จากกรณีชาวบ้านส่งหลักฐานเป็นภาพถ่ายกล่อง และขวดยา ร้องเพจ “ตรังต้านโกง”และ “ป.ป.ช.ประจำจังหวัดตรัง” ว่า ในการเกิดโรคระบาดปากเท้าเปื่อยในพื้นที่ อ.ห้วยยอด มีการนำยาฆ่าเชื้อ หรือยาปฏิชีวะนะหมดอายุไปฉีดให้กับโคของชาวบ้าน จึงได้ส่งหลักฐานร้องต่อ ป.ป.ช.
ล่าสุดวันที่ 23 ม.ค. 68 นายทรงกลด สว่างวงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง ได้แถลงข่าวผลการปฎิบัติงานของหน่วยงานราชการต่างๆ รวมทั้งแผนการทำงานในกิจกรรมสำคัญๆ ของจ.ตรัง รวมถึงสถานการณ์การระบาดของโรคปากเท้าเปื่อยในโคในพื้นที่ จ.ตรัง โดยมี นายสัตวแพทย์กฤษณ์ วีระวงศ์ ปศุสัตว์จังหวัดตรัง ร่วมแถลงข่าวด้วย
โดยนายทรงกลด ระบุว่าสถานการณ์ภาพรวมของโรคขณะนี้ โดยเฉพาะในพื้นที่ อ.ห้วยยอด ซึ่งพบการระบาดหนัก สามารถควบคุมสถานการณ์ได้แล้ว โดยการระดมทีมสัตว์แพทย์ ทีมเจ้าหน้าที่สัตวบาลจากทั่วทั้ง จ.ตรัง และจากกรมปศุสัตว์ ประมาณ 60 คน ได้กระจายกำลังลงพื้นที่ โดยแบ่งการทำงานออกเป็น 2 ส่วน คือทีมรักษาสัตว์ป่วยมอบหมายให้เป็นหน้าที่ของทีมสัตว์แพทย์ และเจ้าหน้าที่สัตวบาลใน จ.ตรังทำหน้าที่ในการรักษาสัตว์ป่วย เนื่องจากเป็นทีมที่สัมผัสโรคอยู่แล้ว
ส่วนเจ้าหน้าที่ควบคุมโรคจากกรมปศุสัตว์ได้ลงพื้นที่ฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อ รวมทั้งดูแลสุขภาพสัตว์โดยรวมในพื้นที่ที่ยังไม่ติดเชื้อ ทั้งการฉีดวัคซีนเพื่อสร้าง และกระตุ้นการภูมิคุ้มกันให้แก่สัตว์ ตรวจสุขภาพตรวจหาปรสิต ทั้งภายใน และภายนอกฉีดยาบำรุง เพื่อเป็นการส่งเสริมสุขภาพโค และสร้างภูมิคุ้มกันให้โคได้แล้วประมาณ 6,000 ตัวใน 7 ตำบลของ อ.ห้วยยอด
อีกทั้งสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดตรังได้ประชาสัมพันธ์แจ้งขอความร่วมมือฟาร์มสุกรในพื้นที่เสี่ยงของ อ.ห้วยยอดให้เพิ่มมาตรการความปลอดภัยทางชีวภาพ เพื่อป้องกันการเกิดโรคในสุกร และเปิดโอกาสให้กลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงโคพรีเมี่ยมเข้าหารือแก้ไขปัญหาการเคลื่อนย้ายโคออกจากพื้นที่เสี่ยง โดยมีทางออกร่วมกันว่าจะเคลื่อนย้ายโคได้ราวปลายเดือน ม.ค. 68 เป็นต้นไป
เมื่อถามถึง กรณีชาวบ้านร้องเรียนเพจตรังต้านโกงและปปช.ประจำจังหวัดตรัง พร้อมหลักฐานเรื่องพบมีการนำยาฆ่าเชื้อหมดอายุไปฉีดให้แก่โค เพื่อรักษาอาการ ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง กล่าวยืนยันว่าในส่วนของวัคซีนไม่หมดอายุ แต่จำเป็นต้องฉีด 2 ครั้ง เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่สัตว์ โดยฉีดเข็มแรก จากนั้นอีก 1 เดือนต้องฉีดเข็มที่ 2 เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกัน ส่วนเรื่องที่ร้องเรื่องยาหมดอายุ ตนเองจะทำการตรวจสอบ พร้อมยอมรับว่าปัญหาที่เกิดในขณะนี้ ทั้งเรื่องการรับมือกับโรคระบาด การควบคุมป้องกันพื้นที่ รวมทั้งปัญหาขัดแย้งภายในขององค์กร ถือเป็นบทเรียนปศุสัตว์ต้องทำงานในเชิงรุก หากในพื้นที่ติดขัดขาดแคลนก็ต้องร้องขอจากหน่วยงานปศุสัตว์ในพื้นที่ใกล้เคียง
ด้านนายสัตวแพทย์กฤษณ์ กล่าวว่า กรณีแนะนำให้เกษตรกรเคลื่อนย้ายสัตว์แบบผิดกฎหมายนั้น เกิดจากการสื่อสารที่ผิดพลาด และในคลิปดังกล่าวนั้นไม่จบ เพราะสุดท้ายได้แจ้งต่อเกษตรกรว่า ขอเวลาควบคุมสถานการณ์การระบาดจะสามารถเคลื่อนย้ายสัตว์ได้ปลายเดือน ม.ค.นี้
อย่างไรก็ตามในข้อเท็จจริงหลังชาวบ้านทักท้วงว่าเคลื่อนย้ายสัตว์ โดยไม่มีใบอนุญาตผิดกฎหมายเสี่ยงถูกจับ ทำให้ปศุสัตว์จังหวัดเปลี่ยนคำพูดเป็นว่า ขอเวลาประมาณ 2 สัปดาห์ปลายเดือน ม.ค.จะเคลื่อนย้ายได้
Advertisement