ชาวไร่ยาสูบขอบคุณกระทรวงการคลัง ไม่ทอดทิ้ง เดินหน้าท้วงกฤษฎีกาฯ หวั่นร่างส่วนประกอบยาสูบใหม่ปิดตายยาสูบไทย
เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2567 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดส่วนประกอบผลิตภัณฑ์ยาสูบ และสารที่เกิดจากการเผาไหม้ของส่วนประกอบผลิตภัณฑ์ยาสูบที่เสนอโดยกระทรวงสาธารณสุข แต่กระทรวงการคลังที่เป็นหน่วยงานรับผิดชอบด้านยาสูบโดยตรง ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับร่างฯ นี้ ใน 2 ประเด็น ได้แก่ การอนุญาตให้ใช้เมนทอล แต่ไม่อนุญาตพืชตระกูลมินต์อื่น ๆ ยังมีความขัดแย้ง ไม่สอดคล้อง ควรพิจารณาสารอื่นใดที่ทำให้เกิดรสชาติหรือกลิ่นของเมนทอล และชะเอมด้วย นอกจากนี้ ยังชี้ถึงประเด็นถ้อยคำที่คลุมเครือเกี่ยวกับรสชาติ และกลิ่นที่อาจดึงดูดให้เกิดการบริโภคมากขึ้น ว่าอาจเกิดปัญหาด้านการตีความ สร้างความลำบากแก่เจ้าหน้าที่ในการบังคับใช้กฎหมาย และควรให้เวลาปรับตัวที่เหมาะสมกับทุกฝ่ายด้วย อย่างไรก็ตาม สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกากลับมีความเห็นว่า การยกเว้นเมนทอล และชะเอม อาจไม่ตอบจุดประสงค์ด้านสุขภาพของร่างกฎกระทรวงฯ นี้
นายประเสริฐ สงวนทรัพย์ นายกสมาคมชาวไร่ยาสูบจังหวัดสุโขทัย กล่าวว่า “เราขอขอบคุณรัฐบาล โดยเฉพาะกระทรวงการคลังที่คำนึงถึงชีวิตความเป็นอยู่ของชาวไร่ยาสูบเพราะการใช้พืชตระกูลมินต์เป็นส่วนหนึ่งของบุหรี่เมนทอล จึงจำเป็นต้องเขียนกฎหมายให้ชัดเจนก่อนบังคับใช้จริง ตนหวังว่ากฤษฎีกาฯ จะรับฟังและเห็นใจชาวไร่ยาสูบ และขอขอบคุณท่านสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สธ. ที่เห็นชอบให้ยกเว้นการใช้เมนทอลในร่างฯ ที่เสนอ ครม.และขอให้ท่านสมศักดิ์ยืนยันในหลักการยกเว้นเมนทอลต่อไป เรายืนยันจะไปต่อสู้ในชั้นกฤษฎีกาจนถึงที่สุดเพื่อรักษาอาชีพของเราไว้”
นายกิตติทัศน์ ผาทอง ตัวแทนภาคีเครือข่ายชาวไร่ยาสูบแห่งประเทศไทย ให้ความเห็นเสริมว่า “ขณะนี้การยาสูบฯ ขายบุหรี่ได้น้อยลงเรื่อย ๆ จนกำไรหดหายเหลือเพียงกว่า 200 ล้าน ก็ชัดเจนแล้วว่าบุหรี่ไทยไม่สามารถแข่งขันกับบุหรี่เถื่อน ที่กินส่วนแบ่งตลาดไปถึง 1 ใน 4 ได้ ทำให้รัฐบาล อุตสาหกรรมยาสูบ รวมทั้งชาวไร่สูบที่มีกว่า 20,000 คน สูญรายได้รวมกว่าประมาณ 30,000 ล้านบาท นี่ยังไม่รวมความสูญเสียจากบุหรี่ไฟฟ้าที่โตขึ้นทุกวัน ชาวไร่ยาสูบเองต้องทนทุกข์มานานกับเรื่องการลดโควตาและต้นทุนการผลิต พร้อม ๆ กับต่อสู้กับความคลุมเครือของการกำหนดส่วนประกอบยาสูบตั้งแต่วันแรก กว่าจะได้ความชัดเจนเกี่ยวกับหลักการโดยรวมของร่างปัจจุบันที่ยกเว้นเมนทอลก็กินนานเวลาหลายปีผ่านการพูดคุยหลายรอบทั้งในสภาฯ และนอกสภาฯ แต่กฤษฎีกาฯ กลับมาเห็นแย้งกับหลักการที่เห็นชอบโดย ครม. แล้วจึงน่าสงสัยว่ามีกระบวนการอะไรที่ไม่ปกติหรือไม่”
ชาวไร่ยาสูบเห็นพ้องตรงกันว่าร่างกฎกระทรวงฯ ส่วนประกอบยาสูบใหม่ ได้รับอนุมัติในหลักการจากครม. แล้ว จึงไม่ควรเปลี่ยนแปลงหลักการอีก ในทางกลับกันสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาควรทบทวนเกี่ยวกับถ้อยคำที่ใช้และยังมีความคลุมเครือ เสี่ยงต่อการตีความอย่างไม่มีมาตรฐานอีกครั้ง โดยเชิญเกษตรกรชาวไร่ยาสูบ การยาสูบแห่งประเทศไทย กรมสรรพสามิต และกระทรวงสาธารณสุขที่เสนอร่างดังกล่าวมาชี้แจงเพื่อรับฟังความให้รอบด้านเพื่อหาแนวทางที่เป็นธรรมและสมดุลสำหรับทุกฝ่าย และเพื่อให้เกิดความชัดเจนในร่างกฎกระทรวงฯ ก่อนบังคับใช้จริง เพราะผลของการตัดสินใจในครั้งนี้ไม่เพียงแค่กระทบกับความเป็นอยู่ของชาวบ้าน แต่ยังส่งผลต่ออนาคตของการยาสูบแห่งประเทศไทย และรายได้ของกรมสรรพสามิตด้วย
Advertisement