ฮือฮาทั้งคำชะโนด! งูเขียวมีหงอนโผล่เหนือเศียรปู่ศรีสุทโธ ย่าศรีปทุมมา ชาวบ้านและนักท่องเที่ยวเชื่อเป็นบริวารพญานาค แห่ดูเลขเด็ดเสี่ยงโชค
28 ธ.ค. 65 ผู้สื่อข่าวรายงานจากวังนาคินทร์คำชะโนด อ.บ้านดุง จ.อุดรธานี บริเวณศาลพญานาคราชปู่ศรีสุทโธและย่าศรีปทุมมา เมื่อวานนี้ (27 ธ.ค.) มีนักท่องเที่ยวเดินทางมากราบไหว้ขอพร ขอโชคลาภ เนืองแน่น แต่ที่ทำให้ฮือฮากันยกใหญ่เนื่องจากนักท่องเที่ยวและชาวบ้าน ได้เอามือถือขึ้นมาถ่ายรูป งูเขียวมีหงอนคล้ายพญานาค ที่เกาะบริเวณศีรษะพ่อปู่ศรีสุทโธและแม่ย่าศรีปทุมมาลานบวงสรวง โดยงูตัวนี้ดูมีนิสัยไม่ดุร้าย ดูเชื่องและไม่มีท่าทีจะเกรงกลัวหลบหนีไปไหน ขณะที่นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ได้ส่องหมายเลขที่อยู่บนศาลาของปู่ย่า คือ 929 สำหรับคอหวยมองว่างูเขียวมีหงอนมาอยู่ถูกที่แบบนี้ จึงนำเลขเด็ดไปเสี่ยงดวงลุ้นโชครับปีใหม่กันยกใหญ่
ทั้งนี้คาดว่าจะเป็นงูเขียวมีหงอนที่เคยตกจากต้นไม้ลงมาที่บริเวณหน้าสำนักหมอดูดวงอาจารย์ธเน จนสร้างความฮือฮามาแล้วครั้งหนึ่ง ซึ่งคอหวยได้นำเลขที่งูเขียวตกลงมา คือ 10.39 น. ไปลุ้นโชคงวดวันที่ 16 ธ.ค.65 ต่างพากันรวยถ้วนหน้า
ขณะเดียวกัน ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ภาควิชาชีววิทยาคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ เคยโพสต์ข้อความในแฟนเพจ "อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์" ระบุว่างู rhinoceros ratsnake (ชื่อวิทยาศาสตร์ Gonyosoma boulengeri) หรือ งูหนูแรด หรือ งูแรด หรือ งูจมูกยาวเวียดนาม (Vietnamese longnose snake) เป็นงูที่ไม่มีพิษสปีชีส์หนึ่ง ในวงศ์ Colubridae งูชนิดนี้พบได้ตั้งแต่ทางตอนเหนือของประเทศเวียดนาม ไปจนถึงตอนใต้ของประเทศจีน มันมีส่วนที่ยื่นยาว เด่น มีเกล็ด อยู่บนด้านหน้าของจมูกของมัน เลยทำให้ถูกเรียกชื่อตามลักษณะนอของแรด
ตัวเต็มวัยของงูหนูแรด มีความยาวจรดปลายหาง 100–160 เซนติเมตร ถ้านับจำนวนเกล็ดที่ด้านหลังของส่วนกลางลำตัว จะนับได้ 19 แถว งูหนูแรด มีถิ่นอาศัยในป่าฝนเขตกึ่งร้อน ที่ระดับความสูง 300 ถึง 1,100 เมตร และมักเป็นหุบเขาที่มีลำธาร ปรกติมันจะอยู่บนต้นไม้ และส่วนใหญ่หากินในเวลากลางคืน ล่าหนูตัวเล็กๆ และสัตว์ฟันแทะอื่นๆ นก และสัตว์มี กระดูกสันหลังอื่นๆ ออกลูกเป็นไข่ และมีฤดูจับคู่ผสมพันธุ์ ระหว่างเดือนเมษายนถึงเดือนพฤษภาคม ออกไข่ 5-10 ฟองต่อครั้ง และหละงจากกกไข่ไว้ 60 วัน ก็จะฟักออกมาเป็นลูกงูขนาดยาว 30–35 ซม. สีเทาอมน้ำตาล และมีขอบสีเข้มอยู่บนเกล็ดด้านหลังบางส่วน
จากการศึกษาของนักวิจัยได้บอกว่า ส่วนที่ยื่นออกมาจากจมูกมีไว้สำหรับการผสมพันธุ์ โดยงูตัวผู้อาจจะใช้ต่อสู้กับงูคู่แข่ง แต่การศึกษาอื่นๆ กลับไม่พบความสัมพันธ์ระหว่างการใช้ส่วนยื่นจากจมูกนี้ กับการแสดงออกเวลาสืบพันธุ์ ทำให้ยังคงเป็นปริศนาอยู่ว่า หน้าที่ที่แท้จริงนั้นคืออะไร
Advertisement