สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ คาดการณ์ปริมาณฝน 6 เดือนนับจากนี้ จับตาเดือนกันยายน ปริมาณฝนเฉลี่ยมากกว่าปกติ
จากเหตุการณ์อุทกภัยในภาคเหนือหลายจังหวัด เกิดปริมาณน้ำสะสมจากเหตุฝนตกหนัก ทำให้น้ำในแม่น้ำสายสำคัญของ 4 สาย ต้องมีการระบายน้ำลงมาสู่ตอนล่างของประเทศ ทำให้หลายฝ่ายต่างจับตาดูสถานการณ์น้ำว่าสามารถมาถึงจังหวัดปทุมธานี นนทบุรี และกรุงเทพฯ หรือไม่ เนื่องจากมีความกังวลเรื่องน้ำเหนือที่จะไหลหลาก บวกกับพายุเข้าและฝนตกหนักท้ายเขื่อน หากการจัดการป้องกันไม่ดี ไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ ก็อาจจะทำให้เกิดน้ำท่วมได้ จึงให้จับตาดูปริมาณน้ำและฝนตกในเดือนกันยายนและตุลาคม
จากการค้นข้อมูลเรื่องปริมาณน้ำฝนพบว่า สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) โดย กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้คาดการณ์ปริมาณฝนช่วงเดือนสิงหาคม 2567 - มกราคม 2568 โดยระบุว่า ประเทศไทยจะมีปริมาณฝนเฉลี่ยน้อยกว่าปกติในเดือนสิงหาคม 2567 (ร้อยละ 5) เดือนตุลาคม 2567 (ร้อยละ 26) และเดือนมกราคม 2568 (ร้อยละ 75)
ส่วนเดือนกันยายน เดือนพฤศจิกายน และเดือนธันวาคม 2567 จะมีปริมาณฝนเฉลี่ยมากกว่าปกติร้อยละ 12 ร้อยละ 11 และร้อยละ 31 ตามลำดับ
ทำให้พอจะคาดเดาได้ว่า เดือนที่น่าจับตามองที่สุดคือ เดือนกันยายน 2567 เพราะจะมีปริมาณฝนเฉลี่ยมากกว่าปกติ อย่างไรก็ตาม เมื่อกางตารางปริมาณฝนสะสมของปี 2557 (วัดตั้งแต่ 1 ม.ค.- 25 ส.ค.) พบว่า ปีนี้ทั้งประเทศค่าเฉลี่ยยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 30 ปี (พ.ศ.2534-2563) อยู่ประมาณ 5% ส่วนปริมาณน้ำในเขื่อนขนาดใหญ่ เช่น เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เขื่อนเจ้าพระยา ที่ต้องมีการระบายน้ำออกสู่อ่าวไทยยังอยู่ในเกณฑ์ที่ยังรองรับปริมาณน้ำได้ โดยความจุของอ่างเก็บน้ำในภาคเหนือ รวมอยู่ที่ 26,093 ล้าน ลบ.ม. ขณะนี้รองรับน้ำไป 13,674 ล้าน ลบ.ม. หรือราว 55% ส่วนความจุของอ่างเก็บน้ำในภาคกลางรวมอยู่ที่ 1,540 ล้าน ลบ.ม. ขณะนี้รองรับน้ำไป 395 ล้าน ลบ.ม. หรือราว 28% (ข้อมูล ณ วันที่ 27 ส.ค.67)
อย่างไรก็ตาม กรมชลประทานได้ออกประกาศแจ้งเตือน (27 ส.ค.67) ถึงสถานการณ์น้ำและการบริหารน้ำลุ่มเจ้าพระยา ให้ผู้ว่าราชการ 11 จังหวัด ในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ประกอบด้วย อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา สุพรรณบุรี ลพบุรี ปทุมธานี นนทบุรีสมุทรปราการ และกรุงเทพมหานคร เตรียมพร้อมรับน้ำเหนือ ซึ่งคาดว่าใน 1-7 วันข้างหน้า ปริมาณน้ำที่ไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยามีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้น จึงมีความจำเป็นต้องควบคุมปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาในอัตรา 900- 1400 ลบ.ม.ต่อวินาที ซึ่งจะส่งผลให้พื้นที่ริมแม่น้ำมีระดับเพิ่มสูงขึ้นจากปัจจุบันอีกประมาณ 0.50-1.50 เมตร ขอให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ริมแม่น้ำ เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
Advertisement