Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
ย้อนตำนาน ชลอ เกิดเทศ กับคดีเพชรซาอุ

ย้อนตำนาน ชลอ เกิดเทศ กับคดีเพชรซาอุ

23 พ.ย. 66
15:33 น.
แชร์

ย้อนตำนาน ชลอ เกิดเทศ กับคดี เพชรซาอุ


จากกรณี นาย ชลอ เกิดเทศ อดีตนายตำรวจที่เกี่ยวข้องกับ คดีเพชรซาอุ หัวใจล้มเหลวเสียชีวิตอย่างสงบ เมื่อเวลา16.54 น. วันที่ 24 พ.ย. 66 ณ รพ.มหาราช นครราชสีมานั้น

สำหรับประวัติ นาย ชลอ เกิดเทศ เกิด 28 สิงหาคม พ.ศ. 2481 ปัจจุบันอายุ 85 ปี เป็นอดีตนายตำรวจคนดังที่เข้าไปพัวพันกับเรื่องเพชรซาอุ ต่อมากลายเป็นผู้ต้องหาในคดีอุ้มฆ่าแม่ลูก “ศรีธนะขัณฑ์” จากคดีนี้เองทำให้ตัวเขาถูกถอดยศ พล.ต.ท.พร้อมกับถูกเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ทั้งหมด เมื่อวันที่ 5 พ.ย.2553 

ทั้งนี้ นายชลอ ได้พระราชทานอภัยโทษใน พ.ศ.2553 เหลือโทษจำคุกตลอดชีวิต จากนั้นในปี 2554 เหลือโทษจำคุก 50 ปีและใน พ.ศ. 2556 ชลอได้รับการพักโทษและปล่อยตัวออกจากเรือนจำกลางบางขวาง ต่อมาในปี 2560 นายชลอ ได้เข้าพิธีอุปสมบทที่วัดแพร่ธรรมาราม อ.เด่นชัย จ.แพร่ ในวัย 79 ปี ได้นามฉายาว่า “อิสสโร” แปลว่า “ผู้มีอิสระ”  

ส่วนความเกี่ยวข้องกับคดีเพชรซาอุนั้น โดยจุดเริ่มของคดีการขโมยเครื่องเพชรของราชวงศ์ซาอุ โดยลูกจ้างชาวไทยในปี 2532 ซึ่งทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างซาอุดีอาระเบียและไทยเสื่อมลง เป็นเวลามากกว่า 30 ปี ตำรวจสามารถจับกุมผู้กระทำผิดได้อย่างรวดเร็ว แต่ทางการซาอุดีอาระเบียแจ้งว่า เพชรสีน้ำเงินและเครื่องเพชรส่วนใหญ่หายไป ทางการซาอุดีอาระเบีย ส่งข้าราชการเข้ามาสืบสวนเอง แต่ถูกลักพาตัวไม่ก็ลอบฆ่า เรื่องที่อยู่ของเพชร ปัจจุบันและผู้ก่อเหตุฆ่านักการทูตชาวซาอุดีอาระเบียยังเป็นปริศนา ชุดสืบสวนของพลตำรวจโท ชลอ เกิดเทศ ถูกพิพากษาลงโทษในหลายคดี เช่น อุ้มฆ่าภรรยาและลูกของพ่อค้าเพชร และยักยอกของกลาง 

จุดเริ่มต้นที่แท้จริง เกิดจากการที่นายเกรียงไกร เตชะโม่ง ซึ่งเป็นแรงงานชาวไทยที่ได้เดินทางไปทำงานยังประเทศซาอุดีอาระเบีย และถูกจัดให้เข้าไปทำงานเป็นพนักงานทำความสะอาด ภายในพระราชวังของกษัตริย์ซาอุดีอาระเบีย เขาเริ่มการโจรกรรมในวันที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2532 เมื่อนายเกรียงไกร เข้าไปทำงานในพระราชวัง จึงได้เห็นช่องทางในการขโมยเครื่องเพชรดังกล่าว เพราะเครื่องเพชรเหล่านั้นมีจำนวนมากและถูกวางไว้อย่างไม่เป็นที่เป็นทาง แม้แต่ตู้นิรภัยก็ยังถูกเปิดทิ้งเอาไว้ 

นายเกรียงไกร อาศัยช่วงเวลาที่เจ้าชายซาอุ แปรพระราชฐานไปพักผ่อนในแถบทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ในเดือนธันวาคม 2532 ทำการขโมยเครื่องเพชร 91 กิโลกรัม (200 ปอนด์) ซึ่งรวมไปถึงเพชรน้ำเงินกับอัญมณีอื่น ๆ รวม 50 กะรัต โดยแอบนำถุงกระสอบขนาดใหญ่เข้าไปในพระราชวัง ซ่อนตัวอยู่ภายในพระราชวังจนถึงเวลากลางคืน แล้วจึงทำการขโมยเครื่องเพชรใส่ถุงกระสอบแล้วโยนถุงกระสอบลงมาออกนอกกำแพงพระราชวัง เมื่อได้เครื่องเพชรมาแล้ว นายเกรียงไกรใช้วิธีส่งเครื่องเพชรกลับมายังประเทศไทยล่วงหน้า ด้วยบริการขนส่งพัสดุทางอากาศ ปะปนกับเสื้อผ้าและเครื่องใช้ส่วนตัว ซึ่งด่านศุลกากรของทั้งสองประเทศไม่สามารถตรวจพบ เมื่อทำการโจรกรรมเรียบร้อยแล้ว นายเกรียงไกรได้เดินทางกลับประเทศไทยทันที ก่อนที่เจ้าชายซาอุจะเสด็จกลับมายังพระราชวัง ทั้งที่เหลือเวลาทำงานตามสัญญาอีก 2 เดือน 

