สถาบันโรคผิวหนัง เผยสาเหตุของภาวะผมร่วงเกิดขึ้นได้หลายสาเหตุ แต่ทุกสาเหตุสามารถรักษาได้ ผู้ป่วยที่มีภาวะผมร่วงแนะใปรึกษาแพทย์
นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า โดยปกติแล้วเส้นผมของคนเรามีประมาณ 80,000 ถึง 1,200,000 เส้น งอกยาวขึ้นวันละประมาณ 0.35 มิลลิเมตรและมีอายุนาน 2 ถึง 6 ปี โดยปกติคนเราจะมีผมร่วงเป็นประจำทุกวัน แต่ไม่เกินวันละ 30 ถึง 50 เส้น ผมร่วงผิดปกติอาจเกิดจากสาเหตุต่าง ๆ ผู้ป่วยที่มีภาวะผมร่วงแนะนำให้เข้ามาปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อการวินิจฉัยสาเหตุของการเกิดภาวะผมร่วง และวางแผนการรักษาที่ถูกต้อง
1. ผมร่วงจากกรรรมพันธุ์ สามารถพบได้ทั้งชายและหญิง แต่ส่วนใหญ่มักพบในเพศชาย เห็นเป็นเส้นขนอ่อน ๆ ทำให้ผมบริเวณนั้นดูบางลง ส่วนมากจะเป็นบริเวณกลางศีรษะและหน้าผาก
2. ผมผลัด เกิดผมร่วงเนื่องจากผมหยุดเจริญชั่วคราวจากการเจ็บป่วยหรือความเครียดมากๆหรือขาดสารอาหารเช่นเหล็กหรือวิตามินดี ทำให้วงจรชีวิตเส้นผมที่กำลังเจริญมีการหยุดเจริญและหลุดร่วงมากกว่าปกติ
3. ผมร่วงเป็นหย่อม เกิดขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด จะมีอาการผมร่วงเฉพาะที่ บริเวณผมที่ร่วงจะมีลักษณะกลมหรือรี ขอบเขตชัดเจน ตรงกลางไม่มีเส้นผมหนังศีรษะในบริเวณนั้น ไม่แดง ไม่เจ็บ ไม่คัน ไม่เป็นสะเก็ด หรือเป็นขุย
4. ผมร่วงจากการถอน พบได้บ่อยในผู้ใหญ่และเด็กที่มีความเครียดจากสาเหตุต่าง ๆ ผู้ป่วยจะดึงผมตัวเองจนผมแหว่ง หนังศีรษะบริเวณที่ผมร่วงจะไม่มีผื่นคัน หรือเป็นขุย และจะพบเส้นผม ที่เป็นตอสั้น ๆ
5. ผมร่วงจากเชื้อรา โรคเชื้อราที่ศีรษะ กลากที่ศีรษะ อาจพบได้บ่อยในเด็ก เกิดจากการติดเชื้อราโรคนี้ทำให้ผมร่วงเป็นหย่อม ๆ เป็นผื่นแดงคัน และเป็นขุย หรือก้อนอักเสบคล้ายฝี อาจจะมีโรคเชื้อรา (กลาก) ร่วมด้วยหรือไม่ก็ได้
6. ผมร่วงจากการทำผม การม้วนผม ย้อมสีผม ดัดผม เป่าผมหรือวิธีอื่นๆ อาจทำให้มีอาการผมร่วงได้จากการที่มีหนังศีรษะอักเสบ หรือเส้นผมเปราะหัก
7. ผมร่วงจากโรคอื่น ๆ ผู้ป่วยที่มีโรคบางอย่าง เช่น โรคเอสแอลอี ก็อาจมีอาการผมร่วง ผมบาง ร่วมกับอาการไข้เรื้อรัง ปวดตามข้อ มีผื่นปีกผีเสื้อขึ้นที่หน้า โรคผมร่วงบางอย่างอาจมีการอักเสบที่บริเวณสเต็มเซลล์ทำให้เกิดผมร่วงแบบเป็นแผลเป็นซึ่งแผลเป็นจะไม่หาย
1. สังเกตอาการตนเองว่ามีภาวะผมร่วงผิดปกติหรือไม่ เช่น ผมร่วงมากกว่าวันละ 100 เส้น/วัน ถ้ามีอาการผมร่วงผิดปกติ ควรพบแพทย์เพื่อให้การวินิจฉัยและรักษาอย่างถูกต้องตามมาตรฐาน
2. รักษาความสะอาดของเส้นผมและหนังศีรษะอย่างสม่ำเสมอ
3. หลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีหรือความร้อนกับหนังศีรษะมากจนเกินไป
4. ในผู้ที่มีการดัดผมหรือย้อมสีผม ควรมีการบำรุงเส้นผมด้วยครีมนวดผมเพื่อไม่ให้ผมพันกันเกิดผมขาดง่าย
5. ถ้ารู้สึกมีอาการคัน ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรักษา หลีกเลี่ยงการดึงหรือถอนผมเล่น
6. ไม่ควรซื้อยารักษาเองก่อนพบแพทย์เพื่อรับคำวินิจฉัยที่ถูกต้องก่อนรักษา ในรายที่เพิ่งมีอาการผมร่วงที่เป็นมากหรือผมร่วงแบบเป็นแผลเป็น ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
-สาวแพ้น้ำยายืดผม ร่วงทั้งหัวจนต้องโกนทิ้ง ชีวิตพังแต่ร้านปัดรับผิดชอบ
-วิธีการรักษาโรค ผมร่วงเป็นหย่อม แพทย์เผยอาจกลับมาเป็นซ้ำได้
Advertisement