รายงานจากกรมควบคุมโรค เผย พบผู้ป่วยโรคฝีดาษวานรเพิ่มขึ้นเป็น 559 ราย ขอให้งดมีเพศสัมพันธ์กับคนแปลกหน้า เพราะติดต่อง่ายเพียงแค่สัมผัสบริเวณตุ่มหนอง หรือสารคัดหลั่งของผู้มีเชื้อ
นายแพทย์ทวีชัย วิษณุโยธิน ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา เปิดเผยว่า จากรายงานของกรมควบคุมโรค ระบุว่า ขณะนี้พบผู้ป่วยโรคฝีดาษวานรเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งโรคฝีดาษวานร เป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง สามารถติดต่อได้ง่ายเพียงแค่สัมผัสบริเวณตุ่ม หนอง หรือสารคัดหลั่งของผู้ติดเชื้อ มีรายงานผู้ป่วยเอชไอวี ติดฝีดาษวานร เสียชีวิต 1 ราย ต้องเน้นย้ำกลุ่มเสี่ยงให้งดมีเพศสัมพันธ์กับคนแปลกหน้า หรือผู้มีอาการสงสัยฝีดาษวานร รวมทั้งให้หลีกเลี่ยงปาร์ตี้ที่มีสารมึนเมาและตามด้วยการมีเพศสัมพันธ์ หากมีอาการสงสัยให้รีบไปพบแพทย์ตรวจรักษาทันที เพื่อป้องกันไม่ให้มีอาการป่วยรุนแรงโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ติดเชื้อเอชไอวี
โดยสถานการณ์โรคฝีดาษวานรในประเทศไทย จากข้อมูลล่าสุดวันที่ 28 ตุลาคม 2566 พบผู้ติดเชื้อ รวม 559 ราย และเสียชีวิต 2 ราย เป็นผู้ป่วยภูมิคุ้มกันบกพร่องชาวไทย 503 ราย และชาวต่างชาติ 52 ราย ไม่ระบุสัญชาติ 4 ราย ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มหลากหลายทางเพศ จำนวน 474 ราย และรู้ว่าติดเชื้อ HIV อีก 274 ราย ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 44.18 ทั้งนี้ กลุ่มอายุที่พบมากที่สุดคือ กลุ่มอายุ 30-39 ปี จำนวน 241 ราย รองลงมาคือกลุ่มอายุ 20-29 ปี จำนวน 172 ราย และมีรายงานผู้ป่วยเอชไอวีติดฝีดาษวานรเสียชีวิต 1 ราย เป็นชายไทย อายุ 24 ปี เป็นผู้ติดเชื้อเอชไอวีและขาดยามา 3 ปี
ในขณะที่เขตสุขภาพที่ 9 มีผู้ป่วยโรคฝีดาษวานรแล้ว 6 ราย ยังไม่มีผู้เสียชีวิต เมื่อแยกเป็นรายจังหวัด พบว่า จังหวัดนครราชสีมา มีผู้ป่วย 2 ราย , จังหวัดบุรีรัมย์ มีผู้ป่วย 2 ราย , จังหวัดชัยภูมิ มีผู้ป่วย 1 ราย และจังหวัดสุรินทร์ มีผู้ป่วย 1 ราย
สำหรับอาการของโรคฝีดาษวานรที่พบบ่อย จะมีผื่นและอาการคัน มีไข้ ปวดกล้ามเนื้อ ต่อมน้ำเหลืองโต หากผู้ป่วยอาการไม่รุนแรง ไม่มีโรคอื่นร่วมด้วย จะรักษาตามอาการ แต่หากมีอาการรุนแรง และมีโรคประจำตัวร่วม เช่น เป็นผู้ติดเชื้อเอชไอวี จะให้ยาต้านไวรัส Tecovirimat (TPOXX) โดยเร็ว ซึ่งผลการรักษาส่วนใหญ่จะอาการดีขึ้น แต่มีบางรายที่ภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องรุนแรงทำให้เสียชีวิต ทางกระทรวงสาธารณสุขได้กระจายยาต้านไวรัสดังกล่าวไปไว้ที่โรงพยาบาลในพื้นที่จังหวัดที่พบการระบาดแล้ว
อย่างไรก็ตาม โรคฝีดาษวานรสามารถป้องกันได้ ด้วยการหลีกเลี่ยงการมีพฤติกรรมเสี่ยงที่จะทำให้การติดเชื้อโรคฝีดาษวานร และงดมีเพศสัมพันธ์กับคนแปลกหน้า เพื่อป้องกันเองและลดการแพร่เชื้อไปยังผู้อื่น รวมถึงไม่สัมผัสใกล้ชิดแนบเนื้อกับผู้ที่มีผื่น ตุ่ม หรือหนอง แนะนำให้ล้างมือบ่อย ๆ ไม่ใช้ของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น และขอความร่วมมือหน่วยงานสาธารณสุขทุกจังหวัด ได้เฝ้าระวังและติดตามกลุ่มเสี่ยง พร้อมทั้งสื่อสารให้ความรู้วิธีการป้องกันโรค หากประชาชนมีข้อสงสัยหรือต้องการคำแนะนำในการปฏิบัติตัวสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422
Advertisement