ดร.ธรณ์ เล่าเรื่องราวบีบหัวใจ "โลมาอิรวดี" 14 ตัวสุดท้ายในทะเลสาบสงขลา นับถอยหลังวันสูญพันธุ์จากประเทศไทย
วันที่ 28 เม.ย.65 ผู้สื่อข่าวรายงาน ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตร ศาสตร์ (มก.) โพสต์ข้อมูลผ่านเฟซบุ๊ก Thon Thamrongnawasawat ถึงสถานการณ์โลมาอิรวดี ในประเทศไทย ระบุว่า ขณะนี้ไทยเหลือโลมาอิรวดีเพียง 14 ตัวเท่านั้น
ผศ.ดร.ธรณ์ กล่าวว่า ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา โลมาอิรวดีในทะเลสาบสงขลา ลดจำนวนลงอย่างต่อเนื่อง จากมากกว่า 100 ตัวเหลือเพียง 14 ตัวเท่านั้น ซึ่งบนโลกนี้มีโลมาอิรวดีอยู่ในน้ำจืดเพียง 5 แห่ง คือ อินเดีย 140 ตัว อินโดนีเซีย 90 ตัว กัมพูชา 90 ตัว เมียนมา 80 ตัว และไทย 14 ตัว ซึ่งจะทำให้ไทยเป็นที่แรกในโลกที่โลมาอิรวดีในน้ำจืดจะสูญพันธุ์
ทั้งนี้เพื่อนบางคนของตนอาจบอกว่า ลาวสูญพันธุ์ไปก่อนแล้ว ซึ่งกรณีนี้ ดร.ก้องเกียรติ ผู้เชี่ยวชาญสัตว์ทะเลหายากของไทย อธิบายให้ฟังว่า ประชากรโลมาในแม่น้ำโขงของลาวและกัมพูชา เป็นกลุ่มเดียวกัน ว่ายไปว่ายมา หากเราอนุรักษ์ในกัมพูชาไว้ได้ ในอนาคตยังมีหวังที่โลมาจะกลับเข้าไปในลาว ซึ่งผิดจากทะเลสาบสงขลา ซึ่งเรียกได้ว่าจบแล้ว จบเลย ไม่มีมาจากไหนอีก
ผศ.ดร.ธรณ์ กล่าวด้วยว่า จุดเริ่มต้นของโลมาอิรวดีในพื้นที่แถบนี้ มาจากระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นเรื่อยๆ จนสูงสุดเมื่อ 6 พันปีก่อน โลมาอิรวดี สัตว์เฉพาะเขตอินโดแปซิฟิก หากินตามชายฝั่งไปทั่ว ก่อนมีโลมาฝูงหนึ่งเข้ามาอยู่ในทะเลเหนือแผ่นดินพัทลุง สงขลา
จากนั้นระดับน้ำทะเลเริ่มลดต่ำลง จนทะเลกลายเป็นทะเลสาบ เหลือเพียงช่องแคบๆ ที่ยังเชื่อมต่ออยู่กับทะเลข้างนอก แต่โลมายังมีความสุขอยู่ในทะเลสาบ เพราะที่นี่ไม่มีผู้ล่าลูกๆ ยังมีปลาให้กินเยอะแยะ
ทะเลสาบสงขลาในสมัยก่อนนั้น สมบูรณ์สุดขีด โลมาออกลูกหลานจนเป็นร้อยๆ ตัวจนกระทั่งมนุษย์เข้ามา แต่สมัยก่อนที่ความต้องการยังไม่มาก โลมาและมนุษย์ยังมีความสุขอยู่ร่วมกันได้ แต่เมื่อมีคนจับปลามากขึ้น มีการปล่อยปลาบึกลงในทะเลเพื่อเป็นสัตว์เศรษฐกิจใหม่ ทำให้เครื่องมือประมงเปลี่ยนไป มุ่งหวังจับปลาบึกซึ่งมีขนาดใกล้เคียงกับโลมา ทำให้โลมาที่ไม่เคยรู้จักเครื่องมือชนิดใหม่ หลบไม่เป็น หนีไม่รอด ติดอวนจมน้ำตายเพราะเป็นสัตว์ที่หายใจด้วยปอด
ข้อมูลสถิติบ่งชี้ชัดว่า ก่อนหน้านี้ โลมาตายเฉลี่ยปีละ 4-5 ตัว เมื่อปล่อยปลาบึกในปี พ.ศ.2545-51 ปลาโตให้คนเริ่มจับ
ในช่วงปี 2550-2555 พบมีโลมาตายเฉลี่ยปีละ 10 ตัว หลังจากนั้นจำนวนตายเริ่มลดลง ไม่ใช่เพราะแก้ปัญหาได้แต่เป็นเพราะโลมาลดลงจนไม่มีเหลือให้ตายอีก ยังรวมถึงปัญหาอื่นๆ เช่น ปลาที่เป็นอาหารถูกจับจนเหลือน้อย น้ำตื้นมากขึ้นจากตะกอนที่ไหลมาจากการเปิดหน้าดิน การผสมพันธุ์เลือดชิดเพราะประชากรเหลือน้อยมาก และนำพามาสู่เลข 14
"14 สุดท้าย 14 ก่อนจะไม่มีอะไรเหลือ โลมาที่เคยอาศัยมาตั้งแต่ก่อนยุคผีแมนแห่งแม่ฮ่องสอน ก่อนมนุษย์ในอดีตจะวาดภาพโลมาบนผนังถ้ำในภาคใต้ เหลือเพียง 14สุดท้าย และจะสูญสิ้นไปในรุ่นเรา ตายเหี้ยน หมดสิ้น สูญพันธุ์" ผศ.ดร.ธรณ์ กล่าว
ผศ.ดร.ธรณ์ กล่าวด้วยว่า ตนได้สอบถาม ดร.ก้องเกียรติ ด้วยว่าโลมาจะยังเหลืออยู่ในไทยอีกกี่ปี ได้คำตอบว่าหากโลมาตายปีละ 2 ตัว ก็อาจ 10-15 ปี ถ้าตายปีละ 3 ก็อยู่ที่ 8-10 ปี ถ้าตายปีละ 4-5 ไม่ต้องคิดอะไรอีกแล้ว แต่หากตายเพียงปีละตัว จำนวนอาจเพิ่มขึ้นได้อย่างช้าๆ
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- สปป.ลาว พบ โลมาอิรวดี ตัวสุดท้ายในแม่น้ำโขง ตายแล้ว
- "โลมาอิรวดี" เสี่ยงสูญพันธุ์หลังถูกล่า เหลือไม่ถึง 325 ตัวในอาเซียน
- ช็อก! พบโลมาหัวบาตรเกยหาด สภาพถูกแล่เนื้อเอาไปกิน ซากโยนทิ้งทะเล
Advertisement