เปิดโครงการประมูลกล้องถ่ายภาพชุดพิเศษ Leica รุ่น M 10-P Limited Edition เฉลิมพระเกียรติ เนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พ.ศ.๒๕๖๒ (เพื่อ ๒๒ องค์กรการกุศล)
ด้วยสังคมไทย สามารถดำรงอยู่ได้ด้วยความมั่นคง เจริญก้าวหน้า มีความสามัคคี และให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน มีมูลนิธิองค์กรการกุศลที่ก่อตั้งขึ้นมาเพื่อสร้างประโยชน์ให้กับสังคมไทยมาอย่างยาวนาน จึงได้เกิดเป็นการผสานความร่วมมือกันระหว่าง 22 มูลนิธิ และองค์กรการกุศลหลักของประเทศ เพื่อร่วมพลังกันสร้างสรรค์ประโยชน์ให้กับสังคม และประเทศชาติ ด้วยการจัด โครงการประมูลกล้องถ่ายภาพชุดพิเศษ Leica รุ่น M 10-P Limited Edition เฉลิมพระเกียรติเนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พ.ศ.๒๕๖๒ (เพื่อ ๒๒ องค์กรการกุศล)
เกี่ยวกับรายละเอียดของโครงการดังกล่าว นายฐาปน สิริวัฒนภักดี ในฐานะประธานกรรมการอำนวยการจัดงาน และอดีตนายกสมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า เนื่องในโอกาสมหามงคล พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช ๒๕๖๒ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ขอร่วมเทิดพระเกียรติ และร่วมเฉลิมฉลองในโอกาสมหามงคลนี้ด้วยการจัดสร้างกล้องถ่ายภาพ Leica รุ่น M 10-P Limited Edition เฉลิมพระเกียรติ เนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พ.ศ.๒๕๖๒ ขึ้นเพื่อเป็นสัญลักษณ์แห่งความจงรักภักดีและด้วยความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้
ซึ่งท่านศาสตราจารย์กิตติคุณศักดา ศิริพันธุ์ราชบัณฑิต ได้เขียนข้อความไว้ในคำนำหนังสือ “กษัตริย์กับกล้อง” ที่ท่านเป็นผู้ประพันธ์ ซึ่งตีพิมพ์เมื่อปี 2547 มีใจความตอนหนึ่งว่า “ข้าพเจ้าได้ตั้งชื่อหนังสือนี้ว่า “กษัตริย์กับกล้อง” เพราะว่าพระมหากษัตริย์ไทยทรงสนพระราชหฤทัยเรื่องการฉายภาพอย่างมาก และเพื่อเทิดพระเกียรติพระมหากษัตริย์ราชวงศ์จักรีตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ที่ทรงวางรากฐาน สนพระราชหฤทัย ทรงพัฒนา ทรงอนุรักษ์ และทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อวงการถ่ายภาพอย่างต่อเนื่องตลอดมาเป็นระยะเวลายาวนานถึง 147 ปีแล้ว”
ข้อความดังกล่าวนับเป็นแรงบันดาลใจสำคัญที่ทำให้บริษัทฯ ตัดสินใจเลือกการจัดทำกล้องถ่ายภาพ Leica รุ่น M 10-P Limited Edition เฉลิมพระเกียรติ เนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พ.ศ.๒๕๖๒ เพื่อร่วมเฉลิมพระเกียรติในโอกาสอันเป็นมหามงคลยิ่งนี้ กล้องถ่ายภาพ Leica เป็นกล้องถ่ายภาพจากเยอรมนีที่มีประวัติความเป็นมายาวนานกว่า 100 ปี และได้รับการการยกย่องว่าเป็นกล้องถ่ายภาพที่สร้างด้วยความประณีต ละเอียดอ่อนประหนึ่งงานศิลปะ ให้คุณภาพของภาพที่คมชัดมีความคงทน มีรูปแบบที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นไม่ซ้ำแบบใคร นับเป็นยอดปรารถนาของคนที่รักการถ่ายภาพอย่างยิ่ง และเป็นที่นิยมของนานาประเทศที่จะจัดสร้างกล้องถ่ายภาพ Leica รุ่นพิเศษเพื่อเป็นที่ระลึกในโอกาสที่สำคัญที่สุด
