กรมอุตุนิยมวิทยา เผยว่า ฤดูหนาว 2568 ยังไม่สิ้นสุดลงง่าย ๆ โดยประชาชนสามารถดื่มด่ำกับบรรยากาศฤดูหนาวไปถึง กลางเดือน ก.พ. นี้ แต่ความหนาวเย็นจะเริ่มแผ่วไปบ้าง จากนั้นเตรียมพร้อมเข้าสู่ "ฤดูร้อน" ต่อไป
นอกจากนี้ กรมอุตุนิยมวิทยา ยังเผยด้วยว่า สำหรับฤดูร้อนปี จะร้อนแรง และจะแห้งแล้งขนาดไหน น้ำในเขตชลประทานยังจะสามารถทำการเกษตรได้เพียงพอไปถึงฤดูฝนไหมหรือไม่ และฝนจะพอมีเกิดขึ้นไหม เนื่องจากสถานการณ์ของปรากฎการณ์ใหญ่อย่าง "เอนโซ" บ่งชี้ว่า ในช่วงเดือน ก.พ. - พ.ค. 2568 ยังมีโอกาสเป็นลานีญาอ่อนๆ หรือเป็นกลาง จึงมีผลต่อกระแสลมที่พัดปกคลุม ซึ่งจะเปลี่ยนเป็นลมใต้ ลมตะวันออกเฉียงใต้มากขึ้น
ฉะนั้นช่วงเดือน ก.พ. - พ.ค. 2568 จึงยังพอมีความชื้นอยู่บ้าง ทำให้ยังมีโอกาสเกิดฝนฟ้าคะนองเป็นระยะ ๆ แม้ในเดือน มี.ค. - เม.ย. 2568 จะเป็นช่วงฤดูร้อน (อากาศร้อนถึงร้อนจัด อุณหภูมิเฉลี่ยมากที่สุดในช่วงนี้) แต่ปีนี้คาดว่าจะไม่ร้อนแรงเหมือนปีที่แล้ว เนื่องจากมีฝนฟ้าคะนองและมีความชื้นสูง แต่บางวันอาจจะมีอากาศร้อนถึงร้อนจัดได้เป็นช่วงๆ (ไม่ร้อนจัดติดต่อกันเหมือนปีที่แล้ว)
โดยฝนคาดการณ์ให้สูงกว่าค่าปกติ ช่วงเดือน เม.ย. - พ.ค. แต่จะต่ำกว่าค่าปกติในเดือน มิ.ย. 2567 (มีฝนทิ้งช่วงได้) ต้นปีฝนยังพอมี แต่กลางปียังต้องลุ้นและติดตามเป็นระยะๆ
ทั้งนี้ ข้อมูลนี้ใช้เป็นแนวทางตัดสินใจ อาจมีการเปลี่ยนแปลงตามข้อมูลนำเข้าใหม่ เนื่องจากเป็นการพยากรณ์ระยะนาน ค่าความคลาดเคลื่อนสูงได้
นอกจากนี้ กรมอุตุนิยมวิทยา ยังได้คาดหมายคาดหมายลักษณะอากาศทั่วไประหว่างวันที่ 12-18 ม.ค. 2568
ในช่วงวันที่ 12 – 13 ม.ค. บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังแรงจากประเทศจีนแผ่ปกคลุมประเทศไทยตอนบน ภาคใต้ตอนบน และทะเลจีนใต้ ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณดังกล่าวมีอุณหภูมิลดลง กับมีลมแรง โดยภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อุณหภูมิจะลดลง 1-3 องศาเซลเซียส ส่วนภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคตะวันออกอุณหภูมิจะลดลง 1-2 องศาเซลเซียส สำหรับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทย ภาคใต้ และทะเลอันดามันจะมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ภาคใต้มีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณตอนล่างของภาค ส่วนคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยและทะเลอันดามันมีกำลังแรง โดยอ่าวไทยมีคลื่นสูง 2-4 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 4 เมตร ส่วนทะเลอันดามันมีคลื่นสูง 1-2 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูง 2-3 เมตร และบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร
ส่วนในช่วงวันที่ 14 – 15 ม.ค. บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังแรงที่ปกคลุมประเทศไทยตอนบน ภาคใต้ตอนบน และทะเลจีนใต้มีกำลังอ่อนลง ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณดังกล่าวจะมีอุณหภูมิสูงขึ้น กับมีหมอกในตอนเช้า โดยภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลางยังคงมีอากาศเย็นถึงหนาว ส่วนภาคตะวันออก และภาคใต้ตอนบน รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑลมีอากาศเย็นในตอนเช้า สำหรับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทย ภาคใต้ และทะเลอันดามันจะมีกำลังอ่อนลง แต่ยังคงทำให้ภาคใต้ตอนล่างมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณของภาค ส่วนคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยและทะเลอันดามันมีกำลังอ่อนลง โดยอ่าวไทยมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ส่วนทะเลอันดามันมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูง 1-2 เมตร และบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร
หลังจากนั้นในช่วงวันที่ 16 – 18 ม.ค. บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังค่อนข้างแรงระลอกใหม่จากประเทศจีนจะแผ่เสริมเข้ามาปกคลุมประเทศไทยตอนบน ภาคใต้ตอนบน และทะเลจีนใต้ ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณดังกล่าวมีอุณหภูมิลดลงกับมีลมแรง สำหรับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทย ภาคใต้ และทะเลอันดามันจะมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ภาคใต้ยังคงมีฝนฟ้าคะนองและมีฝนตกหนักบางแห่งทางตอนล่างของภาค ส่วนคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยและทะเลอันดามันจะมีกำลังแรงขึ้น โดยอ่าวไทยมีคลื่นสูง 2 – 3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ส่วนทะเลอันดามันมีคลื่นสูง 1-2 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร และบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร
Advertisement