วันไหว้พระจันทร์ 2566 เปิดประวัติตำนาน ที่มาของวันไหว้พระจันทร์ ตามความเชื่อและเทพปกรณัมของจีน
ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 ตามปฏิทินจันทรคติจีน ตามปฏิทินจันทรคติของจีน ซึ่งในปีนี้ตรงกับวันสูกร์ ที่ 29 กันยายน 2566 เทศกาลวันไหว้พระจันทร์เป็นการเฉลิมฉลองให้กับการเก็บเกี่ยว เนื่องจากลักษณะทางภูมิศาสตร์ของจีน เมื่อเข้าสู่เดือนสารทคือเดือน 7-9 ตามปฏิทินจันทรคติจีน ท้องฟ้าแจ่มใสไร้เมฆฝนอากาศปลอดโปร่ง ดวงจันทร์แจ่มกระจ่าง ประกอบกับเป็นฤดูกาลแห่งการเก็บเกี่ยว เทศกาลนี้แต่โบราณจึงมีลักษณะของการเฉลิมฉลองการเก็บเกี่ยวด้วย ชาวจีนจึงถือเอาวันนี้เป็นวันครอบครัว ในช่วงเวลากลางคืนนั้นทุกคนในครอบครัวจะอยู่พร้อมหน้า พร้อมตาเพื่อร่วมรับประทานขนมเปี๊ยะกับผลไม้ ดื่มน้ำชาพลางชมดวงจันทร์เพื่อเฉลิมฉลองและสนทนาเรื่องทุกข์สุขไปด้วย
ตำนานหนึ่งที่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์จีน เล่าว่า ในอดีตเมื่อครั้งที่ชาวฮั่นถูกปกครองอย่างกดขี่จากชาวมองโกล (ราชวงศ์หยวน) จนได้มีการก่อกบฏขึ้นของชาวฮั่น ด้วยการแอบส่งสาสน์บอกต่อๆ กันในไส้ขนม ความว่า “วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 เมื่อกินขนมเปี๊ยะแล้วให้ก่อการลุกขึ้นสู้พร้อมกัน” อันเป็นที่มาของขนมไหว้พระจันทร์นั่นเอง นำมาซึ่งเอกราชของชาวฮั่น จนกลายเป็นประเพณีการรับประทานและไหว้พระจันทร์ในปัจจุบัน
ตำนานเล่าถึง เทพธิดาแห่งดวงจันทร์ ที่ชื่อ "ฉางเอ๋อ" (嫦娥) ซึ่งเป็นหญิงคนรักของโฮวอี้ นักยิงธนูแห่งสวรรค์ ที่ใช้ธนูยิงดวงอาทิตย์ตกลงไปถึง 9 ดวงจากทั้งหมด 10 ดวง ซึ่งเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนบัญชาสวรรค์ จึงโดนลงทัณฑ์ให้ไปใช้ชีวิตธรรมดาเช่นเดียวกับมนุษย์ทั่วไปบนโลก มนุษย์กับฉางเอ๋อ แต่แล้วโฮวอี้ก็ถูกคนสนิททรยศฆ่าตาย
ส่วนฉางเอ๋อนางได้ดื่มน้ำอมฤตเพื่อที่จะมีชีวิตอมตะ แล้วเหาะกลับไปยังดวงจันทร์อีกครั้งตามลำพัง ด้วยความโศกเศร้า ในยุคของฮั่นเหวินตี้ (漢文帝) แห่งราชวงศ์ฮั่น ได้ทรงพระสุบินว่า พระองค์ลอยขึ้นไป เที่ยวชมพระราชวังบนดวงจันทร์ และได้พบกับฉางเอ๋อกำลังร่ายรำอยู่อย่างงดงาม ในสุบินนั้น พระองค์ทรงเพลิดเพลินและเกษมสำราญเป็นอย่างยิ่ง
กระทั่งเมื่อตื่นพระบรรทมและโปรดให้สุบินนั้นเป็นความจริง จึงมีรับสั่งให้นางสนมแต่งตัวและร่ายรำเลียนแบบเทพธิดาฉางเอ๋อ ที่พระองค์ได้พบเจอมา จนแพร่หลายไปสู่ราษฎรและเป็นประเพณีมา ซึ่งในอดีตชาวจีนโดยเฉพาะหญิงสาวจะสวดขอพรจากฉางเอ๋อ เพื่อขอให้มีความเยาว์วัยและงดงามตลอดไป
ข้อมูลอ้างอิงจาก : ไชนาทาวน์ เยาวราช,สำนักงานการท่องเที่ยวไต้หวัน ประจำกรุงเทพฯ, ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) และ สถาบันภาษามหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ
Advertisement