วันที่ 15 ก.พ.65 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศกรมควบคุมโรค เรื่องยกเลิกการเรียกสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้าน โดยได้ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาเล่ม 139 ตอนพิเศษ 39 ง เมื่อวันที่ 15 ก.พ.ที่ผ่านมา ระบุว่า ตามข้อ 17 ของคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 21/2560 เรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายเพื่ออำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจ ลงวันที่ 4 เม.ย.2560
ซึ่งที่ประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปเพื่อรองรับการปรับเปลี่ยนตามนโยบาย Thailand 4.0 ครั้งที่ 1/2561 เมื่อวันที่ 30 เม.ย.2561 ซึ่งที่ประชุมได้มีมติให้ยกเลิกการใช้สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้าน เพื่อรองรับการเป็นรัฐบาลดิจิทัล และมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 2 ต.ค.2561 ที่มีมติเห็นชอบมาตรการอำนวยความสะดวกและลดภาระแก่ประชาชน (การไม่เรียกสำเนาเอกสารที่ทางราชการออกให้จากประชาชน)
เพื่อให้การปฏิบัติราชการตามกฎหมายที่อยู่ในอำนาจของกรมควบคุมโรค เป็นไปตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ประกอบกับมติคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปเพื่อรองรับการปรับเปลี่ยนตามนโยบาย Thailand 4.0
และมติครม.อันเป็นการอำนวยความสะดวกและลดภาระแก่ประชาชน อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 32 แห่งพ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 แก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2545 อธิบดีกรมควบคุมโรค จึงออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ให้ยกเลิกการเรียกสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้าน จากผู้ยื่นคำขออนุมัติ อนุญาต จดทะเบียน จดแจ้ง แจ้ง หรือการดำเนินการใด ๆ ตามกฎหมาย กฎ ระเบียบ คำสั่ง ข้อบังคับ หรือประกาศ ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของกรมควบคุมโรค
ข้อ 2 กรณีจำเป็นและต้องใช้สาเนาบัตรประจำตัวประชาชนหรือสำเนาทะเบียนบ้านเพื่อประกอบการพิจารณาดำเนินการ ให้เจ้าหน้าที่ผู้รับคำขอเป็นผู้จัดทำสาเนาเอกสารดังกล่าวขึ้นเอง โดยห้ามมิให้เรียกเก็บค่าใช้จ่ายจากการจัดทำสำเนาเอกสารดังกล่าว
ข้อ 3 กรณีมอบอำนาจให้บุคคลอื่นดำเนินการแทน ให้ผู้รับมอบอำนาจยื่นสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้มอบอำนาจที่ลงนามรับรองสำเนาถูกต้อง เพื่อประกอบการพิจารณาด้วย ทั้งนี้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ราชกิจจานุเบกษา ประกาศ ยกเลิกการเรียก สำเนาบัตรประชาชน - ทะเบียนบ้าน
- กรมการปกครอง ยกเว้น/ลด ค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับการทะเบียนและบัตรประชาชน ถึง 30 มิ.ย.นี้
- เปิดตัว Mobile ID เบอร์มือถือ แทน บัตรประชาชน ทำธุรกรรมได้ทั้งภาครัฐ-เอกชน
Advertisement