ผู้การแต้ม เผย ขั้นตอนการรายงานผู้บังคับบัญชาของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ชี้การกระทำของตำรวจ เข้าข่าย พรบ.อุ้มหาย เพราะเป็นการทรมานเพื่อให้รับสารภาพ
ผู้สื่อข่าวอมรินทร์ได้มีโอกาสพูดคุยกับ พล.ต.ต.วิชัย สังข์ประไพ หรือ ผู้การแต้ม อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ถึงกรณีการทำงานตำรวจในคดีของป้าบัวผัน และการดำเนินคดีตำรวจในความผิด พรบ.อุ้มหาย โดยได้กล่าวถึงประเด็น วิธีการขั้นตอนในการรายงานผู้บังคับบัญชา ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ว่าปกติเวลามีเหตุ จะต้องมีการรายงานผู้บังคับบัญชาอยู่แล้ว ยกตัวอย่างเช่นคดีของป้าบัวผัน ซึ่งถือว่าเป็น คดีอุกฉกรรจ์สะเทือนขวัญ และมีผู้พบศพ ลำดับแรกหลังจากได้รับแจ้งจากประชาชนแล้วคนที่จะไปในพื้นที่จุดเกิดเหตุก็คือ ""สายตรวจ"" ซึ่งต้องไปลงพื้นที่เพื่อรักษาจุดเกิดเหตุ "สายสืบ"" ก็ต้องลงพื้นที่ตรวจสอบว่าศพนั้นเสียชีวิตจากอะไร และมีใครเกี่ยวข้องบ้าง เพื่อหาข่าว ส่วน "ร้อยเวร" นั้นก็ต้องลงไปที่หาข่าวเพื่อสืบสวนสอบสวนหาผู้ที่เกี่ยวข้อง หลังจากนั้นก็ต้องมีการรายงานผู้กำกับตามขั้นตอน และผู้กำกับหากอยู่ในพื้นที่ก็ต้องลงพื้นที่ในการกำกับ คดีดังกล่าว จากนั้นผู้กำกับก็ต้องรายงานไปยังผู้บังคับการ และผู้บังคับการก็จะรายงานให้กับผู้บัญชาการทราบ ซึ่งถ้าคดีไม่มีปัญหาก็จะจบ แค่ผู้บัญชาการแต่ถ้าหากคดีมีความซับซ้อน เป็นเหตุอุกฉกรรจ์โหดเหี้ยม ผู้บัญชาการก็ต้องรายงานไปยัง ผบ.ตร. ตามลำดับ ดังนั้นการรายงานต้องมี ซึ่งจะอ้างว่าไม่ได้รับรายงานนั้น ไม่ได้
ส่วนหากมีใครสักคนในกระบวนการนี้ โกหก เช่นตำรวจชั้นผู้น้อยทำผิดแล้วโกหก จะสามารถตรวจสอบข้อเท็จจริงได้อย่างไรบ้าง
ผู้การแต้มกล่าวว่า ผู้กำกับต้องเป็นผู้นำกลับมาคิดหลังจากที่ได้รับรายงาน เนื่องจากแต่ละฝ่าย จะรายงานเข้ามาไม่ว่าจะเป็น สายตรวจ ร้อยเวร หรือฝ่ายสืบสวนสอบสวน ซึ่งจะต้องมีการรายงานที่สอดคล้องกันเนื่องจากไปดูจุดเกิดเหตุจุดเดียวกันและคดีเดียวกัน หากรายงานไม่ตรงกันตัวของผู้กำกับต้องเอะใจ และพิจารณา วันข้อไหนจริงข้อไหนเท็จ โดยกรณีของป้าบัวผันนั้น ช่วงแรกที่เกิดคดี ทุกคนนั้นพุ่งเป้าไปที่ลุงเปี๊ยก เนื่องจากลุงเปี๊ยกเป็นคนใกล้ชิดกับป้าบัวผัน และสภาพของป้าบัวผัน แรงจูงใจอื่นนั้นไม่มี เช่น ชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์ หรือข่มขืน เพราะมีอย่างเดียวก็คือลุงเปี๊ยกคนใกล้ชิด