สธ. ยกระดับคุมเข้มสถานการณ์อีโบลา หลังองค์การอนามัยโลกแถลงสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัส “อีโบลา”ในทวีปแอฟริกา
วันนี้ (25 ตุลาคม 2565) นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ รักษาราชการอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลาในประเทศทวีปแอฟริกาที่เกิดการระบาดขึ้นตั้งแต่ช่วงเดือนกันยายน 2565 ที่ผ่านมา
ล่าสุดข้อมูล ณ วันที่ 24 ตุลาคม 2565 จากกระทรวงสาธารณสุขประเทศยูกันดาและองค์การอนามัยโลก เผยว่า พบผู้ป่วยติดเชื้อในประเทศยูกันดาหลายเมือง จำนวน 90 ราย และมีผู้ป่วยเสียชีวิตแล้ว 44 ราย อัตราป่วยตาย ร้อยละ 49 ในจำนวนนี้มีเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์และสาธารณสุขติดเชื้อ 11 ราย และเสียชีวิต 5 ราย ซึ่งการระบาดครั้งนี้เป็นการระบาดของไวรัสอีโบลาสายพันธุ์ซูดาน ซึ่งมีความรุนแรงเป็นอันดับสอง (อัตราป่วยตายเฉลี่ยร้อยละ 53) รองมาจากสายพันธุ์ซาอีร์ (อัตราป่วยตายเฉลี่ยร้อยละ 68) ถึงแม้องค์การอนามัยโลก ยังไม่ได้ประกาศ ให้การระบาดครั้งนี้ เป็นภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขระหว่างประเทศ (Public Health Emergency of International Concern: PHEIC) แต่ปกติจะมีการประเมินสถานการณ์ระบาดเป็นระยะ อย่างใกล้ชิด
กรมควบคุมโรคเอง ได้ยกระดับมาตรการป้องกันที่ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศตั้งแต่เดือนกันยายน 2565 ที่ผ่านมา เนื่องจากโรคอีโบลาเป็นโรคติดต่ออันตราย ตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 โดยดำเนินการตรวจคัดกรองผู้เดินทางมาจากประเทศยูกันดา ทุกรายจะต้องได้รับการคัดกรองสุขภาพ และลงทะเบียน ณ ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศก่อนเข้าประเทศไทย
Advertisement