อาทิ วาระครบรอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของพระมหากษัตริย์ ประเทศต่างๆ หรือโอกาสพิเศษต่าง ๆ ซึ่งมักจะจัดทำในจำนวนที่จำกัดเพื่อให้เป็นของที่ทรงคุณค่า และจารึกไว้ให้เป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ที่สำคัญของโลกที่นักสะสมต่างแสวงหามาครอบครองการจัดทำกล้องถ่ายภาพรุ่นพิเศษนี้บริษัทฯ ได้รับอนุญาตจากคณะอนุกรรมการฝ่ายกลั่นกรองการขอใช้ตราสัญลักษณ์พระราชพิธีบรมราชาภิเษกในคณะกรรมการฝ่ายโครงการและกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ให้เชิญตราสัญลักษณ์ไปประดับบนกล้องได้ โดยได้จัดทำกล้องถ่ายภาพเป็นสองรูปแบบคือชุดสีเหลือง จำนวน 10 ชุด และชุดสีเขียว จำนวน 20 ชุด เพื่อนำส่วนหนึ่ง ขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินี และพระบรมวงศานุวงศ์ตามลำดับ
และอีกส่วนหนึ่งนำออกจำหน่ายเพื่อนำรายได้ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายพระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัว โดยกำหนดราคาชุดสีเหลืองชุดละ 1,500,000 และชุดสีเขียวชุดละ 1,000,000 บาทและเพื่อเป็นการสร้างประโยชน์อันสูงสุดให้แก่สังคมไทย และน้อมนำพระปฐมบรมราชโองการ ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตามพระราชปณิธานในการ สืบสาน รักษา ต่อยอด บริษัทฯ จึงได้ซื้อกล้องถ่ายภาพทั้งหมด และได้นำเงินรายได้จากการนี้ขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
และจะนำกล้องถ่ายภาพจำนวน 22 ชุด มอบให้กับองค์กรการกุศล 22 องค์กร อันประกอบด้วย มูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช / มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ รวมไปถึง ไตรโครงการ ที่ประกอบด้วย 3 มูลนิธิคือ มูลนิธิพัชรสุธาคชานุรักษ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ / มูลนิธิภูบดินทร์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ และ มูลนิธิราชทัณฑ์ปันสุข ทำความดี เพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ และยังพร้อมด้วย มูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย / มูลนิธิทุนการศึกษาพระราชทานสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯ สยามมกุฎราชกุมาร (ม.ท.ศ.) / มูลนิธิชัยพัฒนา / มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ / มูลนิธิสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า / มูลนิธิจุฬาภรณ์ /มูลนิธิ TO BE NUMBER ONE / ศิริราชมูลนิธิ / มูลนิธิรามาธิบดี / มูลนิธิสถาบันโรคไตภูมิราชนครินทร์ / มูลนิธิคณะแพทย์ศาสตร์จุฬาฯ
มูลนิธิโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า / มูลนิธิโรงพยาบาลสวนดอก คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ / มูลนิธิโรงพยาบาลตำรวจ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ / มูลนิธิรัฐบุรุษพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ / องค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) / สถาบันโรคไตแห่งประเทศสิงคโปร์ / มูลนิธิช่วยคนตาบอดแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ และสมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เพื่อร่วมกันจัดการประมูลขึ้นที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ในวันศุกร์ที่ 30 กันยายน 2565 นี้ เพื่อนำรายได้จากการประมูลมอบให้แต่ละองค์กรนำไปสร้างสรรค์ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ของแต่ละองค์กรต่อไปในฐานะตัวแทนองค์กรของคนไทย และประชาชนคนไทยคนหนึ่ง มีความภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่ได้เป็นส่วนเล็กๆ ส่วนหนึ่งที่ได้มีโอกาสเข้าร่วมกับทั้ง 22 องค์กรการกุศล เพื่อร่วมพลังกันสร้างสรรค์ประโยชน์เพื่อความสุขของสังคมโดยรวมและประเทศชาติที่ยั่งยืนสืบไป”
คุณนิติกร กรัยวิเชียร เลขาธิการมูลนิธิส่งเสริมการถ่ายภาพ และอดีตนายกสมาคมถ่ายภาพนายกสมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ให้ข้อมูลว่า “จากปณิธานของ คุณฐาปน สิริวัฒนภักดี มีความประสงค์ที่อยากจัดทำโครงการพิเศษเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเนื่องในโอกาส มหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ซึ่งระยะเวลานั้นได้คิดว่าการจัดทำกล้องถ่ายภาพ Leica รุ่น M 10-P Limited Edition เพื่อเฉลิมฉลองในโอกาสมหามงคล โดยย้อนไป เมื่อปี พ.ศ.2539 ในครั้งที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี ได้เคยมีการจัดทำกล้อง Leica M 6 รุ่นกาญจนาภิเษกขึ้นแล้ว โดยความร่วมมือกันระหว่างสมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยร่วมกับ ธนาคารกสิกรไทย
จึงเป็นที่มาของการจัดทำโครงการครั้งนี้ ซึ่งในช่วงนั้นยังไม่ได้มีการกำหนดพระราชพิธีบรมราชาภิเษกว่าจะมีขึ้นเมื่อไหร่ จึงทำให้ต้องรอเรื่องตราสัญลักษณ์ที่จะออกมารวมไปถึงเรื่องของการขออนุญาตในการจัดทำ แต่ในระหว่างนั้นคุณฐาปน ได้ส่งให้ผมเดินทางไปที่บริษัท Leica ประเทศเยอรมันนี เพื่อไปปรึกษาและหาช่องทางในความเป็นไปได้ในการจัดทำกล้องรุ่นพิเศษนี้ซึ่งเป็นการเตรียมการไว้ก่อน ต่อมาในปี 2562 ได้มีการกำหนดเรื่องของงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกขึ้นในวันที่ 4 พฤษภาคม 2562
ซึ่งทางรัฐบาลได้มีการออกแบบตราสัญลักษณ์เรียบร้อยแล้ว และจัดตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นเพื่อพิจารณาว่าจะใช้ตราสัญลักษณ์อย่างไร ซึ่งทางไทยเบฟ ได้ทำการขออนุญาตคณะกรรมการฝ่ายกลั่นกรองการขอใช้ตราสัญลักษณ์ฯ สำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นที่เราได้รับอนุญาตนำตราสัญลักษณ์มาประดิษฐสถานบนตัวกล้องได้ จากนั้นได้มีการเริ่มต้นที่จะประสานกับบริษัท Leica ในเรื่องของรูปแบบของกล้องที่ต้องการ วัสดุที่ต้องการใช้ รวมไปถึงรายละเอียดต่างๆ และได้เริ่มดำเนินการดังกล่าว
