รอง ผบก.น.6 เดินหน้าสำนวน คดีเยาวชน 14 กราดยิงกลางห้างฯ พารากอนต่อ หลังอัยการตีกลับ ชี้แจ้งข้อหาผิดขั้นตอน
จากกรณีรองโฆษกอัยการสูงสุด เปิดเผยว่า สํานักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีเยาวชนและครอบครัว 3 คืนสํานวนการสอบสวนคดีของ ด.ช.วัย 14 ปี ผู้ต้องหาก่อเหตุเกิดกราดยิงที่ห้างสรรพสินค้าพารากอน เมื่อวันที่ 3 ต.ค. 66 เนื่องจาก ด.ช.รายดังกล่าว ซึ่งอายุไม่เกิน 15 ปี ตกเป็นผู้ต้องหา
พนักงานสอบสวนจึงมีการส่งตัวผู้ต้องหาไปยังสถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ เพื่อตรวจและบําบัดรักษา ซึ่งจากการตรวจสํานวนการสอบสวนปรากฏข้อเท็จจริงว่า พนักงานสอบสวนดำเนินการแจ้งข้อกล่าวหา ในความผิดฐาน ฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน, พยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน, มีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต, พาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาต, ให้มีอาวุธปืนติดตัวและยิงปืนในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุอันควร และสอบสวนคําให้การของผู้ต้องหา ซึ่งเป็นเด็ก โดยไม่ได้รอผลการวินิจฉัยจากแพทย์ เป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากเด็กยังไม่สามารถต่อสู้คดีได้ จึงมีการส่งสำนวนกลับมาให้ทางพนักงานสอบสวนนั้น
ต่อมาวันที่ 29 ธ.ค. 66 พ.ต.อ.จิรพัฒน์ พรหมสิทธิการ รองผู้บังคับการตำรวจนครบาล 6 (รอง ผบก.น.6) เปิดเผยว่า อยู่ระหว่างรอผลวินิจฉัยจากแพทย์เพิ่มเติมว่าเด็กพร้อมจะต่อสู้คดีได้เมื่อไหร่ จึงจะเริ่มมีการสอบปากคำเพิ่มเติมอีกครั้ง และสรุปสำนวนส่งอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งกรณีนี้พนักงานสอบสวนเข้าไปแจ้งข้อกล่าวหาไปแล้วนั้น แพทย์เจ้าของไข้มีการอนุญาตให้เข้าไปสอบปากคำ ด.ช.ผู้ก่อเหตุ ทีมพนักงานสอบสวนจึงเข้าไปสอบปากคำโดยไม่ได้เข้าไปแบบพลการ หรือผิดขั้นตอนแต่อย่างใด ซึ่งมีหนังสือแจ้งมาตั้งแต่เมื่อวันที่ 27 ต.ค.66 ว่าแพทย์อนุญาตให้ไปสอบปากคำและการสอบปากคำ มีทั้งอัยการ 3 คน วิชาชีพและทนายความ ซึ่งเด็กสามารถตอบโต้ได้ทั้งหมด
พ.ต.อ.จิรพัฒน์ กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตามด้านความเห็นแพทย์ก็จะไม่ขอก้าวล่วง แต่ตามความเห็นของพนักงานสอบสวนนั้น ผู้ก่อเหตุสามารถต่อสู้คดีได้ จึงมีการสรุปสำนวนส่งไปให้อัยการ โดยตามข้อเท็จจริงผู้ที่อนุญาต ในการให้ทีมพนักงานสอบสวนเข้าไปสอบปากคำคือแพทย์เจ้าของไข้ แต่นอกจากแพทย์แล้วก็จะมีทีมนักจิตวิทยามาร่วมประเมิน
ส่วนกรณีหากพนักงานสอบสวนยังสอบปากคำและไม่ส่งสำนวนให้อัยการแล้วเสร็จภายในวันที่ 31 ธ.ค.66 อาจจะต้องปล่อยตัวเด็กออกจากสถานที่รักษาตัวนั้น พ.ต.อ.จิรพัฒน์ กล่าวว่า เบื้องต้นในวันนี้ให้ทางพนักงานสอบสวนร่างหนังสือถึงสถาบันกัลยาณที่ตัวผู้ก่อเหตุรักษาตัวอยู่ โดยอาศัยอำนาจตามศูนย์รักษาสุขภาพจิต เพื่อขอให้สถาบันกัลยาณ์รักษาเด็กต่อไปได้ และอาศัยอำนาจตาม ป.วิอาญามาตรา 14 และ พ.ร.บ.สุขภาพจิต มาตรา 36 เนื่องจากเห็นว่า ด.ช.ยังไม่สามารถต่อสู้คดีได้ พนักงานสอบสวนก็ขอให้ทางสถาบันกัลยาณ์ รับตัวเด็กไว้จนกว่าอาการจะทุเลา หรือจนกว่าจะต่อสู้คดีได้ซึ่งเป็นไปตามกฎหมายที่รองรับ
พ.ต.อ.จิรพัฒน์ กล่าวว่า ในส่วนของพยานหลักฐานนั้นพนักงานสอบสวนรวบรวมไว้ได้ทั้งหมดตั้งแต่ต้น ส่วนสาเหตุที่ล่าช้าในช่วงแรกนั้นคือต้องรอรายงานจากสถานพินิจ ซึ่งการสอบปากคำนั้นครบถ้วนแล้วจึงได้มีการสรุปสำนวนส่งไปให้อัยการ โดยวิธีในการสอบปากคำนั้นพนักงานสอบสวนได้นำวิดีโอขณะมีการสอบปากคำ ด.ช.ให้กับแพทย์ดู ซึ่งหลังจากที่แพทย์รายงานมาว่าเด็กไม่สามารถต่อสู้คดีได้นั้น พนักงานสอบสวนจะนำวิดีโอขณะการสอบปากคำให้แพทย์ดู เพื่อให้เห็นว่า ด.ช.มีการตอบคำถามกับทางพนักงานสอบสวนได้เป็นอย่างดี แต่หากเป็นคำถามที่เกี่ยวข้องกับคดี ด.ช.จะบอกว่า “จำไม่ได้” แต่สามารถตอบโต้ประเด็นอื่นได้ ซึ่งตรงนี้ทางแพทย์จึงนำไปประชุมร่วมกับคณะทำงานว่าจะต้องดำเนินการอย่างไรต่อ
พ.ต.อ.จิรพัฒน์ กล่าวด้วยว่า เบื้องต้นในวันที่ 11 ม.ค. 67 ทีมแพทย์ที่รักษาตัวเด็กจะมีการประชุมเพิ่มเติมอีกครั้ง ทำให้ทางพนักงานสอบสวนต้องรอแพทย์สรุปความเห็นเพิ่มเติม จากนั้นหากแพทย์และทีมสหวิชาชีพสรุปมาว่าตัวของ ด.ช.สามารถต่อสู้คดีได้แล้วทางพนักงานสอบสวนจะเดินทางเข้าไปสอบปากคำเพิ่มเติมอีกครั้งต่อไป
Advertisement