“หมอธีระ” โพสต์ข่าวดี ผลวิจัยสหรัฐฯ 'ยาแพกซ์โลวิด' ลดเสี่ยงลองโควิด แนะยังต้องใช้ชีวิตไม่ประมาท ระหว่างออกนอกบ้าน ไม่ติดเชื้อดีที่สุด
วันที่ 7 พ.ย. 65 รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 169,753 คน ตายเพิ่ม 290 คน รวมแล้วติดไป 637,714,167 คน เสียชีวิตรวม 6,605,515 คน 5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ ญึ่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน ชิลี และฮ่องกง เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 8 ใน 10 อันดับแรก และ 16 ใน 20 อันดับแรกของโลก จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 90.98 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 84.82
…ยา Paxlovid ช่วยลดความเสี่ยง ลองโควิด
Xie Y และคณะ จาก VA Saint Louis Health Care System ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้เผยแพร่ผลการศึกษาใน medRxiv วันที่ 5 พ.ย. ที่ผ่านมา ศึกษาจากฐานข้อมูลประชากร US Department of Veterans Affairs ในประชากรที่ติดเชื้อโรคโควิด-19 ตั้งแต่มี.ค.ถึงมิ.ย. 65 โดยเปรียบเทียบกลุ่มที่ได้รับยาต้านไวรัส Paxlovid จำนวน 9,217 คน กับกลุ่มที่ไม่ได้ยาต้านไวรัส 47,123 คน พบว่ากลุ่มที่ได้ยา Paxlovid นั้นสามารถลดความเสี่ยงที่เกิดปัญหา Long COVID ได้ราวหนึ่งในสี่ (26%)
นอกจากนี้ยังสามารถลดความเสี่ยงที่ป่วยจนต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลหลังจากหายป่วยช่วงแรก (post-acute hospitalization) ได้ราวหนึ่งในสาม (30%) และลดความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตหลังจากหายป่วยช่วงแรก (post-acute death) ได้ราวครึ่งหนึ่ง (48%)
อย่างไรก็ตาม ประชากรในการศึกษานี้ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ ดังนั้นผลข้างต้นในกลุ่มประชากรที่อายุน้อยกว่า 60 ปีอาจยังต้องมีการติดตามศึกษาต่อไปในอนาคต แต่ก็ถือว่าเป็นข่าวดีที่สะท้อนให้เห็นความหวังในการป้องกันภาวะ Long COVID นอกเหนือจากการฉีดวัคซีนที่อาจช่วยได้ระดับหนึ่ง
สำหรับการรักษาผู้ป่วยที่เป็น Long COVID นั้น ยังไม่มียาใดที่ได้รับการพิสูจน์ผลในการรักษาได้ ทาง US NIH กำลังวางแผนวิจัยการใช้ยา Paxlovid ในการรักษาผู้ป่วย แต่จะเริ่มศึกษาตอนต้นปีหน้า กว่าผลจะออกมาคงประมาณปีถัดไป ดังนั้นการป้องกันตนเองอย่างสม่ำเสมอ ใช้ชีวิตไม่ประมาท ลดละเลี่ยงกิจกรรมเสี่ยงและสถานที่เสี่ยง ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นให้ครบตามกำหนด และที่สำคัญมากคือ การใส่หน้ากากอย่างถูกต้องระหว่างออกไปใช้ชีวิตนอกบ้าน ทำงาน ศึกษาเล่าเรียน หรือท่องเที่ยว จะช่วยลดความเสี่ยงลงไปได้มาก ไม่ติดเชื้อ หรือไม่ติดเชื้อซ้ำ ย่อมดีที่สุด จะได้ไม่ต้องทรมาน ทุกข์ใจ ภาวนา หรือรอลุ้นว่าจะเกิดปัญหาตามมาระยะยาวกับตัวเราหรือไม่ ด้วยความปรารถนาดีเสมอ
อ้างอิง Xie Y et al. Nirmatrelvir and the Risk of Post-Acute Sequelae of COVID-19. medRxiv. 5 November 2022.
Advertisement