการปนเปื้อนเชื้อโรค พร้อมทั้งปรุงอาหารด้วยความร้อนให้สุกทั่วถึง ซึ่งจะสามารถป้องกันโรคติดต่อทางเดินอาหารและน้ำได้ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- กรมอนามัย เตือนกิน หมึกช็อต ระวังแบคทีเรีย-พยาธิ แนะปรุงสุกทุกครั้งปลอดภัยกว่า
- เทรนด์ฮิต "หมึกช็อต" เสี่ยงตาย เผยโฉมฆาตกรเงียบลงไส้ต้องดึงทิ้งสุดสยอง (คลิป)
- หนึ่งในล้าน! กินกุ้งแช่น้ำปลาพยาธิไชตาบอด หมอผ่านับชั่วโมงช่วยชีวิต (คลิป)
Advertisement