สส.พัทลุง ห่วงวิกฤต พะยูนไทย เหตุหญ้าทะเลลดฮวบ สะท้อนวิกฤตโลกร้อน จำนวนพะยูนในตรังลดลงน่าใจหาย หวังรัฐบาลเร่งหามาตรการช่วย
วันที่ 16 มี.ค. 67 นาย ร่มธรรม ขำนุรักษ์ สส.พัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่มีการเผยแพร่ภาพ พะยูนผอมที่เกาะลิบง จ.ตรัง ซึ่งกำลังเป็นที่พูดถึงอย่างมากโดยเฉพาะในโซเชียลว่า เป็นภาพสะท้อนสถานการณ์ของ พะยูนไทยที่อยู่ในขั้นวิกฤตจริง และอาจนำไปสู่การสูญพันธุ์จากประเทศไทยได้ อีกทั้งยังสะท้อนภาพรวมของสถานการณ์สิ่งแวดล้อมทางทะเลไทยด้วย
สาเหตุสำคัญที่สุดตอนนี้คือเรื่องอาหาร นักวิชาการชี้ว่าตอนนี้มีปัจจัยหลักจากเรื่องโลกร้อนและสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลให้น้ำทะเลลดลงทำให้แสงแดดแผดเผาตายไปกว่าครึ่งนอกจากนี้ก็มีเรื่องสารเคมีและตะกอนจากโครงการพัฒนาชายฝั่ง ทำให้หญ้าทะเลซึ่งเป็นอาหารของพะยูนเสื่อมโทรมอย่างรวดเร็ว
"เกาะลิบงและเกาะมุกด์คือแหล่งหญ้าทะเลขนาดใหญ่ ทำให้มีฝูงพะยูนมากที่สุดในแถบนี้ จะเรียกว่าเป็นเมืองหลวงของพะยูนไทยก็ว่าได้ แต่ประชากรสำรวจพะยูนน่าใจหายมาก ที่ตรังจากปีที่แล้ว 194 เหลือ 36 ตัว เฉพาะปี 2567 มีพะยูนตายไปแล้วนับสิบตัวในเวลาเพียง 2 เดือนเท่านั้น"
นายร่มธรรม ระบุเพิ่มเติมว่า การที่ฝูงพะยูดลดจำนวนลงค่อนข้างมาก นอกจากการตาย ส่วนหนึ่งได้อพยพตามแหล่งอาหารไปที่อื่น ขณะที่บางส่วนเริ่มปรากฏตัวตามท่าเรือบ่อยขึ้น ทั้งที่ปกติพวกเขาจะไม่เข้าใกล้คน แต่นั่นเพราะพวกเขาต้องการความช่วยเหลือ อย่างไรก็ตาม ผลที่ตามมาคือพวกเขากลับไปติดเครื่องมือประมงและทำให้ตายหรือบาดเจ็บ เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้อัตราการตายของพะยูนสูงขึ้น
อีกปัญหาที่ไม่ควรมองข้าม คือขยะพลาสติกและอื่นๆที่กลายเป็นขยะทะเล ดังเช่น กรณีของลูกพะยูนมาเรียมและยามีล ที่ลำไส้อุดตันและติดเชื้อตายไปจากการกินขยะพลาสติก ซึ่งไม่ใช่เป็นภัยคุกคามแค่พะยูนเท่านั้น แต่รวมถึงสัตว์ทะเลอีกหลายชนิดด้วย เช่น เต่าทะเลที่มีจำนวนลดลงเช่นกันจากการสำรวจล่าสุด
"หญ้าทะเลและพะยูนมีความสำคัญและสัมพันธ์กันอย่างมากต่อระบบนิเวศใกล้ชายฝั่ง เพราะพะยูนจะทำหน้าที่กระจายเมล็ดพันธุ์หญ้าทะเลจากการกินแล้วถ่ายออก การกิน การเล็มทำให้หญ้าทะเลต้นเล็กๆได้รับแสง แตกกอและเติบโตได้ ซึ่งจะกลายเป็นแหล่งอาศัยของสัตว์น้ำขนาดเล็กและลูกๆของมัน สร้างความอุดมสมบูรณ์ให้ท้องทะเลเสมือนเป็นแหล่งอนุบาล ดังนั้น การหายไปของพะยูนและหญ้าทะเลจึงเป็นสัญญาณเตือนถึงการหายไปของสัตว์ทะเลอื่นๆในอนาคตด้วย
"การดูแลรักษาพะยูนไม่ให้สูญพันธุ์ หญ้าทะเล รวมถึงทรัพยากรทางทะเล เราจึงไม่อาจปล่อยให้เป็นภาระของคนตรังหรือคนใต้ดูแลกันไปตามมีตามเกิดได้ หลายประเทศก็เผชิญเหมือนกัน สะท้อนสถานการณ์วิกฤตภาวะโลกร้อน หรือสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง ขั้นวิกฤต ส่งผลกระทบไปทั่วทุกพื้นที่ ทั้งบนบก และในทะเล ทั้งต่อประชาชน และสิ่งมีชีวิต ที่รัฐบาลต้องให้ความสำคัญในระดับวาระแห่งชาติ ต้องมีการแก้ไขทั้งระบบ และมีมาตรการระยะสั้นและระยะยาว"
Advertisement