รู้จักโครงสร้างประกันสังคม “บอร์ดใหญ่ – บอร์ดเล็ก” ใครทำหน้าที่อะไร
สำนักงานประกันสังคม จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 โดยให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2533 เพื่อให้ประเทศไทยมีการประกันสังคมอย่างเต็มรูปแบบ โดยลูกจ้างจะได้รับความคุ้มครอง ทั้งในเรื่องการประสบอันตราย หรือเจ็บป่วยทุพพลภาพ และตาย ทั้งนี้เนื่องและไม่เนื่องจากการทำงาน รวมไปถึงการคลอดบุตรสงเคราะห์บุตร ชราภาพ และการว่างงาน ซึ่งนายจ้างและลูกจ้างต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนฝ่ายละเท่าๆ กัน
มีหน้าที่ความรับผิดชอบว่าด้วยเรื่องของ
1. ปฏิบัติราชการให้เกิดผลสัมฤทธิ์และเป็นไปตามเป้าหมาย แนวทาง และแผนการปฏิบัติ ราชการของกระทรวง
2. ดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการประกันสังคม กฎหมายว่าด้วยเงินทดแทน และกฎหมาย อื่นที่เกี่ยวข้อง
3. บริหารกองทุนประกันสังคมและกองทุนเงินทดแทน
4. คุ้มครองดูแลผู้ประกันตนและลูกจ้างให้ได้รับสิทธิและประโยชน์ตามที่กฎหมายกำหนด
5. พัฒนาระบบ รูปแบบ มาตรการ และวิธีการด้านการประกันสังคมและเงินทดแทน รวมทั้ง ประสานแผนการปฏิบัติงานของสำนักงาน
6. ปฏิบัติการอื่นใดตามที่กฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของสำนักงานหรือตามที่รัฐมนตรี หรือคณะรัฐมนตรีมอบหมาย
ทั้งนี้เพื่อให้เป็นไปตาม วิสัยทัศน์ นั่นก็คือ "องค์กรแห่งความเชื่อมั่นด้านการให้บริการประกันสังคมที่ทันสมัย" และ พันธกิจ ที่ว่าด้วย “การบริหารการประกันสังคมและเงินทดแทนที่ทันสมัย มีประสิทธิภาพ และโปร่งใส ควบคู่กับการสร้างความสุขในการใช้ชีวิตให้แก่ นายจ้าง ลูกจ้าง ผู้ประกันตน และบุคลากรของสำนักงานประกันสังคม ”
รู้จักโครงสร้างภายในการบริหารงานของประกันสังคม
การบริหารงานของประกันสังคม มีบอร์ดบริหารที่ใหญ่ที่สุดคือ คณะกรรมการประกันสังคม หรือบอร์ดประกันสังคม ซึ่งโครงสร้างการบริหารงาน ประกอบด้วย
- กลุ่มตัวแทนฝ่ายรัฐบาล 7 คน
- กรรมการผู้แทนฝ่ายนายจ้าง 7 คน
- กรรมการผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตน ที่มาจากการเลือกตั้ง 7 คน เพื่อหาตัวแทนเข้าไปพิทักษ์สิทธิของผู้ประกันตน
ทั้งนี้ กรรมการผู้แทนฝ่ายนายจ้างและกรรมการผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตน มีวาระการดำรงตำแหน่ง คราวละ 2 ปี และมีอำนาจหน้าที่ในการ
1. เสนอความเห็นต่อรัฐมนตรีเกี่ยวกับนโยบายและมาตรการในการประกันสังคมตามพระราชบัญญัตินี้
2. พิจารณาให้ความเห็นต่อรัฐมนตรีในการตราพระราชกฤษฎีกา การออกกฎกระทรวง และระเบียบต่าง ๆ เพื่อดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้
3. วางระเบียบโดยความเห็นชอบของกระทรวงการคลังเกี่ยวกับการรับเงิน การจ่ายเงิน และการเก็บรักษาเงินของกองทุน
