ประวัติหลวงปู่หา สุภโร (หลวงปู่ไดโนเสาร์) เจ้าอาวาสวัดสักกะวัน เกจิดังเมืองกาฬสินธุ์ ละสังขารอย่างสงบ สิริอายุ 99 ปี
จากกรณีที่ หลวงปู่หา สุภโร หรือ หลวงปู่ไดโนเสาร์ เจ้าอาวาสวัดสักกะวัน (ภูกุ้มข้าว) อดีตรองเจ้าคณะ จ.กาฬสินธุ์ สุดยอดพระอภิญญาผู้เปิดโลกไดโนเสาร์ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้ละสังขารอย่างสงบที่โรงพยาบาลวิชัยยุทธ กรุงเทพฯ สิริอายุ 99 ปี คณะศิษยานุศิษย์ รวมทั้งประชาชนชาว จ.กาฬสินธุ์ ต่างพากันน้อมกราบสักการะถวายความอาลัย
สำหรับหลวงปู่หา หรือ หลวงปู่ไดโนเสาร์ เจ้าอาวาสวัดสักกะวัน (ภูกุ้มข้าว) ต.โนนบุรี อ.สหัสขันธ์ จ.กาฬสินธุ์ และอดีตที่ปรึกษาเจ้าคณะจังหวัดกาฬสินธุ์ พระเถราจารย์ผู้ปฏิบัติตามพระธรรมวินัยอย่างเคร่งครัด ที่ชาวเมืองกาฬสินธุ์และศณะศิษยานุศิษย์ทั่วสารทิศต่างเลื่อมใสศรัทธา มีนามเดิมว่า หา ภูบุตตะ เกิดเมื่อวันศุกร์ที่ 2 ก.ค.2468 ที่บ้านนาเชือก ต.เว่อ อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ อุปสมบทครั้งแรกที่วัดบ้านนาเชือก ซึ่งตั้งอยู่ริมถนนสายปากทาง-เขื่อนลำปาว ก่อนที่วัดดังกล่าวจะย้ายเข้ามาในหมู่บ้าน เนื่องจากมีการก่อสร้างถนนตัดผ่านเลียบคลองชลประทาน
เมื่อปี พ.ศ.2510 ได้พัฒนา วัดสักกะวัน โดยการสร้างอุโบสถ วิหาร และตัดถนนรอบวัดจำนวน 5 สาย รวมทั้งก่อสร้างเมรุเผาศพ ก่อนจะนอนหลับฝันเห็นไดโนเสาร์ตัวใหญ่คอยาวเดินอยู่บริเวณเชิงเขาภูกุ้มข้าว ซึ่งตื่นขึ้นจึงให้ลูกศิษย์ไปตรวจสอบพื้นที่ดังกล่าว ขณะนั้นฝนตกหนัก พื้นดินสูงโดนน้ำเซาะจนเห็นกระดูกชิ้นใหญ่หลายสิบชิ้นกระจัดกระจายอยู่ทั่วไปจึงสั่งให้คนเก็บกระดูกนั้นไว้และส่งข่าวไปยังนายอำเภอเพื่อตรวจสอบ
กระทั่งเมื่อวันที่ 10 ก.ย.2537 เจ้าหน้าที่กรมทรัพยากรธรณีเข้ามาตรวจสอบบริเวณร่องน้ำ ข้างถนนเชิงเขาภูกุ้มข้าว ขุดพบซากฟอสซิลกระดูกไดโนเสาร์ จากการตรวจสอบปรากฏว่าเป็นไดโนเสาร์พันธุ์กินพืชที่ใหญ่และสมบูรณ์ที่สุดเท่าที่มีการค้นพบมา ภายหลังตั้งชื่อว่า อีสานโนซอรัสสิรินธรเน่ และมีการขอขุดค้นเพิ่มเติม ปัจจุบันคือ “อาคารหลุมขุดค้นไดโนเสาร์พระญาณวิสาลเถร” เพื่อเป็นอนุสรณ์
อีกทั้งยังมีการรวบรวมฟอสซิลไดโนเสาร์จากทั่วสารทิศมารวมที่วัดสักกะวัน และก่อสร้างพิพิธภัณฑ์ เพื่อศึกษาเกี่ยวกับสัตว์โลกล้านปี ได้รับพระราชทานนามว่า “พิพิธภัณฑ์สิรินธร” ในปัจจุบัน
Advertisement