Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
การพยากรณ์และบริหารจัดการน้ำต้องมาคู่กัน ความท้าทายรับมือน้ำในภาวะภูมิอากาศแปรปรวน

การพยากรณ์และบริหารจัดการน้ำต้องมาคู่กัน ความท้าทายรับมือน้ำในภาวะภูมิอากาศแปรปรวน

17 พ.ค. 67
12:50 น.
|
345
แชร์

"ชี้ชะตาสถานการณ์นํ้าประเทศไทย 2024 ในภาวะภูมิอากาศแปรปรวน" การพยากรณ์และการบริหารจัดการน้ำต้องมาควบคู่กัน

งานเสวนาวิชาการ "ชี้ชะตาสถานการณ์นํ้าประเทศไทย 2024 ในภาวะภูมิอากาศแปรปรวน" ซึ่งกรมชลประทานร่วมกับสมาคมนักอุทกวิทยาไทย จัดขึ้นที่สถาบันพัฒนาการชลประทาน อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี เมื่อวันที่ 17 พ.ค. ที่ผ่านมา นายสมชาย ใบม่วง อดีตรองอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา และผู้เชี่ยวชาญด้านอุตุ-อุทกวิทยา เผยว่า ในปีนี้สภาพภูมิอากาศจะใกล้เคียงปี 2559 ที่มีพายุเข้าไทย 2 ลูก เฉียดไทยอีก 4 ลูก ทำให้มีฝนมีปริมาณมาก ตกดีตั้งแต่ต้นฤดูฝน ตกต่อเนื่อง และมีภาวะฝนทิ้งช่วงเล็กน้อย ส่วนคำถามที่ว่าปรากฏการณ์ "ลานีญา" อยู่ยาวหรือไม่ ก็อาจอยู่ได้ถึงเกือบสิ้นปีหน้า และอาจมีฝนตกต่อเนื่องอีกด้วย

ด้าน นายสุทัศน์ วีสกุล ที่ปรึกษาผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรนํ้า และที่ปรึกษาสมาคมนักอุทกวิทยาไทย กล่าวว่า ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า เมื่อเกิดภาวะ "ลานีญา" ไม่ได้ทำให้ฝนตกมากเสมอไป และบางโอกาส "เอลนีโญ" ก็ไม่ได้ทำให้ฝนตกน้อยเสมอไป เช่นเมื่อปี 2549 ที่เกิดภาวะเอลนีโญอ่อน แต่มีน้ำท่วมมาก น้ำท่วมใหญ่อยู่ในช่วงเกิดลานีญาปานกลาง เป็นต้น ดังนั้น จำเป็นที่จะต้องเข้าใจสภาพอากาศของไทยมากขึ้น ว่าดัชนีไหนมีผลต่อสภาพอากาศบ้านเรา

ทั้งนี้ เมื่อปี 2566 ภาคใต้มีปริมาณฝนมาก โดยเกิดปรากฎการณ์ "เอลนีโญ" ตั้งแต่ช่วงเดือน ก.ย. - ต.ค. มีฝนตกหนักถึงหนักมากหลายพื้นที่ สิ่งที่พบคือ ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้มีกำลังแรง นอกจากนี้ ยังคาดการณ์ปริมาณฝนในปี 2567 ใกล้เคียงตัวเลขในปี 2549 กล่าวคือ ครึ่งปีแรกฝนน้อย ครึ่งปีหลัง มิ.ย. - ก.ค. ฝนมากขึ้น พอมา ส.ค. ฝนเริ่มทิ้งช่วง

02336

ส่วน นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรนํ้าแห่งชาติ เผยว่า ปีนี้มีแนวโน้มเกิดภาวะ "ลานีญา" สำนักงานทรัพยากรนํ้าแห่งชาติได้เสนอแผนไปยังรัฐบาลตั้งแต่เดือน มี.ค. ที่ผ่านมา ทั้งในเรื่องของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ปริมาณฝนตกมากในระยะสั้น แผนบริหารจัดการอุปโภค ด้านการผลิต การป้องกันบรรเทาอุทกภัย และการฟื้นฟูระบบนิเวศทรัพยากรน้ำ

นอกจากนี้ ยังมี 10 มาตรการรับมือฝน โดยข้อมูลคาดการณ์พบว่า ช่วงเดือน ส.ค. - ก.ย. แนวโน้มเกิดฝนมากกว่าปกติ ดังนี้