4. วางระเบียบโดยความเห็นชอบของกระทรวงการคลังเกี่ยวกับการจัดหาผลประโยชน์ของกองทุน
5. พิจารณางบดุลและรายงานการรับจ่ายเงินของกองทุนและรายงานผลการปฏิบัติงานประจำปีของสำนักงานในส่วนที่เกี่ยวกับการประกันสังคมตามพระราชบัญญัตินี้
6. ให้คำปรึกษาและแนะนำแก่คณะกรรมการอื่นหรือสำนักงาน
7. ปฏิบัติการอื่นใดตามที่พระราชบัญญัตินี้หรือกฎหมายอื่นบัญญัติให้เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ หรือตามที่รัฐมนตรีมอบหมาย
บอร์ดย่อยที่บริหารงานในส่วนอื่นๆ ได้แก่
คณะกรรมการกองทุนเงินทดแทน
มีอำนาจหน้าที่เสนอความเห็นต่อรัฐมนตรีเกี่ยวกับ นโยบายการบริหารกองทุน การจ่ายเงินทดแทน พิจารณาให้ความเห็นในการออกกฎกระทรวง และระเบียบต่าง ๆ ตลอดจนวางระเบียบโดยความเห็นชอบของกระทรวงแรงงานและสวัสดิการ สังคมเกี่ยวกับการบริหารกองทุน เช่น การรับเงิน การจ่ายเงิน การเก็บรักษาเงินกองทุน และ การจัดหาผลประโยชน์ของกองทุน ให้คำปรึกษาแนะนำแก่สำนักงานประกันสังคมและพิจารณาวินิจฉันอุทธรณ์
คณะกรรมการตรวจสอบกองทุนเงินทดแทน
มีหน้าที่ ให้คำปรึกษาคณะกรรมการเกี่ยวกับการตรวจสอบกองทุน ให้คำแนะนำแก่สำนักงานในการแก้ไขกฎหมาย ข้อบังคับ ระเบียบ ประกาศ คำสั่ง หรือมติคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับการบริหารกองทุน เมื่อได้รับคำร้องขอจากคณะกรรมการหรือสำนักงาน กำหนดมาตรฐานหรือมาตรการเกี่ยวกับระบบ และการควบคุมการตรวจสอบการบริหารกองทุน เสนอแนะให้สำนักงานแก้ไขข้อบกพร่องหรือปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมาย ข้อบังคับ ระเบียบ ประกาศ คำสั่งหรือมติคณะรัฐมนตรี และเสนอแนะในประการอื่นตามที่คณะกรรมการตรวจสอบเห็นสมควร ตลอดจนติดตามการดำเนินการแก้ไขและการปฏิบัติตามคำแนะนำ
สอบทานให้มีการรายงานทางการเงินอย่างถูกต้องและเปิดเผย สอบทานการบริหารความเสี่ยงและติดตามการบริหารความเสี่ยงที่สำคัญอย่างต่อเนื่อง พิจารณาการเปิดเผยข้อมูลในกรณีที่เกิดรายการที่เกี่ยวโยงหรือรายการที่อาจมีความขัดแย้งทางผลประโยชน์ให้มีความถูกต้องและครบถ้วน พิจารณาเสนอแนะขอบเขตการตรวจสอบ และแผนงานการตรวจสอบแก่หน่วยงานตรวจสอบภายในของสำนักงาน
คณะกรรมการตรวจสอบกองทุนประกันสังคม
มีหน้าที่ให้คำปรึกษาคณะกรรมการเกี่ยวกับการตรวจสอบกองทุน ให้คำแนะนำแก่สำนักงานในการแก้ไขกฎหมาย ข้อบังคับ ระเบียบ ประกาศ คำสั่ง หรือมติคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับการบริหารกองทุน เมื่อได้รับคำร้องขอจากคณะกรรมการหรือสำนักงาน กำหนดมาตรฐานหรือมาตรการเกี่ยวกับระบบ และการควบคุมการตรวจสอบการบริหารกองทุน เสนอแนะให้สำนักงานแก้ไขข้อบกพร่องหรือปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมาย ข้อบังคับ ระเบียบ ประกาศ คำสั่งหรือมติคณะรัฐมนตรี และเสนอแนะในประการอื่นตามที่คณะกรรมการการตรวจสอบเห็นสมสมควร ตลอดจนติดตามการดำเนินการแก้ไขและการปฏิบัติตามคำแนะนำ สอบทานให้มีการรายงานทางการเงินอย่างถูกต้องและเปิดเผย สอบทานการบริหารความเสี่ยงและติดตามการบริหารความเสี่ยงที่สำคัญอย่างต่อเนื่อง
