นักโบราณคดี หนึ่งในคณะติดตามวัตถุโบราณ โกลเด้นบอย ระบุไม่มีหลักฐานยืนยันว่า โกลเด้นบอย ประดับเพชร ตามที่ชาวบ้านอ้างถึง
ภายหลังจากเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2567 ที่ผ่านมา โบราณวัตถุสำคัญ 2 ชิ้นจากพิพิธภัณฑ์ศิลปะ The Metropolitan Museum of Art (The MET) รัฐนิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา ถูกส่งกลับคืนสู่ประเทศไทย โดยประกอบด้วย "โกลเด้น บอย" (Golden Boy) ประติมากรรมสำริดกะไหล่ทองทั้งองค์ และประติมากรรมสตรีนั่งชันเข่าพนมมือ โดยมีพิธีส่งมอบอย่างเป็นทางการในวันนี้ (21 พ.ค.)
อย่างไรก็ตาม มีประเด็นที่น่าสนใจเกิดขึ้นเมื่อ นางนิล เป็ดสกุล อายุ 69 ปี ชาว ต.ตาจง อ.ละหานทราย จ.บุรีรัมย์ ซึ่งเป็นหนึ่งในสมาชิกครอบครัวที่ขุดพบ "โกลเด้น บอย" ได้ออกมาเปิดเผยว่า ในช่วงที่ขุดพบโกลเด้น บอย ครั้งแรกนั้น ตัวประติมากรรมมาพร้อมกับเครื่องประดับเพชร 5 ชิ้น ได้แก่ มงกุฎเพชร, ลูกตาเพชร, สร้อยสังวาลเพชรนิล, กำไลแขนเพชร และเข็มขัดเพชรและนิล แต่เมื่อได้รับคืนโบราณวัตถุเหล่านี้กลับมา เครื่องประดับทั้งหมดกลับหายไป
ล่าสุด วันนี้ (21 พฤษภาคม 2567) ดร.ทนงค์ศักดิ์ หาญวงษ์ นักวิชาการอิสระด้านโบราณคดี และหนึ่งในคณะกรรมการติดตามโบราณวัตถุของไทยในต่างประเทศ กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ทางคณะทำงานไม่เคยมีข้อมูลเกี่ยวกับเครื่องประดับเพชรที่นางนิลกล่าวถึงมาก่อน ไม่มีหลักฐานทางด้านโบราณคดีหรือบันทึกใดๆ ที่ยืนยันถึงการมีอยู่ของเครื่องประดับเหล่านี้ การที่ชาวบ้านบางกลุ่มออกมาพูดถึงเครื่องประดับเหล่านี้จึงเป็นเพียงเรื่องเล่า ไม่มีหลักฐานทางวิชาการยืนยัน ต่างจากเรื่องเล่าเกี่ยวกับองค์โกลเด้นบอยที่ชาวบ้านทุกคนรับรู้และเล่ามาเหมือนกัน
อย่างไรก็ตาม ดร.ทนงค์ศักดิ์ฯ ระบุว่า จากการศึกษาวิจัยของสำนักศิลปากรที่ 10 นครราชสีมา พบว่าโบราณวัตถุเขมรโบราณมีเครื่องประดับทองติดมากับองค์ประติมากรรมจริง โดยมีการจัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติพิมาย และในหนังสือ "ขแมร์โกลด์" ของดักลาส แลตช์ฟอร์ด (Douglas A.J. Latchford) นายหน้าค้าโบราณวัตถุ ที่เคยมีส่วนเกี่ยวข้องกับการนำโกลเด้น บอย ออกนอกประเทศ ก็มีการกล่าวถึงเครื่องประดับทองหลายชิ้นติดมากับประติมากรรมเขมรโบราณ โดยลูกสาวของนายดักลาสฯ ก็ได้ส่งมอบเครื่องประดับเหล่านี้คืนให้กับรัฐบาลกัมพูชาไปหลายชิ้นแล้ว
จากหลักฐานเหล่านี้บ่งชี้ว่าเครื่องประดับทอง เพชร พลอย ที่ติดตามองค์ประติมากรรมเขมรโบราณเคยมีอยู่จริง แต่ยังไม่มีหลักฐานที่ระบุถึงเครื่องประดับที่ติดมากับ "โกลเด้น บอย" โดยเฉพาะ ดร.ทนงค์ศักดิ์ฯ ยังอธิบายเพิ่มเติมว่า ร่องรอยบนองค์ประติมากรรมโกลเด้น บอย ไม่มีเครื่องประดับแยกส่วน ซึ่งส่วนใหญ่จะหล่อเครื่องประดับต่างๆ ติดกับตัวประติมากรรมเลย เช่น มงกุฎ, สร้อยคอ, กำไลแขน, กำไลข้อมือ และกำไลข้อเท้า ดังนั้น เบื้องต้นจึงสันนิษฐานว่าองค์โกลเด้น บอย อาจเป็นประติมากรรมที่มีเครื่องประดับติดองค์มาตั้งแต่แรก
อย่างไรก็ตาม ทางคณะทำงานยังไม่ทิ้งประเด็นเรื่องเครื่องประดับที่หายไป และจะทำการสืบค้นหาข้อมูลและหลักฐานเพิ่มเติมต่อไปเพื่อหาคำตอบที่ชัดเจน.
Advertisement