กรมประมง-อาสาสมัครอีสาน ลงแขกลงคลอง ช่วยชาวบ้านกำจัด ปลาหมอคางดำสมุทรปราการ หลังชาวประมงเดือดร้อนหนักมาก ทำกุ้งทะเลลดลง
วันที่ 23 ส.ค. 67 ที่บริเวณแหล่งน้ำพื้นที่ศูนย์ศึกษาธรรมชาติ ต.บางปูใหม่ จ.สมุทรปราการ กรมประมง นำอาสาสมัครจากจังหวัดร้อยเอ็ด จำนวน 100 ราย และจากเรือนจำกลางสมุทรปราการ จำนวน 35 ราย ลงพื้นที่ลุยกำจัด ปลาหมอคางดำในกิจกรรม “ลงแขกลงคลองตัดวงจรการแพร่ระบาดปลาหมอคางดำ เพื่อรักษาสมดุลระบบนิเวศจังหวัดสมุทรปราการ ครั้งที่ 2” โดยนายศุภมิตร ชิณศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ ร่วมด้วย
โดยจับได้ 1,101 กิโลกรัม อวนลวก 750 กิโลกรัม และแห 210 กิโลกรัม อวนติดตาม 141 กิโลกรัม รวมทั้งหมดกว่า 2,200 กิโลกรัม หลังจากนี้จะนำ ปลาหมอคางดำไปทำปลาร้า เพื่อแจกจ่ายประชาชนบริโภคในครัวเรือน
กิจกรรมครั้งนี้ นายเอกภาพ พลซื่อ โฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงแรง ถอดรองเท้า หว่านแหร่วมจับปลาหมอคางดำ ด้วยตนเอง พร้อมเปิดเผยว่า ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ เอาจริงเอาจังในการควบคุมและกำจัด ปลาหมอคางดำ ทุกกรมของกระทรวงเกษตรฯ เดินหน้าประสานความร่วมมือกับท้องถิ่นเร่งขจัดประชากรปลาหมอคางดำออกจากแหล่งน้ำอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดความเดือดร้อนแก้ปัญหาให้ชาวประมง และพเพื่อรักษาสมดุลธรรมชาติ
ด้าน นายสุวัฐน์ วงศ์สุวัฒน์ รองอธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า ปัจจุบันสถานการณ์การแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ กระจายไปในพื้นที่ 19 จังหวัด ได้แก่ 19 จังหวัด จันทบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา สมุทรปราการ นนทบุรี กรุงเทพมหานคร นครปฐม ราชบุรี สมุทรสาคร สมุทรสงคราม เพชรบุรีประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา ชลบุรี พัทลุง และปราจีนบุรี
ซึ่งกรมประมงได้กำหนดแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาด ปลาหมอคางดำ พ.ศ.2567–2570 ไว้ 7 มาตรการ ซึ่งกิจกรรม “ลงแขกลงคลอง” เป็นหนึ่งในกิจกรรมภายใต้มาตรการที่ 1 คือ การควบคุมและกำจัด ปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำทุกแห่งที่พบการแพร่ระบาด เพื่อขจัดประชากรปลาหมอคางดำออกจากแหล่งน้ำ ตั้งเป้าไว้ไม่น้อยกว่า 5,000 ตัน ซึ่งที่ผ่านมาทุกภาคส่วนได้ร่วมแรงร่วมใจช่วยกันกำจัดเพื่อหยุดวงจรการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำในหลากหลายวิธี จนกระทั่งขณะนี้ สามารถกำจัด ปลาหมอคางดำออกจากแหล่งน้ำได้แล้วจำนวน 610,708.20 กิโลกรัม
Advertisement