พิจารณาการเปิดเผยข้อมูลในกรณีที่เกิดรายการที่เกี่ยวโยงหรือรายการที่อาจมีความขัดแย้งทางผลประโยชน์ให้มีความถูกต้องและครบถ้วน พิจารณาเสนอแนะขอบเขตการตรวจสอบ และแผนงานการตรวจสอบแก่หน่วยงานตรวจสอบภายในของสำนักงาน พิจารณาสอบทานรายงานผลการตรวจสอบของหน่วยตรวจสอบภายในของสำนักงานและติดตามผลการดำเป็นงานตามข้อเสนอแนะเพื่อรายงานผลการตรวจสอบต่อรัฐมนตรี และกระทำการอื่นๆ ตามที่รัฐมนตรีมอบหมายในการดำเนินการตามวรรคหนึ่งคณะกรรมการตรวจสอบมีอำนาจสอบถามหรือเรียกเจ้าหน้าที่มาให้ถ้อยคำ หรือให้ส่งเอกสารที่เกี่ยวข้องหรือสิ่งอื่นใดที่จำเป็นมาเพื่อประกอบการพิจารณา
คณะกรรมการอุทธรณ์
มีหน้าที่ในการพิจารณาอุทธรณ์ของนายจ้าง ผู้ประกันตน หรือบุคคลอื่นใด ที่ยังไม่พอใจในคำสั่งของเลขาธิการ หรือของพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งสั่งการตามอำนาจหน้าที่การพิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการอุทธรณ์ ซึ่งเป็นองค์กรที่มีอำนาจพิจารณาอุทธรณ์ที่จัดตั้งขึ้นในรูปแบบคณะกรรมการ มีผู้ทรงคุณวุฒิ และตัวแทนนายจ้าง ลูกจ้าง ในลักษณะไตรภาคี
คณะกรรมการการแพทย์กองทุนประกันสังคม
มีอำนาจหน้าที่ในการเสนอความเห็นต่อคณะกรรมการเกี่ยวกับการดำเนินงานในการให้บริการทางการแพทย์ ให้คำปรึกษาแนะนำในทางการแพทย์แก่คณะกรรมการและสำนักงาน ให้ความเห็นในการออกกฎกระทรวงตามมาตรา 13 และประกาศกระทรวงแรงงานตามมาตรา 14 และมาตรา 18 ปฏิบัติการอื่นตามที่พระราชบัญญัตินี้บัญญัติให้เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรการแพทย์ หรือตามที่รัฐมตรีหรือคณะกรรมการมอบหมาย
คณะกรรมการการแพทย์กองทุนเงินทดแทน
มีอำนาจหน้าที่ในการเสนอความเห็นต่อรัฐมนตรีเกี่ยวกับนโยบายการบริหารกองทุนและการจ่ายเงินทดแทน พิจารณาให้ความเห็นต่อรัฐมนตรีในการออกกฎกระทรวงและระเบียบต่าง ๆ เพื่อดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้ วางระเบียบโดยความเห็นชอบของกระทรวงแรงงาน เกี่ยวกับการรับเงิน การจ่ายเงิน และการเก็บรักษาเงินกองทุน วางระเบียบโดยความเห็นชอบของกระทรวงแรงงาน เกี่ยวกับการจัดหาผลประโยชน์ของกองทุน พิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์ตามมาตรา 52 ให้คำปรึกษาและแนะนำแก่สำนักงานประกันสังคมในการดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้ ปฏิบัติการอื่นใดตามที่พระราชบัญญัตินี้ หรือกฎหมายอื่นบัญญัติให้เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ หรือตามที่รัฐมนตรีมอบหมาย ในการปฏิบัติหน้าที่ตามวรรคหนึ่ง คณะกรรมการอาจมอบหมายให้สำนักงานประกันสังคมเป็นผู้ปฏิบัติก็ได้
Advertisement