เปิดอันตรายและโรคที่มากับ "นกพิราบ" หากอยู่ใกล้เสี่ยงอันตรายถึงสมอง
จากข่าวคุณลุงหัวดื้อย่านปากเกร็ด จ.นนทบุรี ถูกกลุ่มเพื่อนบ้านร้องเรียน หลังเจ้าตัวอ้างเป็นคนเมตตาจิตอาสา ให้อาหารนกพิราบกลางหมู่บ้าน กว่า 200 ตัว ในทุกเช้า ทำเอาคนละแวกนั้นเดือดร้อนไปตามๆ กัน หวั่นเกิดอันตรายจากเชื้อโรค อมรินทร์ทีวี จะพาไปรู้จักโรคภัยที่มากับนักพิราบ ว่ามันอันตรา มากน้อยแค่ไหน?
ข้อมูลจากกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เผยว่า โรคจากนกพิราบ หรือ โรคคริปโตคอกโคสิส (Cryptococcosis) เป็น "เชื้อรา" ชนิดหนึ่งที่พบในอุจจาระของนก โดยเฉพาะนกพิราบ มักก่อโรคให้กับแมว และคนที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง ป่วยออดๆ แอดๆ เช่น ผู้ป่วยเอชไอวี (HIV) หรือผู้ที่เคยปลูกถ่ายอวัยวะ รวมถึงผู้ที่กินยากดภูมิคุ้มกัน เป็นต้น
การติดต่อ เกิดจากการหายใจเอาเอาละอองเชื้อราเข้าสู่ร่างกาย ทำให้ติดเชื้อที่ปอดและสมองได้
ส่วนอาการ หากติดเชื้อที่ปอด จะมีอาการไอ หายใจไม่เต็มอิ่ม เจ็บบริเวณหน้าอก และมีไข้ แต่หากติดเชื้อที่สมอง หรือระบบปราสาทส่วนกลาง จะปวดหัว มีไข้ ปวดคอ คลื่นไส้อาเจียน มีความไวต่อแสง รู้สึกสับสน หรือมีพฤติกรรมเปลี่ยนแปลง จากภาวะเยื่อหุ้มสมองอักเสบ
สำหรับวิธีการป้องกัน มี 3 วิธี
1. หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้บริเวณที่มีฝูงนก หรืออุจจาระของนก
2. สวมหน้ากากอนามัยหรือถุงมือทุกครั้ง ขณะทำความสะอาดบริเวณที่มีอุจจาระนก
3. ล้างมือให้สะอาด หลังทำกิจกรรมที่ใกล้ชิดกับนก หรืออุจจาระของนก
เมื่อรู้อย่างนี้แล้ว การอยู่ห่างไกลจากนกพิราบไว้ จะถือเป็นการดีที่สุด ทำให้เราห่างไกลจากเชื้อโรคได้ด้วยนะครับ ขอบคุณข้อมูลดีๆ จากกลุ่มงานโรคติดต่อระหว่างสัตว์และคน กองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข
Advertisement