วันที่ 3 ก.พ. 68 ว่าที่ ร.ต.ชัชวาลย์ บำรุงวงศ์ หรือ ทนายชัช กลุ่มทนายใจดี เปิดเผยว่า มีกลุ่มแรงงานไทย และแรงงานต่างด้าวกว่า 100 คนรวมตัวกันเข้าร้องทุกข์ว่า โดนนายจ้างของโรงงานทำถุงมือแห่งหนึ่ง ต.ควนลัง อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา พยายามหาช่องว่างจากหนังสือวีซ่าใกล้หมดอายุ และยกเลิกสัญญาจ้าง ไม่จ่ายเงินค่าแรงในส่วนที่เหลืออีกกว่า 6 พันบาท และเงินชดเชย ก่อนจะถูกนายจ้างลอยแพอย่างกะทันหัน
ล่าสุดผู้สื่อข่าวได้เดินทางไปที่สำนักงานกฎหมายทนายใจดี ต.ควนลัง อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา พบแรงงานชาวพม่ากว่า 30 คน เข้าร้องทุกข์ และขอความเป็นธรรมจากกลุ่มทนายใจดี เรื่องนายจ้างไม่จ่ายค่าแรง และเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม และไม่จ่ายค่าชดเชยตามกฎหมาย พร้อมนำหลักฐานหนังสือเดินทางเข้าออกถูกกฎหมาย บัตรแรงงานต่างด้าว บัตรพนักงานของโรงงาน และเอกสารรับเงินค่าแรงก่อนจะมีการเซ็นมอบอำนาจให้ทนายเป็นผู้ดำเนินการ
ข้อมูลเบื้องต้นทราบว่า เมื่อวันที่ 13 ม.ค. 68 นายจ้างของบริษัทชื่อดังของโรงงานดังกล่าว ได้มีการแจ้งบอกเลิกจ้างให้กับพนักงานคนไทยแรงงานต่างด้าว ทั้งพม่าและกัมพูชา รวมกว่า 100 คน แต่ปฏิเสธที่จะจ่ายค่าชดเชยตามกฎหมายให้แก่ลูกจ้างที่ทำงานเกินกว่า 1 ปี จนถึง 8 ปี
ต่อมาหลังกลุ่มแรงงานทราบเรื่องในวันที่ 20 ม.ค. 68 กลุ่มแรงงานต่างด้าว และคนไทยได้มีการรวมตัวกันประท้วงนายจ้าง เกี่ยวกับเรื่องไม่จ่ายค่าแรงที่ค้างอยู่ จึงทำให้เกิดเหตุการณ์ประท้วงนายจ้างขึ้นภายในโรงงานดังกล่าว ทำให้กลุ่มแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยอย่างถูกต้องตามกฎหมายรวมตัวกัน เพื่อขอความเป็นธรรม และให้ดำเนินการตามกฎหมายของไทย ผ่านกลุ่มทนายใจดี
ต่อมา ทนายชัชวาลย์ บำรุงวงศ์ และคณะทีมกฎหมายได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้น พบว่า มีอยู่ 2 ประเด็นสำคัญที่เป็นข้อพิพาทระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างแรงงานต่างด้าวนั่น ก็คือข้อที่ 1 การที่นายจ้างไม่จ่ายค่าแรงให้กับลูกจ้าง ซึ่งเป็นทั้งแรงงานต่างด้าว และแรงงานไทย กรณีดังกล่าวถือว่าเข้าข่ายการกระทำความผิดต่อกฎหมายแรงงานอย่างชัดเจน ส่วนประเด็นที่ 2 คือการเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชย ประเด็นนี้ทางกลุ่มทนายใจดี จะต้องมีการตรวจสอบข้อสัญญาว่าจ้างมีข้อกำหนดอย่างไร แต่หากไม่มีสัญญาว่าจ้างกันเป็นลายลักษณ์อักษรก็ต้องยึดถือตามหลักของกฎหมายแรงงานเป็นสำคัญ ทั้งนี้วันนี้ได้รับมอบอำนาจจากกลุ่มแรงงานชาวต่างด้าวทั้งหมดกว่า 30 ราย เพื่อประสานงานและดำเนินการขั้นตอนตามกฎหมาย
กรณีดังกล่าวถือว่าเป็นกรณีพิพาทระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง ถึงแม้ว่าลูกจ้างจะเป็นแรงงานต่างด้าว แต่ก็ต้องถูกบังคับใช้ตามกฎหมาย พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานของประเทศไทยเป็นสำคัญอยู่แล้ว ดังนั้นหากนายจ้างว่าจ้างแรงงาน และเขาทำงานให้จริง แต่ไม่จ่ายค่าแรงให้เขา โดยไม่มีเหตุผลอันสมควร ก็ถือว่ามีความผิดตามกฎหมาย ซึ่งมีโทษทั้งจำและปรับ ซึ่งผู้ที่ต้องรับผิดในทางอาญาก็จะเป็นทั้งตัวนิติบุคคล และตัวของกรรมการผู้จัดการนิติบุคคลนั้นๆ ด้วยเช่นกัน
ส่วนเรื่องของการเลิกจ้าง โดยไม่จ่ายค่าตอบแทนนั้น จะต้องมีการตรวจสอบข้อสัญญา และพันธะผูกพันอีกครั้งหนึ่งว่า การที่นายจ้างเลิกจ้าง และไม่จ่ายค่าชดเชยนั้น มีข้อยกเว้นตามกฎหมายหรือไม่ หรือเป็นการสิ้นสุดสัญญาตามปกติ ทั้งนี้ในวันนี้ทางกลุ่มทนายใจดีก็รับที่จะเป็นผู้ดำเนินการตามกฎหมายและให้ความยุติธรรมแก่ทุกฝ่ายอย่างเต็มที่
ด้านตัวแทนกลุ่มแรงงานต่างด้าว เปิดเผยว่า สิ่งที่เรียกร้องต้องการให้ทางนายจ้างจ่ายเงินค่าแรงในส่วนที่เหลือ และเงินชดเชยในส่วนตรงนี้ หากกลุ่มแรงงานต่างด้าวได้เงินส่วนตรงนี้จะได้นำเงินไปต่ออายุหนังสือเดินทาง และไปหางานใหม่ทำ อีกอย่างเงินตรงนี้ก็ยังแบ่งส่งไปให้ทางบ้านอีกด้วย จึงอยากให้นายจ้างออกมารับผิดชอบในส่วนตรงนี้ด้วย และวันนี้รู้สึกสบายใจและดีใจที่ทนายใจดียินดีที่จะช่วยพวกเรา
หลังกลุ่มแรงงานต่างด้าวทั้งหมดส่งหลักฐานเอกสารต่างๆ พร้อมกับเซ็นหนังสือมอบอำนาจให้ว่าที่ ร.ต.ชัชวาลย์ ดำเนินการต่อไป
Advertisement