โดยเครื่องเพชรดังกล่าวถูกนำมายังจังหวัดลำปาง เนื่องจากเครื่องเพชรเหล่านั้นแยกยาก เขาจึงขายมันเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย โดยเครื่องเพชรส่วนใหญ่ถูกขายให้กับช่างทำเพชรพลอยชาวกรุงเทพ สันติ ศรีธนะขัณฑ์ หลังจากนั้นไม่นานรัฐบาลซาอุดีอาระเบีย ประสานมายังรัฐบาลไทย ขอให้ติดตามเครื่องเพชรประจำราชวงศ์ส่งคืน 

อธิบดีกรมตำรวจในสมัยนั้น คือ พลตำรวจเอก ประทิน สันติประภพ มอบหมายให้ผู้รับผิดชอบพื้นที่ในเขตภาคเหนือ พล.ต.ท.ชลอ เกิดเทศ ออกติดตามเครื่องเพชรคืนให้แก่รัฐบาลซาอุดีอาระเบีย หลังจากนั้นเมื่อนายเกรียงไกร ถูกชุดสืบสวนของ พล.ต.ท.ชลอ จับกุมและนำตัวมาสอบสวนจนยอมรับสารภาพ และให้การถึงบุคคลที่รับซื้อเครื่องเพชรไป เนื่องจากเกรงว่าจะถูกจับส่งไปดำเนินคดีที่ซาอุฯ ซึ่งมีโทษเพียงสถานเดียว คือ "แขวนคอ" ทำให้ศาลพิพากษาตัดสินจำคุกนายเกรียงไกร เตชะโม่ง ในข้อหาลักทรัพย์ 7 ปี จำเลยรับสารภาพลดโทษเหลือ 3 ปี 6 เดือน 

ทางการไทยส่งตัวแทนไปคืนเครื่องเพชร แต่ทางการซาอุฯ พบว่าเพชรสีน้ำเงินหายไป และเครื่องเพชรประมาณครึ่งหนึ่งเป็นของปลอม นอกจากนี้ มีข่าวลือในสื่อไทยว่าภาพถ่ายในงานเลี้ยงการกุศลพบว่าภรรยาของข้าราชการหลายคน สวมสร้อยคอเพชรที่คล้ายกับเครื่องเพชรที่ถูกโจรกรรมจากซาอุดีอาระเบีย ทำให้ซาอุฯสงสัยว่าตำรวจไทยยักยอกเครื่องเพชรเอาไว้เอง 

การย้อนรอยตามหาเพชร โดยคณะทำงานของ พล.ต.ท.ชลอ เริ่มต้นที่กลุ่มญาติของ พล.ต.อ.แสวง ธีระสวัสดิ์ อ.ตร. แต่ภายหลังเมื่อมีการตรวจสอบไม่พบว่ามีมูลความจริง นอกจากนี้นักการเมือง ตลอดจนคุณหญิง คุณนาย และ "คนมีสี" หลายคนก็ถูกกล่าวหาว่ามีการจัด "ปาร์ตี้เพชรซาอุ" ในสโมสรแห่งหนึ่ง 

ระหว่างนั้น นายโมฮัมหมัด ซาอิค โคจา อุปทูตซาอุดีอาระเบียประจำประเทศไทย ได้ว่าจ้าง "ชุดสืบสวนพิเศษ" เพื่อแกะรอยอย่างลับๆ ตามหาเครื่องเพชรราชวงศ์แห่งซาอุดีอาระเบีย 

ขณะเดียวกัน Mohammad al-Ruwaili นักธุรกิจชาวซาอุดีอาระเบียที่ใกล้ชิดกับราชวงศ์ซาอุฯ เดินทางมายังกรุงเทพมหานครเพื่อสืบสวนด้วยตนเอง เขาหายสาบสูญไปในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2533 และสันนิษฐานว่าถูกสังหาร ก่อนเขาหายตัวไป นักการทูตชาวซาอุดีอาระเบียก็ถูกฆ่าในย่านสีลม เขตบางรัก เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2533 มีนักการทูตชาวซาอุดีอาระเบียเสียชีวิตเพิ่มอีก 3 คนในย่านยานนาวา 

