ผู้เยาว์ คือ บุคคลที่ถูกจำกัดความสามารถในการใช้สิทธิ อายุเท่าไหร่ จึงจะบรรลุนิติภาวะ และในกรณีใดจึงจะเรียกได้ว่าบรรลุนิติภาวะแล้ว
ผู้เยาว์ คือ บุคคลที่ถูกจำกัดความสามารถในการใช้สิทธิ เพราะเหตุอ่อนอายุ อ่อนประสบการณ์ ยังไม่สามารถช่วยตัวเองได้เป็นอย่างดี จึงต้องอยู่ภายใต้การคุ้มครองช่วยเหลือของบุคคลที่เป็นผู้แทนโดยชอบธรรม ซึ่งได้แก่ บิดา มารดา หรือผู้ปกครอง
ผู้เยาว์จะถูกจำกัดความสามารถในการทำนิติกรรมต่าง ๆ ไว้ โดยหากผู้เยาว์จะทำนิติกรรมใด ๆ จะต้องได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรมก่อน มิฉะนั้นจะตกเป็นโมฆียะ ซึ่งผู้แทนโดยชอบธรรมนั้นโดยปกติก็คือบิดามารดาของผู้เยาว์นั่นเอง ส่วนปู่ย่าตายาย ญาติ หรือผู้ปกครองตามความเป็นจริงนั้นไม่ใช่ผู้แทนโดยชอบธรรมและไม่มีอำนาจให้ความยินยอมผู้เยาว์ในการทำนิติกรรม เว้นแต่บิดามารดาถูกถอนอำนาจปกครองและศาลมีคำสั่งแต่งตั้งให้ปู่ย่าตายาย ญาติ หรือบุคคลอื่นเป็นผู้ปกครองตามกฎหมาย
ทั้งนี้ คำว่า "ผู้เยาว์" จะแตกต่างจากคำว่า "เด็ก" และ "เยาวชน" ซึ่งแต่ละกฎหมายก็กำหนดไว้แตกต่างกันไป เช่นตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก กำหนดนิยามคำว่าเด็กไว้ว่าบุคคลที่มีอายุต่ำกว่าสิบแปดปี ในขณะที่พระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว กลับนิยามคำว่าเด็กไว้ว่าบุคคลที่ยังอายุไม่เกินสิบห้าปี ส่วนเยาวชนคือบุคคลที่อายุเกินสิบห้าปีแล้วแต่ยังไม่ถึงสิบแปดปี
ในหลายประเทศรวมถึงออสเตรเลีย อินเดีย ฟิลิปปินส์ บราซิล โครเอเชียและโคลัมเบีย ผู้เยาว์หมายถึงบุคคลอายุต่ำกว่า 18 ปี ส่วนในสหรัฐอเมริกาซึ่งกำหนดอายุบรรลุนิติภาวะไว้แตกต่างกันไปในแต่ละรัฐ ผู้เยาว์มักหมายถึงผู้มีอายุต่ำกว่า 18 ปี แต่ในบางรัฐอาจหมายถึงผู้มีอายุต่ำกว่า 21 ปีในบางกรณี (เช่นการพนัน การเป็นเจ้าของปืน และการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์) ในทางอาญาคำว่าผู้เยาว์มักกำหนดไว้แตกต่างกันไป ผู้เยาว์อาจถูกดำเนินคดีและได้รับโทษในฐานะเป็นเยาวชน หรืออาจได้รับโทษเหมือนผู้ใหญ่ในความผิดร้ายแรงอย่างยิ่งเช่นฆาตกรรม
ในญี่ปุ่น ไต้หวัน ไทย และเกาหลีใต้ ผู้เยาว์หมายถึงบุคคลผู้มีอายุต่ำกว่า 20 ปี กฎหมายนิวซีแลนด์ก็กำหนดอายุของผู้บรรลุนิติภาวะไว้ 20 ปีเช่นกันแต่ผู้เยาว์ในนิวซีแลนด์สามารถใช้สิทธิส่วนใหญ่ได้ก่อนหน้าที่จะบรรลุนิติภาวะ เช่นเข้าทำสัญญาและทำพินัยกรรมได้ตั้งแต่อายุ 15 ปี
(ที่มา wikipedia)
ผู้เยาว์จะพ้นภาวะผู้เยาว์ และบรรลุนิติภาวะมี 2 กรณี คือ โดยอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ หรือ โดยการสมรส เมื่อชาย และหญิงอายุครบ 17 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป ยกเว้นกรณีมีเหตุอันสมควรจะขออนุญาตต่อศาลให้ทำการสมรสก่อนอายุครบ 17 ปีบริบูรณ์
โดย การนับอายุของบุคคลให้เริ่มนับตั้งแต่วันเกิด ถ้าบุคคลเกิดวันที่ 3 มกราคม 2521 เขาก็จะบรรลุนิติภาวะในเวลา 0 นาฬิกาของวันที่เป็นวันครบรอบวันเกิดคือ 3 มกราคม 2541
“ผู้เยาว์ย่อมบรรลุนิติภาวะเมื่อทำการสมรส หากการสมรสนั้นได้ทำตามบทบัญญัติ มาตรา 1448”
มาตรา 1448 “การสมรสจะทำได้ต่อเมื่อชาย และหญิงมีอายุ 17 ปีบริบูรณ์แล้ว แต่ในกรณีที่มีเหตุอันสมควร ศาลอาจอนุญาตให้การสมรสก่อนนั้นได้
พระราชบัญญัติสถานบริการ พ.ศ. 2509 มาตรา 16 กำหนดว่า ห้ามเจ้าของผับหรือสถานบริการจ้างพนักงานที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์เข้าทำงานในสถานบริการ และ มาตรา 16/1 กำหนดอายุของผู้เข้าใช้บริการในฐานะลูกค้าไว้ว่า “ห้ามมิให้ผู้รับอนุญาตตั้งสถานบริการให้ผู้มีอายุต่ำกว่า 20 ปี บริบูรณเข้าไปในสถานบริการระหว่างเวลาทำการ”
สอดคล้องกับพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 มาตรา 29 กำหนดว่า “ห้ามมิให้ผู้ใดขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้แก่บุคคลซึ่งมีอายุต่ำกว่ายี่สิบปีบริบูรณ์” เจ้าของผับต้องจัดให้มีการตรวจเอกสารราชการ อย่างเช่น บัตรประชาชนก่อนให้ลูกค้าเข้าไปใช้บริการณ์
Advertisement