Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
จำเป็นแค่ไหน? เมื่อประชาชนเดือดร้อน ดาราต้องออกมาช่วยบริจาคเงินทุกครั้ง

จำเป็นแค่ไหน? เมื่อประชาชนเดือดร้อน ดาราต้องออกมาช่วยบริจาคเงินทุกครั้ง

20 ก.ย. 67
16:00 น.
|
957
แชร์

ชมพู่ อารยา บริจาค 1 ล้าน ยังถูกแซะไม่ไปช่วยน้ำท่วม อีกหนึ่งตัวอย่างสะท้อนคำถามจากสังคม จำเป็นแค่ไหนเมื่อประชาชนเดือดร้อน ต้องเรียกร้องให้ดาราออกมาช่วย ทั้งที่เรามีรัฐบาลคอยดูแลประชาชน

 

จากการสัมภาษณ์ล่าสุดของนางเอกสาว ชมพู่ อารยา ประเด็นบริจาคเงินช่วยน้ำท่วม 1 ล้านบาท ผ่านองค์กรทำดีของ บุ๋ม ปนัดดา โดยไม่ได้เปิดเผยชื่อในตอนแรก และเป็นบุ๋ม ปนัดดาที่ออกมาพูดถึงความมีน้ำใจของนางเอกสาว หลังมีกระแสข่าวช่วงเกิดเหตุน้ำท่วมวันแรกๆ ชมพู่ อารยา ถูกชาวเน็ตรายหนึ่งเข้ามาคอมเมนต์ใต้รูปขณะเจ้าตัวไปคาเฟ่กับกลุ่มเพื่อนพร้อมข้อความระบุว่า “สงสาร คนเชียงรายจัง กำลังอดๆ อยากๆ ไม่ต้องมานั่งแต่งตัวสวย” ก่อนที่ผู้ติดตามของชมพู่ในอินสตาแกรมจะเข้าไปฟาดกลับคอมเมนต์ดังกล่าว และบุ๋ม ปนัดดา เปิดเผยว่าชมพู่มอบเงินจำนวน 1 ล้านบาท ให้กับองค์กรฯ เพื่อนำไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม

"คือคิดว่าน่าจะต้องมีอะไร แต่เหมือนคอมเมนต์มันหายไปแล้ว เรารู้ตัวช้าไปหน่อย คือเห็นจากข่าวก่อน แล้วก็เข้าไปดูว่ารูปนี้มันมีอะไร แต่รู้สึกว่าคอมเมนต์มันน่าจะไม่อยู่แล้วค่ะ ก็เลยไม่ทันได้อ่าน เอาจริงๆ นะ ไม่ใช่ว่าไม่ออกสื่อนะ คือไม่ได้บอกพี่บุ๋มว่า เอ้ย ไม่ต้องบอก ไม่ประสงค์ออกนาม คือไม่ได้พูดอะไรแบบนั้น ตอนแรกก็ทักแกไป ว่ามีอะไรขาดเหลือไหม คือเราก็เอาเท่าที่เราทำได้ เพราะจริงๆ ก็ไม่ใช่แค่พี่บุ๋ม ก็มีอีกหลายๆ ท่านที่เป็นพี่ๆ ในวงการบันเทิง หรือว่าจริงๆ ยังมีคนธรรมดาที่เขาช่วย มันมีอีกเยอะมากที่เราไม่ได้เห็นเขา ก็ทักแกไปเผื่อว่าเราช่วยอะไรได้บ้าง พอคุยกันก็คิดว่าเรื่องสตางค์น่าจะเหมาะที่สุด เพราะแต่ละวันที่ออกไป มันมีเรื่องของค่าใช้จ่าย ทั้งน้ำมันรถ น้ำมันเรือ แม้แต่เรือที่พัง ก็เลยคิดว่าเท่าที่เราทำได้ก็คงเป็นตรงนี้ เพราะถ้าเป็นข้าวของ ทางมูลนิธิก็รู้อยู่แล้ว ว่าของแบบนี้ต้องซัปพลายจากที่ไหน คือเขารู้มากกว่าเรา เพราะเขาทำมาตลอด เราก็เลยติดว่าสตางค์น่าจะเหมาะที่สุด เพื่อให้เขาไปต่อ" ชมพู่ อารยา ตอบคำถามสื่อหลังถูกถามเรื่องบริจาค 1 ล้านช่วยน้ำท่วม

