วิทยาลัยพยาบาลศาสตร์อัครราชกุมารี ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ แถลงการณ์ กรณีอาจารย์ประจำวิทยาลัยพยาบาลศาสตร์อัครราชกุมารี ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ถูกวิพากย์วิจารณ์ และถูกพาดพิงจากสื่อสังคมออนไลน์เกี่ยวกับการตีพิมพ์ผลงานทางวิชาการ
โดยแถลงการณ์มีใจความว่า จากกรณีที่มีการนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับงานวิจัยและเอกสารทางวิชาการระดับนานาชาติของอาจารย์ประจำท่านหนึ่งของวิทยาลัยพยาบาลศาสตร์อัครราชกุมารี ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ในสื่อหลักและสื่อออนไลน์และมีการวิพากย์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวางนั้น การนี้ คณบดีวิทยาลัยพยาบาลศาสตร์อัครราชกุมารีได้รับทราบจากสื่อออนไลน์แล้วตั้งแต่วันที่ ๒ มกราคม ๒๕๖๖ และมิได้นิ่งนอนใจ เห็นควรว่าต้องหาข้อมูลความกระจ่างในเรื่องนี้เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริง จึงได้ประสานกับอาจารย์ท่านดังกล่าวทันทีเพื่อให้ชี้แจงและทำรายงานรายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องที่เกิดขึ้น
อาจารย์ท่านนี้เป็นอาจารย์ประจำวิทยาลัยพยาบาลศาสตร์อัครราชกุมารี ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ที่ได้รับทุนจากราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ในโครงการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ๙๐ พรรษา เพื่อศึกษาต่อระดับปริญญาเอก ณ ประเทศ สหรัฐอเมริกาตั้งแต่ปี การศึกษา ๒๕๖๒ โดยเรียนสาขาพยาบาลศาสตร์เป็นสาขาหลัก และเรียน Research Methodology เป็นสาขาร่วม มีความสนใจเรื่องการวิจัยเป็นการเฉพาะ
เมื่อพิจารณาจากรายงานดังกล่าวทำให้ได้ข้อมูลเบื้องต้นดังนี้
๑.อาจารย์ทดังกล่าวมีผลงานวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์ทั้งที่เป็นหัวหน้าโครงการ ผู้รับผิดชอบบทความ (corresponding author) และผู้ร่วมนิพนธ์ (co author) จึงทำให้มีจำนวนผลงานที่รับการตีพิมพ์จำนวนมาก
๒.ขณะศึกษาในระดับปริญญาเอก อาจารย์ดังกล่าวได้รับเชิญเป็นบรรณาธิการวิชาการ (Academic Editor) ให้กับสำนักพิมพ์ที่มีชื่อเสียงหลายแห่ง ได้แก่ SAGE Publisher Company, Frontiers, Wiley, PLOS (PLOS ONE) และ Hindawie เป็นต้น
จากการที่ได้รับเชิญให้ทำงานทางวิชาการเช่นนี้ ทำให้มีประสบการณ์ เป็นที่รู้จัก มีผลให้นักวิชาการและนักวิจัยชาวต่างชาติได้รู้จักและประสานงานมาเพื่อให้ร่วมทำงาน โดยขอให้พิจารณาและให้ความเห็นเรื่อง ระเบียบวิธีวิจัย การวิเคราะห์ข้อมูล การอภิปรายผล การตรวจสอบและแก้ไขรายงาน (rewriting, editing) ซึ่งการมีส่วนร่วมเช่นนี้ ในทางปฏิบัติโดยสากล เมื่อมีการปรึกษาทางวิชาการจะมีการใส่ชื่อเป็นผู้ร่วมนิพนธ์ จึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้อาจารย์ท่านนี้มีชื่อในผลงานวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์จำนวนมาก
๓. ผลงานวิจัย ๒ เรื่อง ที่ถูกถอดถอนการตีพิมพ์จากวารสารนานาชาติ Applied Nanoscience ซึ่งเป็นของสำนักพิมพ์ Springer ด้วยเหตุผลที่ว่า บทความวิจัยทั้ง ๒ เรื่องนั้นได้ผ่านกระบวนการ Peer-reviewed และได้รับการพิจารณาจากบรรณาธิการรับเชิญ (Guest Editor)
โดยบทความฉบับที่ ๑ ส่งเมื่อวันที่ ๑๔ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๔ (ค.ศ. ๒๐๒๑) และได้รับการตอบรับให้ตีพิมพ์เมื่อวันที่ ๑๒ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๔ (ค.ศ. ๒๐๒๑) และบทความวิจัยฉบับที่ ๒ ส่งเมื่อวันที่ ๑๕ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๖๔ (ค.ศ. ๒๐๒๑) และได้รับการตอบรับให้ตีพิมพ์เมื่อวันที่ ๙ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๖๔ (ค.ศ. ๒๐๒๑)
โดยทั้ง ๒ บทความนี้ได้รับการเผยแพร่ในรูปแบบของบทความรอตีพิมพ์ (Article in Press) เพื่อรอการจัดตีพิมพ์ในวารสารฉบับสมบูรณ์ (มี Issue และ Volume) ตั้งแต่ปี ๒๕๖๔ โดยสาเหตุการ Retracted ครั้งนี้ คือ บรรณาธิการ (Editor-in-Chief) วินิจฉัยว่า บทความทั้ง ๒ เรื่องไม่อยู่ในขอบเขตของวารสาร Applied Nanoscience และการกระบวนการ Peer-reviewed process ของบรรณาธิการรับเชิญท่านนี้ยังไม่รัดกุมพอ ทำให้มีความเห็นว่าผลงานการวิจัยมีผลต่อความน่าเชื่อถือของผลลัพธ์การวิจัย นอกจากนั้นแล้วยังมีบทความวิจัยจำนวนถึง ๕๑ เรื่อง ที่ได้รับการ review ภายใต้บรรณาธิการรับเชิญท่านเดียวกันนี้ (Guest Editor) ได้ถูกRetracted จากการตีพิมพ์ทั้งหมด (รายชื่อบทความทั้ง ๕๑ เรื่อง ที่ถูก Retracted ดังเอกสารแนบ)
จากข้อมูลเบื้องต้นที่ได้จากรายงานของอาจารย์ท่านดังกล่าว วิทยาลัยพยาบาลศาสตร์อัครราชกุมารี จะหาข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงที่ครอบคลุมอย่างรอบด้านมากยิ่งขึ้น เพื่อประกอบการพิจารณาดำเนินการในลำดับต่อไป
Advertisement