ผู้เชี่ยวชาญเผย เผยแท่งซีเซียมที่หายไปมีปริมาณไม่มาก ความอันตรายต่างจากเหตุการณ์เชอร์โนบิล หลายล้านเท่า ชี้ประชาชนต้องได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง
จากกรณีการหายไปของแท่งซีเซียม-137 ซึ่งพบเบาะแสว่าถูกหลอมละลายรวมกับโลหะอื่นๆ ในจังหวัดปราจีนบุรีจนกลายเป็นฝุ่นโลหะสีแดงฟุ้งอยู่ในระบบปิด จนประชาชนเริ่มตระหนกกับผลที่อาจจะเกิดขึ้นในภายหลังหากเกิดการฟุ้งกระจายออกสู่สิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ยังได้มีการแชร์ข้อมูลเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นในต่างประเทศ เกี่ยวกับอุบัติเหตุของซีเซียม-137 ซึ่งเกิดเป็นตินิวเคลียร์ครั้งใหญ่ จนหวั่นว่าประเทศไทยจะซ้ำรอยหรือไม่
ล่าสุด ผศ.ดร.นภาพงษ์ พงษ์นภางค์ หัวหน้าภาควิชารังสีเทคนิค คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ข้อมูลว่า ซีเซียม-137 เกิดจากปฏิกิริยาทางนิวเคลียร์ ซึ่งถูกนำมาใช้ทั้งทางการแพทย์ สำหรับรักษามะเร็งปากมดลูกและถูกยกเลิกใช้มากว่า 20 แล้ว และทางอุตสาหกรรมสำหรับการวัดระดับ
ค่าครึ่งชีวิต (half life) ของสารกัมมันตรังสี หมายถึง ระยะเวลาที่นิวเคลียสของธาตุกัมมันตรังสีสลายตัวจนเหลือเพียงครึ่งหนึ่งของปริมาณเดิม สำหรับ ซีเซียม ค่าครึ่งชีวิตคือ 30 ปี หมายความว่า ถ้าในวันนี้มีอยู่ 100 ส่วน ในอีก 30 ปี จะเหลือ 50 ส่วน และในอีก 30 จะเหลือ 25 ส่วน สำหรับซีเซียม อาจใช้เวลาประมาณ 300 ปี แต่ว่าไม่ต้องตระหนกเพราะว่ามันขึ้นอยู่กับความแรง ถ้าหากความแรงไม่เยอะก็ไม่ต้องตระหนกอะไร เท่าที่ทราบในข้มูลที่มีอยู่ที่ประมาณ 40 มิลลิคูรี ซึ่งไม่เยอะมาก ผศ.ดร.นภาพงษ์กล่าว
จากข้อมูลที่ทราบ แท่งซีเซียมที่หายไปมีน้ำหนัก 25 กิโลกรัม แต่จากการคำนวณของผู้เชี่ยวชาญน้ำหนักของ ซีเซียม จะอยู่ที่ 0.005 กรัมของซีเซียมที่เป็นตัวแร่ "อย่าเอาปริมาณที่น้อยมากกว่าหนึ่งกรัมเป็นพันๆ เท่าไปเทียบกับตอนที่เชอร์โนบิลระเบิด เนื่องจากตอนที่เกิดเหตุการณ์ เชอร์โนบิล มีซีเซียมถูกปล่อยออกมาถึง 27 กิโลกรัม ความแรงจึงมากกว่าหลายล้านเท่า" ฉะนั้นความตื่นตระหนกของประชาชนเป็นธรรมดา แต่จะต้องได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง เพราะความแรงของรังสีขึ้นอยู่กับปริมาณของรังสีด้วย และอีกสามส่วนคือ อยู่ใกล้แค่อยู่ อยู่กับมันนานแค่ไห และมีอุปกรณ์ป้องกันหรือไม่
สำหรับแท่งซีเซียมที่ถูกใช้อยู่ในวงการอุตสาหกรรมจะถูกหุ้มด้วยตะกั่ว ซึ่ง ป้องกันได้บางส่วน แต่ถ้าหากเกิดการหลอมละลายจะมีฝุ่นฟุ้งกระจาย แต่ต้องมองถึงปริมาณของมันว่ามีเท่าไหร่ เท่าที่มองว่าไม่ได้เยอะมาก แม้จะมีการฟุ้งกระจายออกสู่สิ่งแวดล้อมจริงๆ จะสามารถคำนวณได้ว่า ทิศทางลมไปทางไหน ไม่แหล่งน้ำอะไรบ้าง เมื่อสิ่งแวดล้อมรับเข้าไปจะเกิดอะไรขึ้น แต่เมื่อเทียบกับเหตุการณ์ในเชอร์โนบิลนั้นมีความแตกต่างกันมาก ฉะนั้นเรื่องที่จะกังวลผลของความรุนแรง ผศ.ดร.นภาพงษ์ กล่าวว่า "ไม่น่าจะมี" เนื่องจากปริมาณรังสีที่ถูกปล่อยออกมายังไม่ได้ผ่านการคำนวณสำหรับซีเซียม 40 มิลิคูรี ไม่น่ากังวล
แต่สิ่งที่น่ากังวลคือคนที่อยู่ใกล้กับสารกัมมันตรังสี หรือ ซีเซียม จะได้รับอันตราย เนื่องจากปริมาณของรังสีที่ถูกปล่อยออกมาจะทำปฏิกิริยากับผิวหลังหากอยู่ใกล้ชิด 16-17 ชั่วโมง ผิวจะเริ่มอักเสบ และเลนส์ตาจะขุ่น สำหรับระยะที่ใกล้และอันตรายในกรณีนี้คือ "คนที่ถือ หรือคนที่อยู่ใกล้ จำเป็นต้องเข้าพบแพทย์"
นอกจากนี้ ยังได้กล่าวอีกว่า "เรียนประชาชนไม่ต้องตระหนกตกใจ มันเป็นอุบัติการณ์ที่ทุกคนไม่อยากให้เกิดขึ้น แต่เมื่อมันเกิดขึ้นแล้วทุกคนต้องได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง ประชาชนจะต้องไม่ตระหนกกับข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง เพราะมันอาจจะกลายเป็นเรื่องราวที่ใหญ่โต"
*มิลลิคูรี คือ หน่วยวัดรังสี
Advertisement