s__16883769_0_0
ชมพู่ อารยา

"ชมมองว่าใครสะดวกแบบไหน สะดวกที่ไหน เห็นคิวอาร์โค้ดที่ไหนอยากจะสแกนก็สแกนเลย คือถ้าเราอยากช่วยก็ช่วยได้หมด แต่บางทีก็จะมีเป็นเคสที่แบบว่า เหมือนมันมาจากท้องที่จริงๆ บางที่เขาอยู่ลึกมากๆ แล้วเขาไม่มีเสียง เสียงเขาไม่ดัง ถ้ามีโอกาสมาถึงเรา ชมก็อยากทำ ฟีลคล้ายๆ เราไปทำบุญวัดป่า ที่มันไม่ใช่วัดใหญ่ มันจะมีท้องที่แบบนี้ ที่เขาต้องการความช่วยเหลือ แต่ชมเชื่อว่าทุกคนมีจิตที่เป็นกุศลค่ะ มีความตั้งใจที่ดี ทำที่ไหนก็ได้หมด ไม่ได้คิดว่าสมมงหรือไม่สมมงอะไร แต่เราประเมินจากสถานการณ์ ว่าน่าจะต้องการสิ่งนี้ๆ แกก็บอกว่าเรือแกพังไปลำหนึ่ง เราก็เออประเมินเอาเนาะ ว่าน่าจะประมาณนี้ เราอยากช่วยในส่วนนี้"

สิ่งที่ทำนั้นเล็กน้อยมากเมื่อเทียบกับอาสาด่านหน้า

ชมพู่ อารยา เปิดใจต่อว่า "จริงๆ เราส่วนเล็กน้อยมาก อย่างที่ชมบอกว่ามันมีคนที่เขาอยู่ในพื้นที่ ณ ตรงนั้น จุดที่มันห่างไกลมากๆ แล้วเขาช่วยเหลือคนตรงนั้นจริงๆ ด้วยแรงกายด้วยทรัพยากรทั้งหมดที่เขามี มันไม่ต้องมาชื่นชมเฉพาะคนที่ให้ตังค์ แล้วก็ไม่ได้อยากให้มันเป็นวัฒนธรรมที่ว่า คนที่อยู่ตรงนี้ออกมาให้ แล้วก็ต้องกดดันคนอื่นว่าจะต้องให้ คือทุกคนมีบริบทชีวิตที่แตกต่างกัน ชมเชื่อว่าทุกคนมีความรู้สึกร่วมกันอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าจะแสดงออกหรือไม่แสดงออก มันไม่ได้หมายความว่าเขาไม่รู้สึก ก็ไม่อยากให้ใช้ตรงนี้ไปกดดันหรือไปอะไรใคร ว่าทำไมเธออยู่เฉยๆ"

"ไม่ค่อยกล้าพูดว่าเป็นกำลังใจ เพราะมีความรู้สึกว่าเราไม่ได้เป็นผู้ประสบภัย เขาอาจจะคิดว่าเราไม่เข้าใจหรอก ไม่ได้รู้สึกหรอก คือเราอาจจะไม่ได้เข้าใจร้อยเปอร์ ว่ามันเจ็บปวดสูญเสียยังไงเท่าไหร่ แต่เรามีความรู้สึกร่วม เราเห็นแล้วก็มีดาวน์นิดหนึ่งเหมือนกัน ก็เป็นกำลังใจ และอยากขอชื่นชมคนที่อยู่ด่านหน้าทุกๆ คน ที่ให้หมดที่ตัวเองมี ทั้งแรงกาย แรงใจ เท่าที่ทราบมาบางพื้นที่ก็หนักมาก บางครัวเรือนเสียชีวิต ก็เป็นกำลังใจให้ค่ะ"