1. คาดการณ์ชี้เป้าพื้นที่เสี่ยง แจ้งเตือน พื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม และพื้นที่ฝนทิ้งช่วง
2. ทบทวน ปรับปรุงเกณฑ์บริหารจัดการน้ำในแหล่งน้ำ อาคารควบคุม ในระบบลุ่มน้ำ และกลุ่มลุ่มน้ำ
3. เตรียมความพร้อมเครื่องมือ อาคารชลศาสตร์ ระบบระบายน้ำ โทรมาตร บุคลากรประจำพื้นที่เสี่ยง และศูนย์อพยพ
4. ตรวจสอบ ติดตามความมั่นคงของคันกั้นน้ำ ทำนบ พนังกั้นน้ำ
5. เพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำอย่างเป็นระบบ
6. ซักซ้อมแผนเผชิญเหตุ ตั้งศูนย์ล่วงหน้า และฟื้นฟูสภาพให้กลับสู่สภาวะปกติ
7. เร่งพัฒนาและกักเก็บน้ำในแหล่งน้ำทุกประเภทช่วงปลายฤดูฝน
8. สร้างความเข้มแข็งเครือข่ายภาคประชาชน
9. การสร้างการรับรู้ โดยศูยบ์บริการข้อมูลและประชาสัมพันธ์
10. ติดตามประเมินผล ปรับมาตรการให้สอดคล้องกับสถานการณ์

ด้าน นายธเนศร์ สมบูรณ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการนํ้าและอุทกวิทยา กรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทานมีเขื่อนในความรับผิดชอบ 25 แห่ง นอกจากนั้นอีก 10 แห่งอยู่ในความรับผิดชอบของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย นายธเนศร์ ระบุว่า ฝนตกเยอะ ไม่ใช่ว่าน้ำในเขื่อนจะเยอะ ฉะนั้นแล้วการพยากรณ์และการบริหารจัดการต้องมาควบคู่กัน ถือเป็นความท้าทายในการจัดการน้ำเขื่อนใหญ่ ซึ่งต้องอาศัยหลักทางวิศวกรรม เชิงรัฐศาสตร์ และยังมีหลักนิติศาสตร์อีกด้วย เพราะสมัยเมื่อปี 2564 กรมชลประทานระบายน้ำเข้าทุ่งได้ แต่ปัจจุบันทำไมได้ เพราะมีการฟ้องร้องจากเอกชน ปัจจุบันถูกฟ้องกว่า 400 คดีแล้ว

นายธเนศร์ เน้นย้ำ ความพร้อมการเตรียมการในช่วงฤดูฝน "เรามีความมั่นใจว่าการสำรองน้ำในช่วงต้นฤดูฝน มีเพียงพอ เราจะใช้เครื่องมือที่มีอยู่เกิดประสิทธิภาพแน่นอน"

ขณะ ผศ.พงษ์ศักดิ์ สุทธินนท์ ภาควิชาวิศวกรรมแหล่งนํ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และกรรมการสมาคมนักอุทกวิทยาไทย แสดงความเป็นห่วงสำหรับประชาชนกลุ่มเปราะบางในพื้นที่ที่เกิดน้ำท่วม ว่าจะเข้าถึงการช่วยเหลืออย่างไร ซึ่งตามข้อมูลวิชาการระบุว่า ครึ่งปีหลัง 2567 จะมีฝนมาก ห่วงประชาชนจะได้รับผลกระทบอะไรบ้าง แน่นอนกลุ่มคนเปราะบางจะอยู่อย่างไร บางกลุ่มเมื่อเกิดเหตุการณ์น้ำท่วม จะไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนภาครัฐได้

ในช่วงท้ายของการเสวนา มีข้อคำถามจากเกษตรกรชาวสวน ว่า หากเกิดฝนตกหนัก หรือพายุถล่ม ลูกเห็บตก จะสามารถติดตามประกาศหรือข่าวสารจากหน่วยงานไหน นายสมชาย ใบม่วง ระบุว่า ต้องติดตามข้อมูลข่าวสารจากกรมอุตุนิยมวิทยา เพราะโดยปกติกรมอุตุนิยมวิทยาจะออกประกาศตั้งแต่ล่วงหน้า และจะมีพยากรณ์อากาศในทุกๆ วัน หากเกิดข้อสงสัยสามารถเปิดดูเรดาร์ฝนเรีบลไทม์บนเว็บไซต์ของกรมอุตุนิยมวิทยาได้ทันที เพราะข้อมูลจะอัปเดตทุก 25-30 นาที

 

Advertisement

แชร์
การพยากรณ์และบริหารจัดการน้ำต้องมาคู่กัน ความท้าทายรับมือน้ำในภาวะภูมิอากาศแปรปรวน