ซึ่งคดีเหล่านี้ยังไม่ได้ข้อยุติมาจนปัจจุบัน ถึงแม้ไม่มีความเชื่อมโยงว่ารัฐบาลไทยเกี่ยวข้องกับการโจรกรรมเครื่องเพชร แต่ทางการซาอุดีอาระเบียเชื่อว่ารัฐบาลไทยดำเนินการไม่เพียงพอในการไขปริศนาเกี่ยวกับการฆ่านักการทูตซาอุดีอาระเบีย 

มีสมมติฐานหลายประการเกี่ยวกับเหตุการณ์ฆ่าดังกล่าว โมฮัมเหม็ด ซาอิด โคจา (Mohammed Said Khoja) นักการทูตชาวซาอุดีอาระเบีย เชื่อว่ามีนายตำรวจ 18 นาย เกี่ยวข้องกับการหายไปของเพชร และเชื่อว่าตำรวจเป็นผู้ลงมือฆ่านักการทูตชาวซาอุดีอาระเบียสามคน ด้านบันทึกการทูตในปี 2553 จากสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐประจำประเทศไทยที่เผยแพร่โดยวิกิลีกส์ระบุว่า การฆ่าดังกล่าว "แทบแน่นอน" ว่าเป็นส่วนหนึ่งของการบาดหมางระหว่างซาอุดีอาระเบียกับกลุ่มติดอาวุธเลบานอนฮิซบุลลอฮ์ 

พลตำรวจโท ชลอ เกิดเทศ กลับมาทำคดีนี้อีกครั้งหนึ่ง โดยใช้ได้ทุกวิถีทางในการนำเพชรที่เหลือกลับคืนมาให้ได้ จากคำให้การของนายเกรียงไกร ที่บอกว่า ได้โจรกรรมเครื่องเพชรของเจ้าชายฯ  แล้วนำเข้ามาขายในประเทศไทย โดยขายให้สันติ ศรีธนะขัณฑ์ เสี่ยเจ้าของร้านเพชร แต่เขายืนยันว่าคืนให้หมดแล้ว ในปี 2537 ชุดปฏิบัติงานของตำรวจลักพาตัวภรรยาและลูกของสันติเพื่อบีบให้เขาคืนเพชรให้ จนสุดท้ายฆ่าปิดปากทั้งสองโดยจัดฉากให้ดูเหมือนอุบัติเหตุจราจร 

ต่อมาทีมสอบสวนชุดใหม่กลับสืบพบว่าเป็นการอุ้มฆ่า จึงได้ทำการจับกุมตัว พล.ต.ท.ชลอ และลูกน้องทั้ง 9 คน มาดำเนินการทางกฎหมาย พล.ต.ท. ชลอถูกตัดสินว่ามีความผิดฐานออกคำสั่งฆ่าสองแม่ลูกในปี พ.ศ. 2538 และในที่สุดศาลอุทธรณ์ก็ได้พิพากษาให้ประหารชีวิต พล.ต.ท.ชลอ และศาลฎีกาก็ได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2552 ยืนตามศาลอุทธรณ์ให้ประหารชีวิต ต่อมาเขาได้รับการลดโทษเหลือจำคุก 50 ปี ตำรวจอีก 6 นายถูกพิพากษาว่ามีความผิดด้วย และได้รับพระราชทานอภัยโทษในปี 2558 ตำรวจนายหนึ่งในชุดทำงานยังถูกพิพากษาลงโทษฐานยักยอกเงินของกลางในปี 2557 

ในวันที่ 22 มีนาคม 2562 ศาลฎีกาพิพากษาปล่อยตัวนายตำรวจห้านายในคดีลักพาตัวและฆ่านักธุรกิจชาวซาอุดีอาระเบีย Mohammad al-Ruwaili 

ผลจากเรื่องดังกล่าว ซาอุดีอาระเบีย ยกเลิกการตรวจลงตราทำงานให้กับคนไทย และประกาศเตือนคนในประเทศไม่ให้เดินทางมายังกรุงเทพมหานคร ทำให้จำนวนคนงานไทยในซาอุดีอาระเบียลดลงจาก 150,000 คน ในปี พ.ศ. 2532 เหลือเพียง 10,000 คน ในปี พ.ศ.2549 

ความสัมพันธ์ดังกล่าวค่อยกลับมาเป็นปกติในปี 2565 ในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งมีการเยือนระดับผู้นำรัฐบาลครั้งแรกในรอบ 30 ปี หลังการลดความสัมพันธ์มายาวนาน 

กระทั่งนาย ชลอ เกิดเทศ ซึ่งเป็นหนึ่งในตัวละครสำคัญคดีเพชรซาอุฯ มาเสียชีวิตลงในวันนี้ ถือเป็นการปิดตำนานสิงห์เหนือ เจ้าพ่อแห่งคุ้มพระลอโดยสมบูรณ์ แต่ทว่าคดีที่เกี่ยวกับเพชรซาอุฯ ก็ยังมีความคลุมเครือในหลายๆเรื่อง แต่เชื่อว่าเรื่องดังกล่าวก็จะค่อยๆจางหายไปตามกาลเวลา และไม่มีคำตอบเฉกเช่นวันนี้

 

Advertisement

แชร์
ย้อนตำนาน ชลอ เกิดเทศ กับคดีเพชรซาอุ