s__133414987_0

ชมพู่ อารยา

ไม่ใช่แค่เพียงครั้งนี้ที่ชมพู่ ออกมาช่วยสังคม หากยังจำกันได้ ย้อนกลับไปเมื่อช่วงสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทยกำลังระบาดหนัก ชมพู่ก็เคยออกมามอบเงินบริจาคจำนวน 1,200,000 บาท ให้กับมูลนิธิรามาธิบดีฯ เพื่อจัดซื้อเครื่องช่วยหายใจ รุ่น Advance servo ในการช่วยผู้ป่วย COVID-19  และยังมอบเงิน 1 ล้านบาทช่วยโครงการทารกแรกเกิดต้องรอด มูลนิธิโรงพยาบาลเด็ก เพื่อจัดซื้ออุปกรณ์สำหรับทารกแรกเกิดที่แม่ติดเชื้อโควิดอีกด้วย

be77d840-6e47-11ea-b8a2-09037

เมื่อประชาชนเดือดร้อน เป็นหน้าที่ของดาราต้องออกมาช่วยหรือไม่?

จริงอยู่ที่ว่า ดาราเป็นคนของประชาชน มีชื่อเสียงขึ้นมาเป็นดาราแถวหน้าหรือเป็นที่รู้จักในฐานะดาราได้ก็เพราะแรงสนับสนุนจากประชาชนและแฟนคลับ ยามเมื่อเกิดปัญหาและประชาชนได้รับความเดือดร้อน ไม่ใช่เรื่องผิดเลยที่ดาราจะยื่นมือเข้ามาช่วยหรือสนับสนุนอะไรที่ยังขาดในสิ่งที่ตนเองพอจะทำได้ บางคนอาจช่วยเป็นตัวเงิน บางคนช่วยเป็นสิ่งของ แต่ไม่ใช่ว่าเป็นเรื่องที่ต้องทำเป็นหน้าที่หรือความรับผิดชอบเสมอไป ทั้งหมดทั้งมวลขึ้นอยู่กับความสะดวกใจและกำลังของแต่ละคน

บางคนทำเพราะใจรักและอยากช่วยประชาชนจริงๆ อย่างทีมดาราที่เป็นอาสากู้ภัยที่พากันลงพื้นที่ไปตั้งแต่วันแรกๆ บางคนอาจไม่สะดวกลงพื้นที่ก็โอนกำลังทรัพย์ไปช่วย เพื่อให้ตัวแทนหน้างานนำเงินนั้นไปช่วยแก้ปัญหาเบื้องหน้าที่พอทำได้ เช่น ซื้ออาหาร ซื้อน้ำ ตลอดจนของใช้ยังชีพเบื้องต้น ฉะนั้นสิ่งที่ชมพู่ อารยา รวมถึงคนบันเทิงคนอื่นที่ทำ ไม่ว่าจะบริจาคเงินหรือบริจาคสิ่งของ จึงไม่ใช่หน้าที่ของดารา แต่เป็นน้ำใจในฐานะเพื่อนร่วมประเทศคนหนึ่งที่สามารถช่วยได้ และไม่ควรถูกใครบีบคับหรือจี้ให้ออกมาทำเช่นกัน

"ช่วยประชาชน คือหน้าที่ของรัฐบาล" ในฐานะคนบริหารประเทศ

การช่วยเหลือและเยียวยาของประชาชนหลังเกิดเหตุน้ำท่วมครั้งนี้ เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องเข้ามาช่วยเหลือในฐานะทีมบริหารประเทศ และประเทศของเรามีสิ่งที่เรียกว่า งบประมาณรายจ่ายงบกลาง และ เงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ไว้เพื่อจัดสรรเป็นค่าใช้จ่ายในกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นซึ่งจะต้องเป็นเงินที่รัฐบาลเอาไปใช้เพื่อช่วยเหลือ แก้ไขหรือบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนให้กับประชาชนหรือกรณีที่เกิดความเสียหายในลักษณะต่าง ๆ เช่น มีเหตุที่เกิดจากอุทกภัย ภัยแล้ง ภัยธรรมชาติอื่นๆ เป็นต้น ซึ่งเป็นอำนาจของฝ่ายบริหาร

