"วราวุธ" ยังไม่ขอพูดถึงเรื่องการส่ง พลายศักดิ์สุรินทร์ กลับศรีลังกา ย้ำ สำคัญคือรักษาให้หายก่อน เพราะยังไม่รู้ว่ามีอาการป่วยอะไรบ้าง
วันที่ 2 กรกฎาคม 2566 เมื่อเวลา 14.00 น. ภายหลังจาก เครื่องบินแบบ Ilyushin IL-76 (อิลยูชิน อิล-76) ซึ่งบินออกขึ้นบินจากสนามบินที่ศรีลังกานำ พลายศักดิ์สุรินทร์ มาถึงยังท่าอากาศยานนานาชาติจังหวัดเชียงใหม่ โดยมีนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) พร้อมคณะ เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง มารอต้อนรับที่อาคารคลังสินค้า ท่าอากาศยานนานาชาติจังหวัดเชียงใหม่ รวมถึงข้าราชการประชาชนรอมาชมเครื่องบินที่บรรทุกช้าง
เมื่อช้างเดินทางมาถึงประเทศไทย เจ้าหน้าที่กองคุ้มครองพันธุ์สัตว์ป่าและพืชป่าตามอนุสัญญา (ไซเตส) ของกรมอุทยานแห่งชาติฯ ได้ตรวจสอบเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกับเจ้าที่การท่าอากาศยานเชียงใหม่ เจ้าที่กรมศุลกากร เจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์ ก่อนเคลื่อนย้ายพลายศักดิ์สุรินทร์ต่อไปยังสถาบันคชบาลแห่งชาติ ในพระอุปถัมภ์ฯ จังหวัดลำปาง
สำหรับช้าง พลายศักดิ์สุรินทร์ จะถูกนำตัวส่งไปรักษาอาการบาดเจ็บต่อที่สถาบันคชบาลแห่งชาติ ในพระอุปถัมภ์ฯ จังหวัดลำปาง โดยมีทีมสัตวแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ และควาญช้างของออป. ดูแลอย่างใกล้ชิด ซึ่งตามขั้นตอนจะต้องมีการกักกันโรคภายใน 30 วัน มีการสังเกตอาการของช้างว่ามีสุขภาพแข็งแรง สมบูรณ์ดีพอหรือไม่ ในการปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่ของประเทศไทย
นายวราวุธ กล่าวภายหลังพลายศักดิ์สุรินทร์ถึงสนามบินนานาชาติเชียงใหม่ว่า พลายศักดิ์สุรินทร์เหมือนรู้ดีว่าได้กลับมาประเทศไทย ให้ความร่วมมืออย่างดีตั้งแต่อยู่ศรีลังกา โดยพอเข้าสถาบันคชบาล จ.ลำปาง จะเริ่มการรักษา อย่างไรก็ตาม ระหว่างการเดินทางจาก จ.เชียงใหม่ ไปยังสถาบันคชบาล จ.ลำปาง จะมีทีมงานตามไปดูแล เมื่อถึง จ.ลำปางแล้ว คาดว่าจะไม่มีปัญหาอะไร
สำหรับประเด็นของ พลายศักดิ์สุรินทร์ เมื่อรักษาหายแล้วจะส่งกลับศรีลังกาหรือไม่นั้น นายวราวุธ กล่าวว่า ประเด็นเรื่องส่งกลับเรายังไม่พูดถึงดีกว่า ตอนนี้สำคัญคือรักษาพลายศักดิ์สุรินทร์ให้หายก่อน เพราะวันนี้ยังไม่รู้เลยว่าพลายศักดิ์สุรินทร์มีอาการอะไรบ้าง เพราะบางอาการบาดเจ็บมองจากภายนอกไม่ได้
อย่างไรก็ตาม นายวราวุธฯ ได้กล่าวขอบคุณนายกรัฐมนตรี ที่ได้ให้การสนับสนุนการดำเนินงานในครั้งนี้ ซึ่งการนำช้างพลายศักดิ์สุรินทร์กลับมายังประเทศไทย จนประสบความสำเร็จ เกิดจากความร่วมมือกันของทุกภาคส่วน อันประกอบด้วยสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงโคลัมโบ กระทรวงการต่างประเทศ กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมศุลกากร กระทรวงการคลัง การท่าอากาศยานเชียงใหม่ กระทรวงคมนาคม
เริ่มตั้งแต่เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงโคลัมโบ ได้เข้าเจรจาทางการทูตกับรัฐบาลศรีลังกา เพื่อนำช้างกลับมารักษาอาการบาดเจ็บที่ประเทศไทย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมอุทยานแห่งชาติฯ ได้ขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาล ในการลำเลียงขนส่งช้าง มีการประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในเรื่องของเอกสารสำคัญต่างๆจนเป็นที่เรียบร้อย ก่อนมีการเคลื่อนย้ายช้างออกจากประเทศศรีลังกา กลับมายังประเทศไทย ขอขอบคุณรัฐบาลศรีลังกา ที่ให้ความอนุเคราะห์ส่งช้างกลับมาประเทศไทย และขอขอบคุณพี่น้องประชาชนคนไทยที่ติดตามเรื่องนี้อย่างสนใจ
Advertisement