รวบหนุ่ม Grooming เด็ก 17 ลวงมาอนาจาร แอบถ่ายคลิปขายกลุ่มลับ
สืบเนื่องจากกลุ่มงานต่อต้านการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กทางอินเทอร์เน็ต บก.ตอท. ได้รับร้องเรียนจากมูลนิธิ For Freedom International (FFI) ซึ่งเป็นมูลนิธิ ที่ให้การช่วยเหลือและคุ้มครองเด็กที่เป็นเหยื่อจากการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ ว่า พบ บัญชี X (Twitter) มีการประกาศขายสื่อลามกอนาจารเด็ก (CSAM) โดยมีการลงรูปขณะไปรับเด็กจากโรงเรียนแห่งหนึ่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และคลิปขณะกระทำอนาจารเด็ก โดยคิดราคาค่าเข้ากลุ่มลับเพื่อดูสื่อลามกอนาจารเด็ก (CSAM) ในราคา 399 บาท จากการตรวจสอบพบว่าเด็กดังกล่าวมีอายุเพียง 17 ปี
พ.ต.อ.รุ่งเลิศ คันธจันทร์ ผกก.กลุ่มงานต่อต้านการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กทางอินเทอร์เน็ต บก.ตอท. จึงได้สั่งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจในสังกัด ร่วมกันสืบสวนจนทราบว่าผู้จัดการบัญชี X (Twitter) ดังกล่าว คือนายวีรศักดิ์ อายุ 25 ปี อาศัยอยู่ในจังหวัดบุรีรัมย์ จึงได้รวบรวมพยานหลักฐานเพื่อขอหมายค้นต่อศาลจังหวัดบุรีรัมย์
ต่อมาวันที่ 1 ก.พ.67 เวลา 06.00 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจกลุ่มงานต่อต้านการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กทางอินเทอร์เน็ต บก.ตอท. ร่วมกับ ศพดส.ภ.3 และ สภ.เมืองบุรีรัมย์ ได้นำหมายค้นศาลจังหวัดบุรีรัมย์ ขอตรวจค้นบ้านหลังหนึ่ง ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของนายวีรศักดิ์ จึงแสดงตัวเข้าจับกุมในความผิดฐาน “นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ ที่มีลักษณะอันลามกและข้อมูล คอมพิวเตอร์นั้นประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้ ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ” และอยู่ระหว่างรวบรวมพยานหลักฐาน เพื่อแจ้งข้อกล่าวหา
“ค้ามนุษย์ โดยแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ จากการผลิตหรือเผยแพร่สื่อลามกอนาจารเด็ก” พบอุปกรณ์โทรศัพท์มือถือ ติดตั้งแอปพลิเคชั่น X (Twitter) โดยลงชื่อเข้าใช้งานบัญชีที่ประกาศขายคลิปสื่อลามกอนาจารเด็ก (CSAM)
จากการสอบถามผู้ต้องหา ให้การว่า เริ่มต้นจากตนเองเคยเข้าไปดูกลุ่มลับของคนอื่นที่มีการเผยแพร่สื่อลามกอนาจารเด็ก (CSAM) และเห็นว่ามีผู้ติดตามเยอะ คิดว่าตัวเองก็น่าจะทำได้ และเพื่อเป็นการหารายได้ จึงได้เข้าไปจีบเด็กหญิงอายุ 17 ปี ผ่าน Instagram จากนั้นได้ไปรับเด็กที่โรงเรียนหลังจากเด็กเลิกเรียน และพาไปกระทำอนาจาร และยังได้แอบถ่ายคลิปขณะกระทำอนาจารเด็ก เพื่อนำมาลงในกลุ่มลับ เพื่อหารายได้ ซึ่งการกระทำดังกล่าวภาษาอังกฤษ จะเรียกกว่าการ Grooming
Grooming หมายถึงการที่ผู้ใหญ่ใช้วิธีการเข้าหาเด็กหรือเยาวชน เพื่อให้เด็กเชื่อใจและไว้ใจ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหาประโยชน์ทางเพศ ซึ่งการกระทำในตอนแรกอาจจะเป็นการกระทำที่ดูไร้พิษภัย เช่น การเลี้ยงขนม การให้เงิน หรือแม้กระทั่งการนำเด็กไปช่วยเลี้ยงดูสอนหนังสือ แต่อาจนำไปสู่การคุกคามทางเพศได้ การกรูมมิ่งนั้นจะมุ่งเน้นไปที่เด็ก เพราะเด็กจะเป็นกลุ่มที่มีแนวโน้มจะไม่แจ้งความหรือดำเนินการทางกฎหมาย อีกทั้งอาชญากรอาจจะบิดเบือนข้อเท็จจริง ทำให้ผู้ปกครองไม่เชื่อในคำกล่าวอ้างของเด็กด้วย
การ Grooming อาจจะเกิดขึ้นแบบออฟไลน์ และออนไลน์ ซึ่งทั้งสองแบบต่างก็ส่งผลเสียต่อเหยื่อในชีวิตจริง เด็กหรือเยาวชนอาจถูกล่อลวงผ่านทางอินเทอร์เน็ตโดยคนแปลกหน้า หรืออาจเป็นคนที่เด็กรู้จักอยู่แล้ว เช่น สมาชิกในครอบครัว หรือครูอาจารย์ก็มี
อาชญากรเหล่านี้จะใช้หลากหลายช่องทางการติดต่อสื่อสาร อย่างเช่น อีเมล์ ข้อความ ห้องแชท หรือแม้กระทั่งในเกมส์ออนไลน์ เพื่อสร้างความสัมพันธ์และการติดต่อสื่อสารขึ้นมา อาศัยความไร้เดียงสาของเด็กเป็นเครื่องมือในการหลอกลวงโดยการเกลี้ยกล่อม แสดงความสนอกสนใจ รับฟังปัญหา ตลอดไปจนซื้อข้าวซื้อของให้ เพื่อพยายามสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจและละลายพฤติกรรมของเด็ก ต่อมาจึงค่อย ๆ เริ่มบทสนทนาเกี่ยวกับเรื่องเพศ และส่งเนื้อหาเกี่ยวกับเพศสัมพันธ์ จนนำไปสู่การนัดเจอและการคุกคามทางเพศในที่สุด
ซึ่งในต่างประเทศ การ Grooming แม้ว่ายังไม่ถึงขั้นการกระทำอนาจารเด็ก แค่มีการเข้าไปพูดคุยติดต่อ หรือให้เงินให้ของ เพื่อหวังประโยชน์ทางเพศจากเด็กในอนาคตก็ถือว่าเป็นความผิดแล้ว แต่ในประเทศไทย การ Grooming ยังไม่มีความผิด หากยังไม่มีการกระทำอนาจาร ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างผลักดันกฎหมาย Grooming ในประเทศไทย ให้ได้บังคับใช้ เพื่อเป็นการคุ้มครองเด็กก่อนที่เหตุการณ์ไม่ดีจะเกิดขึ้น
Advertisement