ปัญหาการจราจรที่หนาแน่นได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันของคนเมืองไปแล้ว ปัญหาเหล่านี้ไม่เพียงแต่ทำให้เกิดความล่าช้าในการเดินทางและความเครียดเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สุขภาพ และสิ่งแวดล้อมอีกด้วย
เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัด หลายเมืองใหญ่ในต่างประเทศได้นำมาตรการต่าง ๆ มาใช้ และหนึ่งในมาตรการที่ได้รับความสนใจอย่างมากคือ “ค่าธรรมเนียมการจราจรหนาแน่น” (Congestion Charge)
รู้จัก “Congestion Charge”
ค่าธรรมเนียมการจราจรหนาแน่น หรือ Congestion Charge คือ ค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บจากผู้ใช้รถยนต์ที่ขับขี่ในพื้นที่ที่มีการจราจรหนาแน่นในช่วงเวลาที่กำหนด โดยเฉพาะในศูนย์กลางเมืองหรือย่านเศรษฐกิจที่มีความแออัดสูง มาตรการนี้ถูกนำมาใช้ในหลายเมืองทั่วโลก
โดยหลักการทำงานของค่าธรรมเนียมการจราจรจะใช้เทคโนโลยีในการตรวจจับและบันทึกการเคลื่อนที่ของรถยนต์ที่เข้าและออกจากพื้นที่ที่กำหนดไว้ เช่น กล้องวงจรปิดหรือระบบ GPS จากนั้นระบบจะคำนวณค่าธรรมเนียมตามระยะทางหรือเวลาที่รถยนต์อยู่ในพื้นที่ดังกล่าว
ซึ่งจุดประสงค์ของ Congestion Charge คือ การลดปริมาณรถยนต์บนท้องถนน เพื่อลดปัญหาการจราจรติดขัด ทำให้การเดินทางสะดวกรวดเร็วมากยิ่งขึ้น และกระตุ้นให้ประชาชนหันมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะมากขึ้น ขณะเดียวกันช่วยลดมลพิษทางอากาศและเพิ่มประสิทธิภาพในการเดินทางภายในเมือง
สำรวจเมืองที่ใช้ Congestion Charge
ลอนดอน (London) – เริ่มใช้ตั้งแต่ปี 2003 ที่นำค่าธรรมเนียมการจราจรมาใช้ โดยค่าธรรมเนียมอยู่ที่ประมาณ 15 ปอนด์ต่อวัน และเก็บในช่วงเวลา 07.00 น. - 18.00 น. วันจันทร์ถึงวันศุกร์ 12.00 – 18.00 น. วันเสาร์ถึงอาทิตย์ ส่งผลให้การจราจรลดลง 16%
สิงคโปร์ (Singapore) – ใช้ระบบ Electronic Road Pricing (ERP) ซึ่งเป็นระบบเก็บค่าธรรมเนียมแบบอิเล็กทรอนิกส์ที่ปรับเปลี่ยนอัตราค่าธรรมเนียมตามสภาพการจราจรแบบเรียลไทม์ โดยค่าธรรมเนียมอยู่ที่ประมาณ 1-6 ดอลลาร์สิงคโปร์ต่อคัน และเก็บในช่วงเวลา 06.00 - 22.00 น. วันจันทร์ถึงวันเสาร์ ระบบนี้ช่วยลดปริมาณรถยนต์ในช่วงเร่งด่วนได้มากถึง 13%
นิวยอร์ก (New York) – นิวยอร์กซิตี้เป็นเมืองแรกในสหรัฐอเมริกาที่นำมาตรการค่าธรรมเนียมการจราจรหนาแน่นมาใช้ ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อลดปริมาณรถยนต์ในเขต Manhattan ซึ่งเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจที่มีการจราจรคับคั่ง โดยค่าธรรมเนียมอยู่ที่ประมาณ 9-22 ดอลลาร์สหรัฐต่อวัน และเก็บในช่วงเวลา 05.00 – 21.00 น. วันจันทร์ถึงวันศุกร์ 09.00 – 21.00 น. วันเสาร์ถึงวันอาทิตย์ มาตรการนี้ช่วยลดปริมาณรถยนต์ในพื้นที่แออัดได้ 8%
ขณะเดียวกันประเทศไทยอยู่ระหว่างศึกษาการจัดเก็บค่าธรรมเนียมรถติดในกรุงเทพฯ ตามแนวรถไฟฟ้าผ่าน 6 เส้นทาง ในช่วงเวลา 07.00 – 19.00 น. คันละ 50 บาทต่อวัน ซึ่งเป็นการสนับสนุนนโยบายการให้บริการรถไฟฟ้าราคาถูกที่คิดค่าบริการ 20 บาทตลอดสาย
การนำระบบ Congestion Charge มาใช้อาจถือว่าเป็นทางเลือกอีกทางในการจัดการปัญหาจราจรติดขัดในเมืองใหญ่ โดยการลดปริมาณรถยนต์ ลดมลพิษ และให้ประชาชนหันมาใช้ขนส่งสาธารณะ แต่ต้องพิจารณาถึงความเหมาะสมและผลกระทบในบริบทของแต่ละประเทศอย่างรอบคอบ เพื่อให้เกิดการยอมรับจากประชาชน ทั้งนี้การเตรียมความพร้อมและการทำงานร่วมกับทุกภาคส่วนจะช่วยให้การนำมาตรการนี้ไปใช้อย่างมีประสิทธิภาพและสร้างประโยชน์ได้ในระยะยาว
Advertisement