ที่ประชุม กพฉ. มีมติลงโทษ โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งใน จ.สมุครสาคร เหตุปฏิเสธผู้ป่วยวิกฤต สั่งปรับ 1 แสนบาท
วันนี้ (25 เมษายน 2567) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 24 เมษายนที่ผ่านมา นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉิน หรือ กพฉ. ครั้งที่ 4/2567 ที่สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) โดยการประชุมครั้งนี้มีการพิจารณาถึงบทลงโทษ จากเหตุการณ์ที่มีโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งใน จ.สมุทรปราการ ปฏิเสธการรับผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตรายหนึ่ง ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ถูกรถชนในบริเวณใกล้เคียง ไปส่งโรงพยาบาลอื่นจนภายหลังตำรวจรายนี้ได้เสียชีวิต
ที่ประชุมคณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉิน หรือ กพฉ. ครั้งที่ 4/2567 ซึ่งมีนายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธาน มีมติว่า การกระทำดังกล่าวเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมายว่าด้วยการแพทย์ฉุกเฉิน จึงมีมติให้ลงโทษปรับทางปกครองในอัตรา 100,000 บาท (หนึ่งแสนบาทถ้วน)
โดยให้เหตุผลว่า ผู้ป่วยรายนี้ เป็นผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต โดยระหว่างการปฏิบัติการฉุกเฉิน หน่วยปฏิบัติการอำนวยการและหน่วยปฏิบัติการแพทย์ได้ปฏิบัติการฉุกเฉิน ตามมาตรฐานการปฏิบัติการฉุกเฉินแล้ว
ดังนั้นเมื่อสถานพยาบาลได้รับการประสานการปฏิบัติการฉุกเฉินจากหน่วยปฏิบัติการอำนวยการเพื่อนำส่งผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต อันเป็นไปตามความจำเป็นและข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ฉุกเฉิน สถานพยาบาลจึงมีหน้าที่ในการตรวจคัดแยกลำดับความฉุกเฉินและจัดให้ผู้ป่วยฉุกเฉินได้รับการปฏิบัติการฉุกเฉินอย่างทันท่วงที และจะต้องปฏิบัติการฉุกเฉินอย่างเต็มขีดความสามารถของสถานพยาบาลนั้น
แต่การปฏิเสธไม่รับรักษาผู้ป่วยฉุกเฉิน โดยการนำสิทธิการรักษาพยาบาลหรือความสามารถในการรับผิดชอบค่าใช้จ่ายของผู้ป่วยฉุกเฉินหรือเงื่อนไขใด ๆ มาปฏิเสธ ไม่ให้ผู้ป่วยรายนี้ ให้ได้รับการปฏิบัติการฉุกเฉินอย่างทันท่วงที จึงเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนหลักการคุ้มครองความปลอดภัยของผู้ป่วยฉุกเฉิน ตามมาตรา 28 และมาตรา 29 (1) แห่งพระราชบัญญัติการแพทย์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2551
ประกอบกับข้อ 3 ของประกาศคณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉิน เรื่อง อำนาจหน้าที่ ขอบเขต ความรับผิดชอบ และข้อจำกัดของสถานพยาบาลในการปฏิบัติการฉุกเฉิน พ.ศ. 2557 และข้อ 5 วรรคหนึ่งของประกาศคณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉิน เรื่อง ข้อกำหนดว่าด้วยสถานพยาบาล พ.ศ. 2554 ซึ่งต้องระวางโทษปรับทางปกครองตามมาตรา 37 แห่งพระราชบัญญัติการแพทย์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2551
และเมื่อพิจารณาจากการกระทำครั้งนี้พบว่าการปฏิบัติการฉุกเฉินโดยการนำส่งผู้ป่วยฉุกเฉินรายนี้มีการประสานการปฏิบัติการฉุกเฉินเพื่อนำส่งถึงสองครั้ง แต่ได้รับการปฏิเสธทั้งสองครั้งและไม่มีการช่วยเหลือเยียวยาให้ผู้ป่วยฉุกเฉินซึ่งอยู่ในสภาพอันตรายใกล้ตายเนื่องจากปัญหาระบบทางเดินหายใจและจำเป็นต้องได้รับการรักษาพยาบาลโดยฉุกเฉินเพื่อให้พ้นจากอันตรายตามมาตรฐานวิชาชีพและอำนาจหน้าที่ของสถานพยาบาล ประกอบกับผู้ป่วยฉุกเฉินรายนี้ได้เสียชีวิตในเวลาต่อมา
โดยการลงโทษปรับทางปกครอง กับโรงพยาบาลเอกชนที่ไม่รับเคสผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตในครั้งนี้ นับว่าเป็นครั้งที่สอง ซึ่งก่อนหน้านี้ กพฉ. แต่เคยมีมติลงโทษปรับ 100,000 บาท ในอัตราที่สูงสูงสุด แก่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง ที่ไม่รับนักท่องเที่ยวชาวไต้หวันที่ถูกรถชนอาการสาหัส และภายหลังได้เสียชีวิต
ซึ่งเป็นการกระทำที่ขัดต่อกฎหมายและนโยบายของนายแพทย์ชนน่าน ที่ต้องการให้ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต ได้รับการรักษาช่วยชีวิตตามมาตรฐานอย่างเร่งด่วน โดยไม่ต้องคำนึงถึงเชื้อชาติ ศาสนา สิทธิการรักษา และความสามารถในการจ่ายค่ารักษาพยาบาล
ทั้งนี้หากประชาชนหรือหน่วยปฏิบัติการพบเหตุการณ์การปฏิเสธผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติในลักษณะนี้สามารถแจ้งมายัง ศูนย์ประสานคุ้มครองสิทธิผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต สพฉ. โทรศัพท์ 0-2872-1669 ได้ตลอดเวลา 24 ชั่วโมง
Advertisement