Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
อำแดงเหมือน อำแดงจั่น ผู้หญิงไม่ยอมเป็นควาย ถวายฎีกาทวงความยุติธรรม

อำแดงเหมือน อำแดงจั่น ผู้หญิงไม่ยอมเป็นควาย ถวายฎีกาทวงความยุติธรรม

25 มี.ค. 68
10:17 น.
แชร์

"ผู้หญิงเป็นควาย ผู้ชายเป็นคน" รู้จักผู้หญิงในประวัติศาสตร์ "อำแดงเหมือน-อำแดงจั่น" เมื่อผู้หญิงไม่ยอมเป็นควาย ถวายฎีกาทวงความยุติธรรมให้กับตนเอง

"ผู้หญิงเป็นควาย ผู้ชายเป็นคน" เป็นถ้อยคำเปรียบเปรยที่หมายถึงความไม่เท่าเทียมกันระหว่างหญิงชายในอดีต ย้อนไปเมื่อร้อยกว่าปีก่อนผู้ชายสามารถขายลูกและเมียแลกกับเงินได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ผู้หญิงเป็นควาย ผู้ชายเป็นคนจึงคล้ายกับการนิยามคุณค่าของผู้หญิงไทยในอดีตที่ถูกตีราคาไม่ต่างกับการซื้อขายวัวควาย ถูกเอาเปรียบจากคนในสังคมแม้กระทั่งจากคนในครอบครัว

ย้อนไปตามบันทึกพงศาวดาร มีหญิงไทยที่ลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิของตนเองโดยไม่หวั่นเกรงต่ออำนาจ บารมี และปิตาธิปไตย หรือสังคมที่ชายเป็นใหญ่ และนี่คือเรื่องราวของ "อำแดงเหมือน" และ "อำแดงจั่น" หญิงไทยที่ลุกขึ้นมาปลดแอกให้กับตนเอง และช่วยปูทางเรื่องสิทธิสตรีมาตั้งแต่ในอดีต

อำแดงเหมือน ถวายฎีกาเรียกร้องสิทธิสตรีในการครองเรือนและเลือกคู่ครอง

"อำแดงเหมือน" เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2387 ในสมัยรัชกาลที่ 3 ที่บางม่วง แขวงเมืองนนทบุรี เป็นบุตรีของนายเกตกับอำแดงนุ่ม อำแดงเหมือนมีนิสัยชอบใฝ่รู้จึงขอพ่อกับแม่ไปเรียนหนังสือที่วัดขนุน จนได้พบกับ "พระริด" หรือ "นายริด"

ครอบครัวของนายริดประกอบอาชีพปั้นเครื่องปั้นดินเผาต่อมาได้บวชเป็นพระภิกษุที่วัดขนุนจนได้พบกับอำแดงเหมือนแล้วเกิดเป็นความรัก นายริดเกรงว่าจะทำให้พระศาสนาเสื่อมเสียจึงตัดสินใจสึกออกมาช่วยกิจการของครอบครัว ทั้งคู่แอบคบหากันโดยที่ผู้ใหญ่ไม่ได้รับรู้

นายเกตพ่อของอำแดงเหมือนเป็นผีพนันติดหนี้ "นายภู" เจ้าของโรงหล่อพระทำให้นายเกตต้องยกอำแดงเหมือนไปเป็นอนุภรรยา (เมียน้อย) ของนายภู แม้จะคัดค้านอย่างไรก็ไม่เป็นผล อำแดงเหมือนถูกพ่อแม่ใช้กำลังขู่บังคับ ทั้งด่าทอ ทุบตี ลากไปที่บ้านนายภู แต่อำแดงเหมือนก็หนีกลับมาบ้านหลายครั้งหลายครา จนกระทั่งหนีออกไปอยู่กับนายริดซึ่งเป็นชายคนรัก นายภูไม่พอใจเหมือนถูกหยามหมิ่นจึงไปฟ้องร้องกับพระนนทบุรีว่า นายริดเป็นชู้กับอำแดงเหมือน พระนนทบุรีจึงมีคำสั่งให้จำคุกอำแดงเหมือน อำแดงเหมือนให้การต่อหลวงสยามนนทเขตรขยัน ปลัดเมืองนนทบุรี และกรมการเมืองนนทบุรีว่าตนหาได้รักใคร่ยอมเป็นภรรยานายภูไม่ ขอให้มีการไต่สวนคดีใหม่ แต่ก็ไม่มีการทำตามที่นางร้องขอแต่อย่างใด

นายภูได้ติดสินบนนายเปี่ยมพธำมรงหรือหัวหน้าผู้คุมให้กลั่นแกล้ง ทรมานอำแดงเหมือนเพื่อให้ยอมเป็นภรรยาของนายภู จนอำแดงเหมือนเหลือทนเพราะได้รับความทุกข์ร้อนมาก นายริดพยายามช่วยเหลืออำแดงเหมือนทุกวิถีทาง จนกระทั่งพาอำแดงเหมือนแหกคุกได้สำเร็จ ระหว่างทางทั้งคู่ต้องหนีหัวซุกหัวซุนจนเดินทางมาถึงพระนคร นายริดได้พาอำแดงเหมือนไปตีกลองวินิจฉัยเภรีพร้อมกับถวายฎีกาแด่ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ณ พระที่นั่งสุทไธสวรรย์ปราสาท เมื่อวันอาทิตย์ที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2408 ว่าตนไม่ยอมเป็นภรรยานายภู ตนสมัครใจเป็นภรรยานายริดต่อไป ขอพระบารมีปกเกล้าฯ เป็นที่พึ่งของตน

