อย่าโทษเกม เกมจำเลยสังคมของเหตุอาชญากรรมโดยผู้เยาว์
เมื่อเกิดอาชญากรรมจากเด็กและเยาวชน สังคมมักมองไปยังเกมที่เด็กคนนั้นเล่น รวมถึงการดูแลจากผู้ปกครองและความอบอุ่นภายในครอบครัวซึ่งในปัจจุบันยังคงเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ว่าอาชญากรรมนั้นเกิดขึ้นจากการเลียนแบบเกมจริงหรือไม่
ล่าสุดจากเหตุการณ์สลดกลางกรุง เมื่อเด็กชายวัย 14 ปี ซึ่งมีผลการเรียนดี แต่จากข้อมูลระบุว่าติดเกม ได้ก่อเหตุยิงผู้บริสุทธิ์หลายราย โดยผู้ปกครองไม่ทราบมาก่อว่าลูกชายมีอาวุธปืนไว้ในครอบครอง เนื่องจากอาศัยอยู่คนละที่ โดยเด็กชายอาศัยอยู่ลำพังที่คอนโดมิเนียมย่านสาธร จากเหตุการณ์นี้ทำให้โซเชียลลต่างติดแฮชแท็ก #อย่าโทษเกม #อย่าโทษเกมส์
ความจริงแล้ว พฤติกรรมการเลียนแบบของเด็กสามารถเกิดขึ้นได้ตั้งแต่วัยเพียง 2 ขวบเท่านั้น ซึ่งหากเด็กสามารถเลียนแบบสิ่งที่ดีไปได้ ก็ถือเป็นเรื่องที่ดี แต่ในปัจจุบันเด็กสามารถเลียนแบบพฤติกรรมได้จากหลากหลายช่องทาง ทั้งท่าทางและคำพูด อาทิ โทรทัศน์ วิทยุ หนังสือ โดยเฉพาะ “เกม” ที่ตกเป็นจำเลยมาโดยตลอด จนสังคมมองข้ามไปว่าคนที่ประสบความสำเร็จบางคนก็ชอบเล่นเกมเช่นกัน
ไม่ว่าจะ เกม การ์ตูน ละคร ภาพยนตร์ และ ซีรีส์ ทุกอย่างล่วนสร้างขึ้นมาเพื่อสะท้อนความเป็นจริง ซึ่งบางอย่างอาจมีเนื้อหาที่รุนแรง หากเสพซ้ำถี่ ๆ ก็อาจจะก่อให้เกิดการซึมซับพฤติกรรมติดตัวไปได้ แต่อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่เชื่อมโยงว่าเกมเป็นสาเหตุหลักของพฤติกรรมรุนแรง อีกทั้งยังคงมีปัจจัยภายนอกที่กระตุ้นให้เกิดพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรง อาทิ ความผูกพันภายในครอบครัว เพื่อน ชุมชน ที่ทำงาน
ดังนั้นแล้ว ผู้ปกครองจึงเป็นส่วนสำคัญต่อพัฒนาการของเด็ก การเอาใจใส่เด็กและอธิบายให้เด็กเข้าใจต่อสิ่งที่พบเจอเป็นสิ่งสำคัญ เพราะเด็กยังไม่มีวิจารณญาณที่แจะแยกแยะว่าสิ่งไหนควรหรือสิ่งไหนที่ไม่ควร เพื่อให้เด็กโตมาอย่างมีพัฒนาการและพฤติกรรมที่เหมาะสม
Advertisement