Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
สส.นิติพล ชี้ น้ำผุดเชียงดาวหนักขึ้น หลังป่ากลายเป็นพื้นที่เกษตร

สส.นิติพล ชี้ น้ำผุดเชียงดาวหนักขึ้น หลังป่ากลายเป็นพื้นที่เกษตร

16 พ.ย. 67
19:02 น.
|
36
แชร์

สส.นิติพล ชี้ปรากฏการณ์น้ำผุดเชียงดาวหนักขึ้น หลังพื้นที่เปลี่ยนสภาพจากป่าเป็นเกษตรเชิงเดี่ยว แนะรัฐหนุนชาวบ้าน เปลี่ยนวิถีปลูกพืชฟื้นสภาพดิน 

วันที่ 16 พ.ย. 67 นาย นิติพล ผิวเหมาะ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน กล่าวถึงกรณีปรากฏการณ์น้ำผุดต่อเนื่องที่ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ติดต่อกันนานกว่า 2 เดือนที่ผ่านมาว่า 

กรณีดังกล่าวในทางธรณีวิทยาได้มีนักวิชาการมาให้ความกระจ่างแล้วว่าเกิดขึ้นจากอะไร แน่นอนว่าส่วนหนึ่งคือปรากฏการณ์ตามธรรมชาติ จากการที่พื้นที่บริเวณดังกล่าวส่วนใหญ่เป็นหินปูน เมื่อถูกฝนที่มีฤทธิ์เป็นกรดอ่อนกัดกร่อน ประกอบกับน้ำฝนที่มีปริมาณมากในช่วงก่อนหน้าทำให้เกิดเป็นโพรงใต้ดินขึ้นในหลายพื้นที่ และในหลายจุดนี้ก็มีน้ำบาดาลอยู่ก่อนแล้ว ทำให้น้ำถูกดันออกมาตามช่องโพรงที่มีจุดตัดกับผิวดิน ซึ่งความน่ากังวลส่วนหนึ่งก็คือการที่ภูมิประเทศที่เป็นโพรงอาจเกิดดินทรุดตัวได้เมื่อน้ำหายไปจากโพรงเหล่านี้ 

นายนิติพล กล่าวต่อว่า อีกปัจจัยสำคัญที่ทำให้พื้นที่ดังกล่าวมีความสุ่มเสี่ยงเกิดปรากฏการณ์เช่นนี้มากขึ้น ก็เพราะการหายไปของพื้นที่ป่า ซึ่งก่อนหน้านี้เชียงดาวแต่เดิมเป็นพื้นที่ป่าค่อนข้างอุดมสมบูรณ์ แต่ปัจจุบันเชียงดาวมีการปรับพื้นที่เป็นไร่พืชเชิงเดี่ยวมากขึ้น ก่อนหน้านี้ที่เป็นพื้นที่ป่าเมื่อมีฝนตกหนักตามฤดูกาลป่าจะดูดซับน้ำและเก็บกักปริมาณน้ำไว้อย่างเหมาะสมตามวงจรธรรมชาติ แต่เมื่อพื้นที่กลายเป็นพื้นที่ปลูกพืชไร่เชิงเดี่ยว บริเวณดังกล่าวจึงสูญเสียคุณสมบัติในการดูดซับน้ำ เมื่อมีฝนตกและน้ำท่วมติดต่อกันเป็นระยะเวลานานพื้นดินที่สูญเสียความสามารถในการดูดซับและเก็บกักน้ำไว้อยู่แล้วก็ยิ่งถูกซ้ำเติมมากขึ้น 

ปรากฏการณ์น้ำผุดที่ อ.เชียงดาวดังกล่าว จึงมีทั้งส่วนที่เป็นปรากฏการณ์ตามธรรมชาติ และผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิประเทศจากกิจกรรมของมนุษย์ โจทย์จากนี้ไปจึงอยู่ที่ว่าเราจะปรับสมดุลของพื้นที่ให้กลับมาได้อย่างไร หรือจะหาทางเฝ้าระวังผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากน้ำผุดในลักษณะของมาตรการรับมือแทน เนื่องจากว่าด้านหนึ่งประชาชนในพื้นที่ได้ปรับพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่การเกษตรไปแล้ว การฟื้นฟูกลับมาเป็นป่าย่อมต้องใช้เวลานาน และย่อมมีผลกระทบต่อประชาชนที่ทำมาหากินอาศัยการทำเกษตรเลี้ยงชีพ 

นายนิติพล กล่าวว่า ดังนั้นอีกทางเลือกหนึ่งก็คือการส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกพืชที่มีความหลากหลายมากขึ้น รวมทั้งพืชยืนต้นเพื่อปรับสภาพผืนดินของพื้นที่ให้กลับมามีขีดความสามารถในการรองรับน้ำฝนได้อีกครั้ง พร้อมกับยังรักษาพื้นที่ให้เป็นแหล่งทำมาหากินของชาวบ้านได้อยู่ เพราะเป็นที่แน่ชัดแล้วว่าการปลูกพืชเชิงเดี่ยวนั้นส่งผลกระทบต่อคุณภาพของดิน โดยเฉพาะในกรณีนี้ทำให้ดินขาดคุณสมบัติในการรองรับปริมาณน้ำที่มากับฤดูฝน 

อย่างไรก็ตามเรื่องนี้เป็นปัญหาที่ต้องใช้ แนวนโยบายทั้งในระยะสั้นและระยะกลางเพื่อปรับเปลี่ยนการใช้พื้นที่ของประชาชน ซึ่งแน่นอนว่าโดยลำพังชาวบ้านไม่สามารถทำได้ด้วยปัจจัยหลายอย่าง ดังนั้นรัฐจึงควรเข้าไปสำรวจปัญหานี้อย่างรอบคอบโดยการมีส่วนร่วมของชุมชนและประชาชน เพื่อทั้งหาทางรับมือกับปรากฏการณ์น้ำผุด การหาทางป้องกัน และการปรับสภาพพื้นที่ดินให้ทุเลาปัญหานี้ในอนาคตต่อไปข้างหน้า โดยไม่สร้างผลกระทบกับชุมชนและประชาชนมากเกินไปนัก

Advertisement

แชร์
สส.นิติพล ชี้ น้ำผุดเชียงดาวหนักขึ้น หลังป่ากลายเป็นพื้นที่เกษตร