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชวินิจฉัยฎีการ้องทุกข์รายนี้ โดยมีพระราชหัตถเลขาสลักหลังฎีกา เมื่อวันจันทร์ที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2408 ว่า ถ้าเรื่องที่กล่าวในฎีกานี้ไม่ผิดไปจากความเป็นจริงมากนัก ก็ให้จมื่นราชามาตย์กับนายรอดมอญมหาดเล็ก ตัดสินให้อำแดงเหมือนเป็นภรรยานายริดตามความสมัครใจ เพราะอำแดงเหมือนอายุมากถึง 20 ปีเศษแล้ว ควรจะหาสามีตามใจชอบได้ แต่ให้นายริดเสียเงินค่าละเมิดให้แก่บิดามารดาของอำแดงเหมือน 1 ชั่ง และให้แก่นายภู 10 ตําลึง ส่วนค่าฤชาธรรมเนียมนั้นให้นายริดเสียแทนบิดามารดาของอำแดงเหมือนและนายภูด้วย แล้วให้คดีความเป็นอันเลิกแล้วแก่กัน

รัชกาลที่ 4 ยังทรงใช้คดีนี้ประกาศให้ยกเลิกกฎหมายเก่าที่ขัดต่อสิทธิของผู้หญิง ไม่ว่าจะในการหย่าร้างหรือปฏิเสธคำสั่งพ่อแม่ พระราชวินิจฉัยในครั้งนั้นนับเป็นการปูทางให้ผู้หญิงมีพื้นที่ต่อสู้เพื่อปกป้องตนเองได้มากขึ้น ไม่ต้องตกเป็นเบี้ยล่างโดยสิ้นเชิงอีกต่อไป

อำแดงจั่น ถวายฎีกาเรียกร้องสิทธิการเป็นเจ้าของร่างกายของตนเองเพื่อไม่ให้ถูกขายเป็นทาส

ชื่อของ อำแดงจั่น ปรากฏอยู่ในเอกสารประชุมรัชกาลที่ 4 โดยเมื่อวันพฤหัสบดี แรม 14 ค่ำ เดือนยี่ ปีเถาะ นพศก (พ.ศ. 2410) อำแดงจั่นทำฎีกาทูลเกล้าฯ ถวาย กล่าวโทษนายเอี่ยม ผู้เป็นผัวว่า ลักเอาชื่ออำแดงจั่นไปขายโดยที่นางไม่ได้รู้ไม่ได้เห็นด้วย จะเรียกว่าเป็นเรือนเบี้ยไม่ควร ซึ่งกฎหมายเดิมนั้น พ่อและผัวสามารถเอาชื่อลูกเมียไปขายแลกเงินได้เพราะเป็นสิทธิ์ แม้จะบอกก่อนหรือไม่บอกก็ตาม

รัชกาลที่ 4 จึงทรงพระราชดำริว่า กฎหมายบทนี้ เมื่อพิเคราะห์ดูเหมือนผู้หญิงเป็นควาย ผู้ชายเป็นคนไป หาเป็นยุติธรรมไม่ ให้ยกเสีย จึงมีพระราชบัญญัติใหม่ว่า ถ้าเมียไม่ยอมให้ขายหรือลักเอาชื่อไปขาย ไม่มีพยานรู้เห็น ไม่สามารถขายได้ ให้สิทธิ์ผู้หญิงและลูกมีสิทธิ์ตัดสินใจในการขายตัวเองไปเป็นทาส

ให้ลูกขุนตระลาการ ซึ่งพิพากษาความต่อไปเบื้องหน้าว่าตามพระราชบัญญัติซึ่งประกาศไว้นี้ อย่าให้เอากฎหมายเดิมมาตัดสินเป็นอันขาด ถ้าลูกขุนตระลาการผู้ใดยังยึดตามกฎหมายเดิมอยู่ ไม่พิพากษาความตามพระราชบัญญัตินี้ จะให้มีโทษตามโทษานุโทษแต่ผู้นั้นๆ

คดีของอำแดงจั่นถือเป็นการก้าวเริ่มต้นในเรื่องอิสระของความเป็นทาส และทำให้สยามในสายตาโลกนั้นเป็นเมืองศิวิไลซ์ว่าให้สิทธิสตรีทัดเทียมกับสตรีในโลกตะวันตกอีกด้วย

ขอบคุณภาพจาก ภาพยนตร์เรื่อง อำแดงเหมือนกับนายริด ของ บริษัท ไฟว์สตาร์ โปรดัคชั่น จำกัด

Advertisement

แชร์
อำแดงเหมือน อำแดงจั่น ผู้หญิงไม่ยอมเป็นควาย ถวายฎีกาทวงความยุติธรรม