ซึ่งก็ต้องพุ่งเป้าไปที่ลุงเปี๊ยกว่าเป็นคนก่อเหตุ ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจต้องเชิญตัวมาสอบสวนในฐานะพยานก่อน และหากตอนหลัง มีหลักฐานสมบูรณ์แล้ว ก็สามารถเป็นผู้ต้องหาได้ ซึ่งคดีนี้ที่ผิดพลาด ตนมองว่า อาจจะ อยากปิดคดีโดยเร็วเพราะได้ข้อมูลมา นอกจากนี้ผู้ใหญ่ก็อาจจะไม่รู้ว่าผู้ใต้บังคับบัญชานั้นทำอะไรบ้าง ซึ่งอาจจะมีการปกปิดข้อมูล หรือไม่ให้ข้อมูลจริงถึงพฤติกรรมก่อนที่จะมีการรับสารภาพ
ส่วนกรณีมีการอัดคลิปเสียงหรือบันทึกภาพเพื่อรายงานผู้บังคับบัญชามีการกระทำเป็นปกติหรือไม่ ผู้การแต้ม กล่าวว่า เป็นการกระทำปกติ อย่างเช่นเวลาพูดคุยกับคนอื่น ก็บันทึกเสียงไว้เพื่อเป็นหลักฐาน ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติเพียงแต่ว่าคดีนี้พอเกิดเป็นเรื่องราวขึ้นมาและมีการปล่อยคลิปเสียงทุกคนก็จะมองว่า ที่อัดเสียงมานั้นต้องการจะเอาตัวรอด ตนมองว่าไม่ใช่ และมองว่า คลิปเสียงที่ถูกปล่อยออกมาเป็นการบ่งบอกถึงการทำงานที่ผิดพลาดของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งถือเป็นการรับสารภาพ และเป็นผลดี แสดงให้เห็นถึงการทำงานผิดพลาด และการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจนั้นเป็นอย่างไร
ขณะที่กรณี ลุงเปี๊ยกถูกถุงดำคลุมหัว ถูกจับถอดเสื้อเปิดแอร์ให้หนาวเพื่อให้รับสารภาพเข้าข่าย พรบ.อุ้มหายหรือไม่ ผู้การแต้ม กล่าวว่า จะเข้าข่ายหรือไม่เข้าข่าย พรบ.อุ้มหายนั้น เป็นหน้าที่ของตำรวจ แต่ในทางกฎหมายมีระบุว่า เจ้าหน้าที่รัฐคนใด กระทำการทรมาน ให้ได้มาซึ่งคำรับสารภาพ ซึ่งถือว่าเป็นการทรมาน ดังนั้นต้องกลับย้อนไปดูว่าตัวของ ลุงเปี๊ยก ได้รับการทรมานหรือไม่ การที่มีคนออกมาบอกว่ามีการใช้ถุงดำคลุมหัว มีการบังคับให้ถอดเสื้อตากแอร์ ซึ่งก็ถือว่าเป็นการทรมาน และ เป็นการย่ำยีความเป็นมนุษย์ ซึ่งก็เข้าข่ายกฎหมาย พรบ.อุ้มหาย อีกทั้งการควบคุมตัว กักขัง หรือการกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งที่ทำให้เขานั้นเสียอิสรภาพ หรือแม้กระทั่งแค่คำสั่งว่า ""คุณนั่งอยู่ตรงนี้อย่าไปไหน" นี่ก็คือการควบคุมตัว ดังนั้นทั้งหมดนี้เจ้าหน้าที่ก็ต้องกลับไปคิดว่าสิ่งที่ทำนั้น เป็นสิ่งเหล่านี้หรือไม่ ส่วนกรณี ที่มีเสียง จนท. ออกมาบอกว่า "เป็นการหยอกกัน' ส่วนตรงนี้ต้องไปพิสูจน์กัน อีกครั้ง แต่คลิปเสียงนี้ ก็คือคำรับสารภาพของเจ้าหน้าที่ ว่าคุณนั้นได้ทำจริง
Advertisement