แต่เนื่องด้วยสถานการณ์โควิด-19 จึงทำให้งานโครงการนี้ล่าช้าอย่างมาก เพราะทั้งเรื่องของการผลิตต่าง ๆ และเรื่องของมาตรการของรัฐบาลของประเทศเยอรมันนีที่ปิดโรงงานผลิต ทำให้ไม่สามารถผลิตได้ และพอสถานการณ์เริ่มคลี่คลายก็ยังประสบปัญหาเรื่องวัสดุชิ้นส่วนต่าง ๆ ที่ผลิตมาจากหลายมุมโลกก็ยังส่งออกไม่ได้ ยิ่งทำให้เกิดความล่าช้า เพราะการผลิตด้วยการชุบทองคำแท้เป็นขั้นตอนที่ละเอียดอ่อนและยากมาก ซึ่งกว่าจะผลิตสำเร็จเวลาก็ลุล่วงมาจนถึงปี 2565 และเราก็ได้รับกล้องมา และดำเนินการตามขั้นตอนต่าง ๆ จนกระทั่งมาถึงปัจจุบัน
โดยผู้สนใจร่วมการประมูลสามารถติดต่อและแสดงความเจตจำนงเข้าร่วมได้ที่มูลนิธิทั้ง 22 มูลนิธิ หรือขอ Catalog จาก Christies และกรอกแบบฟอร์ม Written Bid Form ไว้ก่อน พร้อมแจ้งเจตุจำนงค์เข้าร่วมงานประมูลในวันที่ 30 กันยายน ทางทีมงานที่เกี่ยวข้องจะติดต่อท่าน เพื่อเชิญเข้าร่วมการประมูลต่อไป
นายตุลย์ หิรัญญลาวัลย์ นายกสมาคมถ่ายภาพ แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับคุณสมบัติ และความพิเศษของกล้อง Leica รุ่น M 10-P Limited Edition ที่นำมาประมูลในโครงการครั้งนี้ว่า สำหรับกล้อง Leica M 10-P รุ่นบรมราชาภิเษก จัดสร้างทั้งหมดสองแบบ คือ ชุดสองเลนส์ ประกอบด้วย กล้องดิจิตัล Leica M 10-P ชุบทองคำ หุ้มด้วยหนังจระเข้สีเหลือง พร้อมเลนส์ APO Summicron- M 1:2/50 ASPH และเลนส์ Summilux M1:1.4/35 ASPH ผลิตทั้งสิ้น 10 ชุด
และอีกชุดคือ ชุดหนึ่งเลนส์ ประกอบด้วย กล้องดิจิตัล Leica M10-P ชุบทองคำ หุ้มด้วยหนังจระเข้สีเขียว พร้อมเลนส์ Summilux M1:1.4/35 ASPH ผลิตทั้งสิ้น 20 ชุด ส่วนความพิเศษของกล้อง Leica M 10-P รุ่นบรมราชาภิเษกนี้คือ เป็นสีทองคำแท้แบบไม่มันวาว ทั้งชุด กล้อง และเลนส์ทุกตัวมีหมายเลขกำกับ 1/10 ถึงลำดับหมายเลข 10/10 และ 1/20 ถึงลำดับหมายเลข 20/20 ทำให้กล้องชุดนี้มีคุณค่าในเชิงสะสมเนื่องจากมีเพียง 30 ชุดในโลกเท่านั้น เป็นหนังจระเข้ ทำให้แต่ละกล้องมีลวดลายไม่เหมือนกัน มีความเฉพาะตัวสูง รวมถึงสายสะพายกล้องด้วย ซึ่งไม่เคยมีทำจากโรงงานมาก่อน เลนส์ apo 50 ซึ่งทั่วโลกให้การยอมรับว่าเป็นเลนส์ 50 มิลที่ดีที่สุดในโลก แต่อยู่ในเปลือกเลนส์แบบวินเทจหรือที่เรียกกันว่าเวอร์ชั่น1 (v1) มะเฟือง ซึ่งไม่เคยมีการผลิตมาก่อน และเป็นรุ่นm10p การใช้รหัส p จะทำให้กล้องไม่มีโลโก้สีแดง ที่หน้ากล้องซึ่งจะเป็นความชื่นชอบของผู้ที่รักและสะสมกล้องไลก้า”
เรียกว่าเป็นพลังร่วมครั้งสำคัญที่ยิ่งใหญ่ของ 22 มูลนิธิ และองค์กรการกุศล ที่เชิญชวนผู้สนใจ และวงการนักสะสมกล้องมาร่วมกันสร้างสรรค์ และแบ่งปันคุณค่า ร่วมกันทำความดี เพื่อสร้างประโยชน์สุขเพื่อสังคม และประเทศชาติให้ยั่งยืน สืบไป.
Advertisement