กรมราชทัณฑ์ แจงให้ไฟล์ภาพวงจรปิด บุ้ง ทะลุวัง ไม่ได้ หวั่นกระทบสิทธิ เสี่ยงหลุดในโซเชียล
กรมราชทัณฑ์ แจง กรณีทนายความขอรับข้อมูลภาพที่บันทึกได้จากกล้องวงจรปิด ระบุว่า วันที่ 24 พฤษภาคม 2567 ตามที่นายกฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความ หรือทนายด่าง และนางสาววีรดา คงธนกุลโรจน์ ทนายความผู้ได้รับมอบอำนาจ ได้เดินทางไปขอข้อมูลภาพที่บันทึกได้จากกล้องวงจรปิดในขณะที่บุคลากรทางการแพทย์ ทำการตรวจรักษา นางสาวเนติพร เสน่ห์สังคม นั้น
กรมราชทัณฑ์ ขอเรียนว่า กรณีดังกล่าวทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ได้แจ้งให้ทนายความได้รับทราบว่า ยังไม่สามารถส่งมอบข้อมูลภาพที่บันทึกได้จากกล้องวงจรปิดภายในทัณฑสถานโรงพยาบาลฯ แก่ทนายความของนางสาวเนติพรฯ ตามที่ร้องขอได้ เนื่องจากเป็นกรณีที่ต้องพิจารณาให้เกิดความถูกต้องตามกฎหมาย และเป็นธรรมแก่ผู้ที่เกี่ยวข้องซึ่งปรากฏอยู่ในภาพที่บันทึกได้จากกล้องวงจรปิด ได้แก่ สิทธิส่วนบุคคลของผู้ต้องขังซึ่งอยูในที่เกิดเหตุ และสิทธิส่วนบุคคลของบุคลากรทางการแพทย์ ที่อยู่ระหว่างดำเนินการตรวจรักษาในขณะเกิดเหตุ รวมทั้งภาพไม่เหมาะสมในช่วงเวลาที่กำลังตรวจรักษาอาการเจ็บของผู้ป่วย
โดยกรณีสิทธิส่วนบุคคลดังกล่าว ถือเป็นกรณีละเอียดอ่อนซึ่งหากเผยแพร่ไปสู่สาธารณะอาจเป็นฐานข้อมูลและคงอยู่ในระบบอินเทอร์เน็ตหรือโลกโซเชียล (ดิจิทัลฟุตพริ้นท์) โดยไม่ปรากฏหลักประกันว่าแม้ระยะเวลาจะผ่านไปนานเท่าไรก็อาจจะไม่สามารถนำออกจากระบบดังกล่าวได้ อีกทั้งยังเป็นการยากที่จะตรวจสอบได้ว่าข้อมูลดังกล่าวยังอยู่ในระบบโซเชี่ยลมีเดียหรือไม่
ดังนั้น จึงถือเป็นความสุ่มเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เสียชีวิต ญาติผู้เสียชีวิต บุคลากรทางการแพทย์ และผู้ต้องขังอื่นที่ปรากฏอยู่ในกล้องวงจรปิด รวมถึงอาจเกิดความเสียหายแก่ทางราชการในด้านของการควบคุม และตรวจรักษาผู้ต้องขังภายในเรือนจำ
ดังนั้น กรมราชทัณฑ์ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องแจ้งการพิจารณาให้ข้อมูลดังกล่าวแก่บิดามารดาของผู้เสียชีวิต และเรียนเชิญนัดหมายให้ไปตรวจสอบและปรึกษาหารือร่วมกันกับทางทัณฑสถานฯ เพื่อหาแนวทางที่เหมาะสมที่ไม่กระทบต่อครอบครัวและบุคคลอื่น
กรมราชทัณฑ์ ขอยืนยันว่าการเปิดเผยข้อมูลภาพที่บันทึกได้จากกล้องวงจรปิดตามที่ทนายความร้องขอได้หรือไม่ อย่างไรนั้น ต้องถือปฏิบัติตามหลักการที่จะเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลอื่น และของผู้ที่มีอาการเจ็บป่วยซึ่งอยู่ในความดูแลรับผิดชอบของกรมราชทัณฑ์ ที่กำหนดไว้ตาม ม.15 (5) และ (6) แห่งพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของทางราชการ พ.ศ.2540 ประกอบกับ ม.7 แห่งพระราชบัญญัติ สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 ทั้งนี้ ทั้งนั้นไม่ตัดสิทธิของผู้ที่ยื่นขอข้อมูลดังกล่าวที่จะอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่งนั้น และขอให้ติดตามข้อมูลทางการแพทย์และผลการชันสูตรอย่างเป็นทางการจากโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ เพื่อจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องไม่คลาดเคลื่อน.
Advertisement