459306186_836597905291343_728

แต่อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการอนุมัติงบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินจะเป็นอำนาจฝ่ายบริหาร ก็มีกฎระเบียบกำกับการจัดสรรงบประมาณดังกล่าว โดยพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 มาตรา 20 (6) วรรคแรก กำหนดให้งบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ให้ตั้งได้เฉพาะเพื่อวัตถุประสงค์ในการป้องกันหรือแก้ไขสถานการณ์อันกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน ความมั่นคงของรัฐ การเยียวยาหรือบรรเทาความเสียหายจากภัยพิบัติสาธารณะร้ายแรง และภารกิจที่เป็นความจำเป็นเร่งด่วนของรัฐ อีกทั้งระเบียบว่าด้วยการบริหารงบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น พ.ศ. 2562 ได้ขยายความเพิ่มเติมว่า การขอรับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ให้กระทำได้ในกรณีที่เป็นรายจ่าย ดังนี้

1. เป็นรายจ่ายเพื่อการป้องกันหรือแก้ไขสถานการณ์อันมีผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน หรือความมั่นคงของรัฐ
2. เป็นรายจ่ายที่จำเป็นต้องจ่ายเพื่อการเยียวยาหรือบรรเทาความเสียหายจากภัยพิบัติสาธารณะร้ายแรง
3. เป็นรายจ่ายที่ได้รับจัดสรรงบประมาณไว้แล้วแต่มีจำนวนไม่เพียงพอและมีความจำเป็นเร่งด่วนของรัฐต้องใช้จ่ายหรือก่อหนี้ผูกพันงบประมาณโดยเร็ว
4. เป็นรายจ่ายที่ไม่ได้รับจัดสรรงบประมาณ แต่มีภารกิจจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องดำเนินการและต้องใช้จ่ายหรือก่อหนี้ผูกพันงบประมาณโดยเร็ว

นำมาสู่การอนุมัติงบกลาง 3,045 ล้าน ช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม 57 จังหวัด

ล่าสุดจากการประชุม ครม. เมื่อวันที่ 17 กันยายนที่ผ่านมา รัฐบาลเห็นชอบหลักเกณฑ์ การจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในช่วงฤดูฝนปี 2567 และอนุมัติงบกลาง ปี 2567 รายการเงินสำรองจ่าย เพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น วงเงิน 3,045 ล้านบาท เพื่อจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย โดยให้กระทรวงมหาดไทย เร่งกระบวนการตรวจสอบความเหมาะสมกับสถานการณ์และลดขั้นตอนเอกสารต่าง ๆ ให้การเข้าถึงประชาชนอย่างรวดเร็ว

สำหรับหลักเกณฑ์การจ่ายเงินช่วยเหลือ จะต้องเป็นอุทกภัยตั้งแต่วันที่ 20 พ.ค. 67 ทั้งกรณีน้ำท่วมฉับพลัน น้ำไหลหลาก น้ำลันตลิ่ง รวมถึงการระบายที่ส่งผลกระทบทำให้ไม่สามารถดำรงชีวิตได้ โดยบ้านอยู่อาศัยต้องอยู่ในพื้นที่ประกาศเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัย ใน 57 จังหวัด หากเป็นกรณีประสบภัยหลายครั้งจะได้รับความช่วยเหลือครั้งเดียว

โดยมีเกณฑ์การจ่ายเงินค่าดำรงชีพเบื้องต้นแก่ครอบครัวผู้ประสบอุทกภัย แยกเป็นกรณี ดังนี้

- ที่อยู่อาศัยประจำถูกน้ำท่วมขังเกิน 24 ชั่วโมง แต่ไม่เกิน 7 วัน ทรัพย์สินได้รับความเสียหาย หรือที่อยู่อาศัยถูกน้ำท่วมขังเกินกว่า 7 วัน แต่ไม่เกิน 30 วัน ให้ความช่วยเหลือ ครัวเรือนละ 5,000 บาท
- ที่พักอาศัยอยู่ในพื้นที่น้ำท่วมขัง เกิน 30 วัน แต่ไม่เกิน 60 วัน ให้ความช่วยเหลือ ครัวเรือนละ 7,000 บาท
- ที่พักอาศัยอยู่ในพื้นที่น้ำท่วมขัง เกินกว่า 60 วัน ขึ้นไป ให้ความช่วยเหลือ ครัวเรือนละ 9,000 บาท

459319425_836375451980255_313

Advertisement

แชร์
จำเป็นแค่ไหน? เมื่อประชาชนเดือดร้อน ดาราต้องออกมาช่วยบริจาคเงินทุกครั้ง